The Big Issue วงการท่องเที่ยวไทยปี”62

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้ประมาณการตัวเลขรายได้รวมของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยสำหรับปี 2562 ล่าสุดไว้ชัดเจนแล้วว่า จะมีมูลค่ารวมประมาณ 3.06 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น รายได้จากตลาดต่างชาติ 1.96 ล้านล้านบาทจากจำนวนนักท่องเที่ยว 39.8 ล้านคน


และจากตลาดเที่ยวในประเทศ หรือไทยเที่ยวไทย มูลค่า 1.10 ล้านล้านบาท จากเดิมที่ตั้งเป้ารายได้จากการท่องเที่ยวไว้เมื่อต้นปีที่ 3.3-3.4 ล้านล้านบาท จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 40.5-41 ล้านคน

ทั้งนี้ จากรายงานของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาระบุว่า ในช่วง 11 เดือน (มกราคม-พฤศจิกายน 2562) ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติรวม 35.86 ล้านคน ขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.88% สร้างรายได้รวม 1.74 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.67% คงต้องลุ้นกันต่อว่าเหลืออีก 1 เดือน ตัวเลขทั้งในส่วนของจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้จากการท่องเที่ยวของไทยจะบรรลุเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่

อย่างไรก็ตาม ตลอดปี 2562 ที่ผ่านมา ภาคธุรกิจท่องเที่ยวของไทยก็เกิดเหตุการณ์ที่ถือเป็นเรื่องราวที่ส่งผลต่อภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวโดยรวมจำนวนมากเช่นกัน โดย “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สรุปรวบรวมเหตุการณ์บางส่วนมานำเสนอ ดังนี้

เร่ง “แผนฟื้นฟู-ซื้อเครื่องใหม่” บินไทย

Advertisment

ยังคงเป็นประเด็นที่น่าจับตาอย่างยิ่งสำหรับแนวทางการแก้ปัญหา “ขาดทุน” ให้กับ บริษัทการบินไทย ของผู้ที่เข้ามาบริหารงานในตำแหน่ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ หรือดีดี รวมถึงประธานบอร์ด เนื่องจากผลประกอบการที่ยังเป็น “ตัวแดง” สะสมต่อเนื่องมาเป็นเวลาร่วม 10 ปีขององค์กรแห่งนี้ ได้กลายเป็น “วิกฤต” ด้านการเงิน รวมถึงแผนงานในอนาคตเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการก้าวผ่านแผนฟื้นฟูและแผนการจัดซื้อฝูงบินใหม่ มาทดแทนเครื่องเก่าที่ทยอยหมดสัญญาเช่ามาเป็นระยะ

แต่สุดท้ายจนถึงปีนี้ แผนฟื้นฟูของการบินไทยก็ดูจะยังไม่บรรลุเป้าหมายแต่อย่างใด แม้ว่าจะเดินหน้าแผนฟื้นฟูภายใต้โจทย์ การเพิ่มรายได้-ลดรายจ่ายเพื่อเดินสู่เป้าหมาย หยุดตัวเลข “ขาดทุน”มาแล้วถึง 5-6 ปี

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดนี้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยังคงเน้นย้ำให้ผู้บริหารการบินไทยเร่งแผนฟื้นฟู พร้อมทั้งวางโพซิชันนิ่งให้สายการบินแห่งชาติแห่งนี้ให้มีความชัดเจนในอุตสาหกรรมการบินโลก เพื่อสร้างมาตรฐานการบริการให้กลับมาเป็นสายการบินชั้นนำของโลกดังที่เคยเป็นมาในอดีต พร้อมทั้งสร้างเครือข่ายและพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการฟื้นฟูกิจการของบริษัท พร้อมทั้งรายงานความคืบหน้าของการดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูต่อกระทรวงคมนาคมอย่างต่อเนื่อง

ส่วนแผนจัดหาเครื่องบินใหม่ 38 ลำวงเงิน 1.56 แสนล้านบาทนั้น ทางกระทรวงคมนาคมสั่งการให้เร่งสรุปแผนโดยด่วนเช่นกัน เนื่องจากเครื่องบินมีผลต่อการสร้างรายได้และลดการขาดทุน รวมถึงช่วยสร้างศักยภาพในการแข่งขันของการบินไทยในอนาคตด้วย

Advertisment

“รมต.พิพัฒน์” สปีดท่องเที่ยวไทย

หลังจากประเทศไทยมีรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาก็ได้รัฐมนตรีใหม่ชื่อ “พิพัฒน์ รัชกิจประการ” ตัวแทนจากพรรคภูมิใจไทยเข้ามานั่งบริหาร และประกาศเดินหน้าทำงานแก้ปัญหาและส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อให้ภาคธุรกิจท่องเที่ยวของไทยเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไปได้ทันที

โดยรัฐมนตรีพิพัฒน์ได้แถลงนโยบายไว้ชัดเจนหลังจากที่เข้ากระทรวงเพื่อรับทราบระบบการทำงาน นโยบาย รวมถึงแผนงานเบื้องต้นของกระทรวงการท่องเที่ยวฯเมื่อ 18 กรกฎาคมที่ผ่านมาว่า นโยบายสำคัญเร่งด่วนที่ต้องเร่งดำเนินการทันที ประกอบด้วย 2 เรื่องหลัก ได้แก่ 1.นโยบายท่องเที่ยวปลอดภัย เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เป็นกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยในการเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทย และ 2.ผลักดันนโยบายท่องเที่ยวชุมชนทั่วประเทศทั้ง 77 จังหวัดให้เกิดขึ้นจริงจัง เพื่อตอบโจทย์เรื่องการกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวเข้าสู่ชุมชนโดยตรง โดยจะเริ่มต้นดำเนินนโยบายทันทีภายในปีนี้ รวมทั้งแผนการผลักดัน “การท่องเที่ยวเชิงกัญชา” ให้กลายเป็นจุดขายใหม่ของการท่องเที่ยวของประเทศไทยด้วย

นอกจากนี้ยังมีแผนเร่งประสานงานกับกระทรวงคมนาคมผลักดันแพลตฟอร์มจองรถโดยสารออนไลน์ อาทิ Grab ให้ถูกกฎหมาย รวมถึงแผนการนำเสนอรัฐบาลพิจารณา แก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับแพลตฟอร์มจองบ้านเช่าออนไลน์แบ่งปันอย่าง Airbnb และโฮมสเตย์ให้ถูกกฎหมาย เพื่อขยายโอกาสด้านการท่องเที่ยว

“พิพัฒน์” ยังบอกด้วยว่า นโยบายสำคัญที่เขากำลังผลักดันอีกเรื่องหนึ่ง คือ ความพยายามยกระดับการทำงานของทุกหน่วยงานให้ตอบสนองต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและกีฬาทั้งระบบ เพื่อก้าวสู่การเป็นกระทรวงเศรษฐกิจเต็มรูปแบบ เนื่องจากมองว่ากระทรวงการท่องเที่ยวฯเป็นหน่วยงานที่มีองค์ประกอบของภาคธุรกิจบริการทั้งท่องเที่ยวและกีฬาที่ครบถ้วน สามารถขับเคลื่อนการบริหารจัดการโดยหน่วยงานของกระทรวง

ได้เอง ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ มีกลุ่มเป้าหมายที่เป็นลูกค้าที่ชัดเจนทั้ง demand side (กลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ) และ supply side (ผู้ประกอบการ/สถานประกอบการ) โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับศักยภาพด้านการท่องเที่ยวให้มีคุณภาพ และเพิ่มมูลค่าทางด้านเศรษฐกิจการท่องเที่ยวให้สูงขึ้น


“นกแอร์” ขยับหนีสงครามราคา

นับเป็นปีที่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกรอบสำหรับสายการบิน “นกแอร์” เพราะนอกจากได้ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือซีอีโอคนใหม่ที่ชื่อ “วุฒิภูมิ จุฬางกูร”ซึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ของตระกูล “จุฬางกูร” เข้ามานั่งบริหารงานตั้งแต่ 14 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมาแล้ว สายการบินแห่งนี้ยังปรับโพซิชั่นใหม่ พร้อมนโยบายใหม่ เพื่อก้าวข้ามตัวเลข “ขาดทุน” อีกครั้ง

โดยหลังจากเข้ามานั่งบริหารในฐานะซีอีโอ “วุฒิภูมิ” ได้ประกาศยกระดับการให้บริการและปรับภาพลักษณ์ของนกแอร์ จาก “โลว์คอสต์ แอร์ไลน์” สู่สายการบิน “พรีเมี่ยม บัดเจต แอร์ไลน์” เพื่อสร้างรายได้ต่อที่นั่งและรายได้เสริมที่เพิ่มขึ้น

หลังจากที่ประสบความสำเร็จจากการขายที่นั่งแบบนกซูเปอร์ซีต (Nok super seat) หรือขายแบบที่นั่งเว้นที่นั่ง จึงเล็งเห็นถึงดีมานด์ของผู้โดยสารที่ต้องการความสะดวกสบายมากขึ้น

พร้อมทั้งเตรียมเพิ่มที่นั่งผู้โดยสารในกลุ่มชั้นพรีเมี่ยมและชั้นธุรกิจเพิ่มเป็น 20% ของจำนวนที่นั่งทั้งหมดในเที่ยวบิน และมุ่งเจาะตลาดดึงผู้โดยสารจากชั้นประหยัดขึ้นมาบินในชั้นพรีเมี่ยม เพื่อขยับรายได้จากตั๋วโดยสาร ทั้งนี้ คาดว่าจะเริ่มเห็นภายในไตรมาสที่ 2 ปี 2563 นี้

สำหรับแผนการเปิดเส้นทางบินใหม่นั้น “วุฒิภูมิ” ให้ข้อมูลว่า ในปี 2562 ที่กำลังจะผ่านไปนี้ นกแอร์ได้เปิดเส้นทางใหม่สู่เมืองรองของจีนหลายเมือง อาทิ เมืองอู๋ซี เมืองอี๋อู๋ หรือเมืองกูวาฮาติ ประเทศอินเดีย และเส้นทางสู่เมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น โดยในจีนและอินเดียจะเป็นลักษณะของการขายเหมาให้กับเอเย่นต์ ส่วนในญี่ปุ่นเป็นไฟลต์ที่นกแอร์ขายเองทั้งหมด

และในปี 2563 นี้ “นกแอร์” ยังคงมุ่งเป้าไปที่การขยายเส้นทางใน 3 ประเทศดังกล่าวนี้เป็นหลัก อาทิ เส้นทางสู่เมืองโอกินาวา เมืองทากาชิมา ประเทศญี่ปุ่น และเมืองวิสาขปัตนัม ประเทศอินเดีย ส่วนในเส้นทางจีน มีแผนที่จะเพิ่มจุดหมายปลายทางในไทยให้กับเส้นทางหนานหนิงสู่เชียงใหม่และภูเก็ต รวมถึงอยู่ระหว่างศึกษาเส้นทางใหม่อีกกว่า 20 เมือง โดยคาดว่าการขยายเส้นทางระหว่างประเทศจะทำให้สัดส่วนเส้นทางระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นจาก 20% ไปเป็น 30% จากเส้นทางทั้งหมด

นอกจากนี้ “วุฒิภูมิ” ยังเตรียมแผนผนึกกำลังสายการบินนกแอร์ เข้ากับอีก 3 อุตสาหกรรมหลัก และธุรกิจอื่น ๆ ที่ครอบครัว “จุฬางกูร” ถือหุ้นอยู่ด้วย อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ การเงิน และอสังหาฯ เพื่อมองหาโอกาสยกระดับการให้บริการของนกแอร์ในอนาคต

คิง เพาเวอร์ กวาดสัมปทานดิวตี้ฟรี

จากที่บริษัท ท่าอากาศยานไทยจำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ได้ดำเนินการเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอการดำเนินงานให้สิทธิประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร (ดิวตี้ฟรี) และพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่สนามบินสุวรรณภูมิ โดยการประมูลโครงการดิวตี้ฟรี และพื้นที่เชิงพาณิชย์สนามบินสุวรรณภูมิครั้งนี้ ทอท.เปิดให้เอกชนผู้ชนะการคัดเลือกเข้ารับสัญญาสัมปทานครั้งใหม่ ระหว่างวันที่ 27 กันยายน 2563-23 มีนาคม 2574 รวมระยะเวลา 10 ปี 6 เดือน

โดยแบ่งเป็น 2 สัญญา ประกอบด้วย 1.สิทธิบริหารพื้นที่จำหน่ายสินค้าปลอดภาษีอากร (ดิวตี้ฟรี) สุวรรณภูมิ สัญญานี้มีเอกชนซื้อซองทีโออาร์ 5 ราย คือ 1.คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี 2.การบินกรุงเทพร่วมกับกลุ่มล็อตเต้ 3.รอยัล ออคิด เชอราตัน (ประเทศไทย) ร่วมกับเอ็มไพร์ เอเชีย กรุ๊ป และWDFG UK ผู้ประกอบการดิวตี้ฟรีจากอังกฤษ 4.กลุ่มสรรพสินค้าเซ็นทรัล และ 5.ไมเนอร์ฯและสัญญาที่ 2 สิทธิบริหารจัดการพื้นที่กิจกรรมเชิงพาณิชย์ (commercialarea) สนามบินสุวรรณภูมิ มีเอกชนซื้อซองทีโออาร์ 4 ราย คือ คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ, เซ็นทรัลพัฒนา, ไมเนอร์ฯ และเดอะมอลล์ กรุ๊ป

จากการดำเนินการคัดเลือกพบว่า กลุ่มบริษัท “คิง เพาเวอร์” ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายเดิมชนะการคัดเลือกทั้งหมด โดยสัญญาบริหารพื้นที่ดิวตี้ฟรี สุวรรณภูมิ เสนอผลตอบแทนปีละ 15,419 ล้านบาท ขณะที่สัญญาบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในอาคารผู้โดยสาร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เสนอผลตอบแทนปีละ 5,798 ล้านบาท

ส่วนสัญญาบริหารดิวตี้ฟรี ท่าอากาศยานภูเก็ต, เชียงใหม่ และหาดใหญ่ เสนอค่าผลประโยชน์ตอบแทนปีละ 2,331 ล้านบาท เรียกว่าทั้ง 3 สัญญา กลุ่ม “คิง เพาเวอร์” ชนะขาดทิ้งคู่แข่งชนิดไม่เห็นฝุ่นในทุกด้าน งานนี้ทำให้ ทอท.ในฐานะเจ้าของสัมปทานสามารถปิดโปรเจ็กต์ได้แบบสวยงาม ไร้ข้อกังขาในทุก ๆ ประเด็น

รวมถึงสัญญาสัมปทานบริหารพื้นที่ดิวตี้ฟรีท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะเวลา 10 ปี 6 เดือน ที่เพิ่งประกาศผลไปเมื่อ 23 ธันวาคมนี้ “คิง เพาเวอร์” ก็คว้ามาได้เช่นกัน โดยเสนอผลต่อแทนขั้นต่ำปีแรกที่ 1,500 ล้านบาท…

ทอท. จ่อฮุบ 4 สนามบินภูมิภาค

เพื่อเป็นการตอบโจทย์ด้านการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค (aviation hub)คณะกรรมการ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. จึงมีมติเห็นชอบบทบาทของ ทอท.ในการเพิ่มศักยภาพโครงข่ายระบบท่าอากาศยาน และให้ ทอท.จัดทำแผนดำเนินงานและช่วงเวลาที่จะเข้าบริหารท่าอากาศยานที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อไป

จากการศึกษา ทอท.ได้เล็งเห็นโอกาสและศักยภาพในการพัฒนาอุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศของประเทศไทยในภาพรวม ภายใต้แนวคิดการเชื่อมโยงโครงข่ายระบบท่าอากาศยาน (airport system) และการดำเนินธุรกิจในรูปแบบคลัสเตอร์ด้านการขนส่งทางอากาศ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มศักยภาพภาคการขนส่งของประเทศในภาพรวม

โดยที่ผ่านมา ทอท.ได้จัดทำรายละเอียดแผนการเข้ารับบริหารงานท่าอากาศยานภูมิภาค 4 สนามบิน โดยมีการเปลี่ยนแปลงท่าอากาศยานจากอุดรธานี สกลนคร ตาก และชุมพร ที่ ทอท.เคยเสนอไปเบื้องต้น ก่อนจะได้รับคำสั่งจาก นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ขณะยังดำรงตำแหน่งว่า ให้นำกลับมาทบทวนให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ

ทั้งนี้ หลังการพิจารณาถึงยุทธศาสตร์กระจายห้วงอากาศและภาคพื้นดินให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ทอท.จึงได้เสนอท่าอากาศยานใหม่ ประกอบด้วย อุดรธานี บุรีรัมย์ ตาก และกระบี่ ซึ่งคณะกรรมการจะจัดทำแผนเพื่อเสนอต่อกระทรวงคมนาคม เพื่อทำการพิจารณาต่อไป

คลอด พ.ร.บ.ท่องเที่ยวใหม่

ประเทศไทยได้ประกาศใช้ พ.ร.บ.นโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ ฉบับปรับปรุง 2562 ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้ไปแล้วเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา

โดยรายละเอียดใน พ.ร.บ.ที่สำคัญ คือ เปลี่ยนจากกฎกระทรวงเป็นประกาศกระทรวง เพื่อให้การจัดทำเขตพัฒนาการท่องเที่ยว หรือคลัสเตอร์ท่องเที่ยว ทำได้คล่องตัวมากขึ้น เพราะไม่ต้องเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.)

พระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้รัฐสามารถจัดเก็บเงินค่าประกันภัยและประกันชีวิตจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย และนำมาบริหารรูปแบบกองทุน และมีคณะกรรมการบริหารอย่างชัดเจน

โดยมีวัตถุประสงค์หลักของการจัดเก็บแบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก ประกอบด้วย

1.นำไปจ่ายเป็นค่าประกันภัยและประกันชีวิตให้นักท่องเที่ยวต่างชาติหากเกิดอุบัติเหตุหรือไม่สบายระหว่างเดินทางท่องเที่ยวอยู่ในประเทศไทย และ 2.นำไปพัฒนา ฟื้นฟู และปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวและทรัพยากรธรรมชาติที่เสื่อมโทรมจากการเข้ามาของนักท่องเที่ยว เพื่อรักษาความสมดุลของแหล่งท่องเที่ยวให้เกิดความยั่งยืน

นอกจากนี้ พ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้ยังได้แก้ไขนิยามคำว่า “การท่องเที่ยว” ให้ครอบคลุมคำสำคัญมากขึ้นกว่าเดิม อาทิ การท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล การลดความเหลื่อมล้ำ การสร้างความเป็นธรรมต่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยทางการท่องเที่ยว รวมถึงประเด็นการมุ่งสู่ความยั่งยืนของการท่องเที่ยวด้วย

“บาทแข็ง” หนุนคนไทยเที่ยวนอก

สมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (Thai Travel Agents Association : TTAA) ได้คาดการณ์ตลาดเอาต์บาวนด์ (นักท่องเที่ยวขาออก) สำหรับปี 2562 นี้ว่าจะมีจำนวนคนไทยเดินทางออกไปเที่ยวต่างประเทศถึงประมาณ 10.8-11 ล้านคน คิดเป็นมูลค่าการใช้จ่ายประมาณ 330,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 10 ล้านคน ในปี 2561 ที่ผ่านมา โดยหนึ่งในปัจจัยบวกสำคัญสำหรับปี 2562 นี้ คือ เงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ทำให้บริษัทนำเที่ยวเอาต์บาวนด์และนักท่องเที่ยวมีต้นทุนที่ถูกลง

จากแนวโน้มดังกล่าวนี้ ทำให้บริษัทนำเที่ยวเอาต์บาวนด์เร่งทำการตลาดและแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ทำให้เกิดการแข่งขันราคาอย่างหนัก รวมถึงพฤติกรรมนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป ทำให้วอลุ่มการขายเริ่มลดลง เมื่อขายไม่หมด โฮลเซลก็ปล่อยราคา “โปรไฟไหม้” ออกมาเร่งปิดยอด ส่งผลให้รายได้ไม่เป็นไปตามเป้าและนำไปสู่การขาดสภาพคล่องและทยอยปิดตัวกันไปในที่สุด