สารพัด “มาตรการรัฐ” เอาไม่อยู่ ! “เที่ยวในประเทศ” ร่วง 8 หมื่นล้าน

ว่ากันว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ปัญหาสงครามการค้าจีน-สหรัฐ รวมถึงค่าเงินบาทที่แข็งค่าถือเป็น “ปัจจัยลบ” สำคัญที่ส่งผลให้รายได้ของภาคธุรกิจท่องเที่ยวของไทยปี 2562 พลาดเป้าไปค่อนข้างมาก โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 39.8 ล้านคน จากเป้าเดิมที่คาดว่าน่าจะอยู่ในระดับ 40-41 ล้านคน

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้ภาครัฐของไทยต้องเร่งกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศหรือ “ไทยเที่ยวไทย” ผ่านมาตรการต่าง ๆ มานับตั้งแต่กลางปี 2562 ที่ผ่านมา โดยหวังว่าจะช่วยปลุกรายได้การท่องเที่ยวภายในประเทศในช่วงโค้งสุดท้ายของปีให้มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นหรือเป็นไปตามเป้าหมายเดิมที่วางเอาไว้

โดยจะเห็นว่ารัฐบาลได้อัดมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายและการท่องเที่ยวในประเทศอย่างหนักในช่วงครึ่งปีหลังของปี นับตั้งแต่มาตรการชิม ช้อป ใช้, โครงการ 100 เดียวเที่ยวทั่วไทย และโครงการวันธรรมดา ราคาช็อกโลก ฯลฯ

“ลวรณ แสงสนิท” ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ได้เผยถึงความคืบหน้าของมาตรการ “ชิม ช้อป ใช้” เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนว่า ภาพรวมการใช้จ่ายของประชาชนตั้งแต่เริ่มต้น โครงการจนถึงวันที่ 23 ธันวาคม 2562 มีผู้ใช้สิทธิ์รวม 3 เฟส จำนวน 11,794,825 ราย มีการใช้จ่ายรวมประมาณ 25,716.4 ล้านบาท

โดยเป็นการใช้จ่ายผ่าน G-wallet ช่อง 1 ประมาณ 11,641.8 ล้านบาท และ G-wallet ช่อง 2 ประมาณ 14,074.5 ล้านบาท ซึ่งจะเห็นได้ว่าการใช้จ่ายผ่าน G-wallet ช่อง 2 ที่เป็นการเติมเงินของประชาชนเอง มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และมีมูลค่าสูงกว่ายอดใช้จ่ายผ่าน G-wallet ช่อง 1 แล้ว การใช้จ่ายที่เกิดขึ้นนี้ แบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่ หมวดชิม หรือร้านอาหารต่าง ๆ ราว 4,325.6 ล้านบาท หมวดช้อป ประมาณ 17,678.9 ล้านบาท หมวดใช้ ซึ่งรวมถึงบริการต่าง ๆ อาทิ โรงแรม ที่พัก สปา ราว 432.4 ล้านบาท และหมวดร้านค้าทั่วไป ราว 3,279.5 ล้านบาท

ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายในหมวดใช้เกือบทั้งหมดเป็นสินค้าทางการท่องเที่ยว ในขณะที่หมวดช้อปและชิมจะมีแค่บางส่วนถูกจ่ายออกไปในสินค้าทางการท่องเที่ยว

สำหรับโครงการ 100 เดียวเที่ยวทั่วไทย และโครงการเที่ยววันธรรมดา ราคาช็อกโลก นั้น “ยุทธศักดิ์ สุภสร” ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ให้ข้อมูลว่า โครงการ “100 เดียวเที่ยวทั่วไทย” กระแสตอบรับดี โดยตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน-12 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา สินค้าทางการท่องเที่ยวกว่า 40,000 ชิ้น ถูกจำหน่ายจนหมด

โดยสำหรับสินค้าท่องเที่ยวที่มีประชาชนและนักท่องเที่ยวสนใจมากที่สุด แบ่งตามประเภท ได้แก่ บัตรโดยสารเครื่องบิน 2,818 ชิ้น (7.04%), โรงแรม 14,202 ชิ้น (35.5%), ร้านอาหาร 6,369 ชิ้น (15.90%), กิจกรรม 13,133 ชิ้น (32.83%), สปา 2,461 ชิ้น (6.15%), แพ็กเกจทัวร์ 873 ชิ้น (2.18%) และรถเช่า184 ชิ้น (0.46%) โดยจุดหมายปลายทางที่มีผู้สนใจสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพฯ, ชลบุรี และประจวบคีรีขันธ์

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าโครงการดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศช่วงปลายปีได้ไม่ต่ำกว่า 80,000 คน-ครั้ง สร้างรายได้ด้านท่องเที่ยวหมุนเวียนไม่ต่ำกว่า 160 ล้านบาท หรือเฉลี่ยอย่างน้อย 2,000 บาท/คน

ขณะที่โครงการ “เที่ยววันธรรมดา ราคาช็อกโลก” เพื่อทำให้เกิดการกระจายด้านเวลาและพื้นที่ไปสู่ “ชุมชนท้องถิ่น”นั้น ได้นำเสนอสินค้าท่องเที่ยวหลากหลายตั้งแต่ตั๋วเครื่องบิน, โรงแรมที่พัก, กิจกรรมทางด้านการท่องเที่ยว, ร้านอาหารและบริการต่าง ๆ ในราคาพิเศษ โดยมอบส่วนลดสูงสุดถึง 80%

“ยุทธศักดิ์” บอกว่า จากรายงาน ณ วันที่ 16 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา พบว่า โครงการมีนักท่องเที่ยวให้ความสนใจสมัครเข้าร่วม 1.27 แสนคนและมีนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปใช้บริการแล้ว 2.08 แสนครั้ง นอกจากนั้นนักท่องเที่ยวเข้าไปเลือกซื้อสินค้าในเว็บไซต์มากกว่า 8 ล้านครั้ง ด้วย IP จำนวน 1,028,046 เครื่อง

โดยคาดว่ามาตรการนี้จะกระตุ้นให้เกิดการเดินทางกระจายไปทุกภูมิภาคของไทยในช่วงปลายปี และก่อให้เกิดการใช้จ่ายภายในประเทศให้มากขึ้น และเมื่อเสร็จสิ้นมาตรการในวันที่ 30 ธันวาคม 2562 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางใช้บริการรวมไม่น้อยกว่า 2.2 แสนคน แบ่งเป็นเดินทางต่างจังหวัด ประมาณ 97 หมื่นคน รายได้ 481.02 ล้านบาท และเดินทางในพื้นที่ ประมาณ 1.23 แสนคน รายได้ 138.37 ล้านบาท รวมสร้างรายได้สู่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและชุมชนท่องเที่ยวทั่วประเทศ ได้ไม่น้อยกว่า 619.39 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการออกมาตรการกระตุ้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวภายในประเทศมากกว่า 3 มาตรการ แต่ ททท.ก็ยังคงประเมินว่าเมื่อจบปีนี้น่าจะมีนักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศที่ประมาณ 167 ล้านคนครั้ง หรือเติบโตแค่เพียง 1% สร้างรายได้มูลค่า 1.10 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเพียง 3% เท่านั้น

โดยตัวเลขคาดการณ์ดังกล่าวนี้ลดลงจากเป้าจำนวนและรายได้เดิมหลังปรับเป้าลงเมื่อกลางปีที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวไทย ประมาณ 170 ล้านคน-ครั้ง และสร้างรายได้ 1.17 ล้านล้านบาท นอกจากนี้ ยังห่างจากเป้าหมายทางด้านจำนวนและรายได้ที่ตั้งเอาไว้ก่อนจะเข้าปี 2562 ซึ่งระบุว่าจะมีนักท่องเที่ยวไทยเที่ยวไทยประมาณ 179 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ประมาณ 1.18 ล้านล้านบาท

เรียกได้ว่ามีการปรับเป้าลดลงอย่างต่อเนื่องไปกว่า 8 หมื่นล้านบาทซึ่งสะท้อนสถานการณ์ที่ว่า มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวทั้งหมดที่ผ่านมาอาจจะไม่ได้ผลนัก

นั่นหมายความว่าเป้าที่ ททท. ระบุว่า ปี 2563 นี้ นักท่องเที่ยวชาวไทยจะมีอัตราเดินทางท่องเที่ยวในประเทศที่ 172 ล้านคน-ครั้ง หรือเติบโต 3% และสร้างรายได้เป็นมูลค่า 1.16 ล้านล้านบาท หรือเติบโต 5% นั้นอาจจะไม่ได้รับโมเมนตั้มมากนักเช่นกัน