AWC ไม่หวั่นวิกฤตโควิด ลั่นเป็น “จังหวะ” ดีของการลงทุน

Photgrapher Andre Malerba/Bloomberg via Getty Images
สัมภาษณ์พิเศษ

2562 ที่ผ่านมาถือเป็นปีทองของ “แอสเสท เวิรด์ คอร์ปอเรชั่น” หรือ AWC อย่างแท้จริง เพราะไม่เพียงแต่จะเป็นปีที่ประสบความสำเร็จจากการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ, รางวัลต่าง ๆ มากมาย แต่ยังเป็นปีที่ผลประกอบการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง มีกำไรสุทธิ 1.04 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 109% เมื่อเทียบกับปี 2561

“วัลลภา ไตรโสรัส” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน)หรือ AWC ให้สัมภาษณ์ถึงแผนงาน และเป้าหมายการลงทุนของกลุ่มบริษัทไว้ดังนี้

ตั้งเป้าโตก้าวกระโดดทุกปี

“วัลลภา” บอกว่า ตัวเลขกำไรสุทธิ 1.04 พันล้านบาท ในปีที่ผ่านมานั้น มีกำไรจากการดำเนินงานของสินทรัพย์เติบโต 8.4% แบ่งสัดส่วนเป็นโรงแรมและบริการ (hospitality) 45% ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการประกอบการกิจการการค้า (retail) 22% และธุรกิจอาคารสำนักงาน (office) 33%

สำหรับปีนี้ กลุ่มบริษัท AWC ตั้งเป้าที่จะเติบโตในอัตราก้าวกระโดดอย่างต่อเนื่องตลอด 5 ปีนับจากนี้ และคาดหวังการเติบโตของตัวเลขกำไรจากการดำเนินงานที่ในระดับ 15% ต่อปี เนื่องจากปัจจุบันบริษัทมีสินทรัพย์คิดเป็นมูลค่าประมาณ 9 หมื่นกว่าล้านบาท รวมงบฯลงทุนที่บอร์ดอนุมัติไปเรียบร้อยแล้วอีก 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะทำให้บริษัทมีมูลค่าสินทรัพย์รวมราว 1.25 แสนล้านบาท

กางแผน 5 ปีลงทุน 3 หมื่นล้าน

โดยแผนลงทุนใหม่มูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านบาทนั้น เป็นงบฯพัฒนาโครงการใหม่ ทั้งโรงแรม แหล่งท่องเที่ยวแนวไลฟ์สไตล์กว่า 12 โครงการ รวมถึงเพิ่มพื้นที่เช่าของอสังหาริมทรัพย์เพื่อประกอบกิจการการค้า โดยในส่วนของธุรกิจโรงแรมนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นโรงแรมขนาดใหญ่ และเน้นลูกค้ากลุ่มรายได้ระดับกลางถึงสูง (middle to high incomecustomer segment) โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวกลุ่มไมซ์ ซึ่งมีอัตราการเติบโตและอัตราส่วนกำไรต่อรายได้สูง

“ตัวเลข ณ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ กลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริหารที่บริษัทเป็นเจ้าของและผู้พัฒนามีห้องพักทั้งหมดที่เปิดให้บริการไปแล้ว 16 แห่ง รวม 4,896 ห้อง และที่อยู่ระหว่างการพัฒนาและปรับปรุง 11 แห่ง รวม 3,637 ห้อง เมื่อพัฒนาและปรับปรุงแล้วเสร็จ เราจะมีโรงแรมที่เปิดให้บริการทั้งสิ้นรวม 27 แห่ง รวมห้องพักทั้งหมด 8,506 ห้องภายในปี 2568 หรือภายในอีก 5 ปีข้างหน้าซึ่งจะทำให้เราเป็นเจ้าของโรงแรมในระดับมิดเดิลสเกลขึ้นไป รายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย” วัลลภาย้ำ

“วัลลภา” บอกด้วยว่า สำหรับโครงการโรงแรมที่อยู่ระหว่างการพัฒนา หรือมีแผนที่จะพัฒนากว่า 10 แห่งนั้น อาทิ โรงแรมอิมพีเรียล แม่ปิง (เชียงใหม่), โรงแรมแบงค็อก แมริออท เดอะ เอเชียทีค, โรงแรมบันยันทรี จอมเทียน พัทยา, โรงแรมบันยันทรี กระบี่, โรงแรมอินน์ไซต์ แบงค็อก สุขุมวิท เป็นต้น

กระจายพอร์ต-บาลานซ์เสี่ยง

โดยได้ดำเนินธุรกิจร่วมกับเครือผู้ประกอบการโรงแรมระดับสากลจำนวนมาก อาทิ แมริออท อินเตอร์เนชั่นแนล, ฮิลตัน, อินเตอร์คอนติเนนตัล โฮเต็ล กรุ๊ป, บันยันทรี, มีเลีย และโอกุระ ทำให้สามารถเข้าถึงแบรนด์ระดับโลกและเครือข่ายการจัดจำหน่ายระดับสากลที่แข็งแกร่งที่มีสมาชิกในเครือข่ายมากกว่า 300 ล้านคน ที่สำคัญ โรงแรมทั้งหมดได้ถูกวางตำแหน่งและมีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน อาทิ โรงแรมสำหรับกลุ่มตลาดไมซ์, กลุ่มนักท่องเที่ยว เป็นต้น

“เรามีการปรับกลยุทธ์ของพอร์ตให้มีการกระจายการลงทุน และกระจายเซ็กเตอร์ต่าง ๆ เพื่อบาลานซ์ความเสี่ยงซึ่งถือว่าวันนี้ถ้ามองในมุมของรายได้กลุ่มโรงแรมสร้างรายได้เข้ามาในสัดส่วนราว 60% ส่วนอีก 40% เป็นกลุ่มธุรกิจรีเทลและคอมเมอร์เชียล”

รับโควิด-19 กระทบโรงแรม

สำหรับธุรกิจโรงแรมนั้น “วัลลภา” บอกว่า ยอมรับว่าปีนี้กลุ่มธุรกิจโรงแรมและบริการได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เช่นกัน โดยเริ่มเห็นผลกระทบอย่างชัดเจนตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เนื่องจากลูกค้ามีการยกเลิกห้องพัก ยกเลิกการจัดงานประชุมสัมมนา ซึ่งทางบริษัทก็มีมาตรการร่วมกับพันธมิตรทั้งหลาย ซึ่งเป็นเชนบริหารทั้งหลายให้ฟรีค่าธรรมเนียมสำหรับผู้ที่ทำการเลื่อนการเข้าพัก หรือเลื่อนการจัดงานออกไปด้วยดังนั้น นอกจากบริษัทจะได้รับผลกระทบด้านรายได้ในกลุ่มธุรกิจโรงแรมและค่าบริการแล้ว เชนบริหารต่าง ๆ ยังหันมาเข้มงวดเรื่องการบริหารจัดการต้นทุน และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ รวมถึงปรับกลยุทธ์ด้วยการหันมาสนับสนุนนโยบายภาครัฐ โดยโปรโมตไทยเที่ยวไทย

สบช่องเร่งแผนปรับปรุงโรงแรม

ขณะเดียวกัน บริษัทยังเน้นเรื่องแผนการปรับปรุงที่เดิมที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงาน เช่น การเปลี่ยนลิฟต์, การรีโนเวตปรับปรุง ฯลฯ โดยเลื่อนแผนต่าง ๆ เหล่านี้มาทำให้เร็วขึ้น เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับการต้อนรับนักท่องเที่ยวทันทีเมื่อตลาดกลับมาเป็นปกติ ไม่เพียงเท่านี้ ภาครัฐยังมีอินเทนซีฟด้านภาษีให้กับกลุ่มผู้ประกอบการที่ทำการพัฒนาปรับปรุงโรงแรมในช่วงนี้ด้วย

“เราเชื่อว่าหากทุกอย่างสงบ กลุ่มธุรกิจโรงแรมจะกลับมาได้เร็ว เราจึงเตรียมความพร้อมไว้รอรองรับไว้ให้ได้มากที่สุด เพื่อให้เราเดินได้เร็วขึ้น ส่วนกลุ่มธุรกิจรีเทลและคอมเมอร์เชียลนั้น ขณะนี้ในกลุ่มอาคารสำนักงานและรีเทลยังมีผลกระทบไม่มากนัก ยกเว้นโครงการเอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ ที่ได้รับผลกระทบบ้างพอสมควร เนื่องจากกลุ่มลูกค้าหลักเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติถึงราว 70% อย่างไรก็ตาม มองว่ากระแสโควิด-19 นั้นเป็นผลกระทบระยะสั้น สถานการณ์ขณะนี้จึงถือเป็นโอกาสที่ดีของนักลงทุน”

ดึงรายได้กลับในช่วงครึ่งปีหลัง

ซีอีโอและกรรมการผู้จัดการใหญ่ AWC ยังบอกอีกว่า ในหลักการบริหารจัดการนั้นบริษัทยังคงมองเรื่องการบาลานซ์กระแสเงินสดต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสัดส่วนรายได้ของกลุ่มโรงแรมในปีนี้อาจต่ำกว่า 50% แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้ค่อนข้างมั่นใจ คือ กลุ่มตลาดไมซ์ส่วนใหญ่ไม่ได้ยกเลิกการประชุมสัมมนา เป็นเพียงแค่เลื่อนการจัดงานไปเป็นไตรมาส 3 และ 4 แทน ทำให้เชื่อว่าน่าจะสามารถดึงรายได้ให้กลับมาในช่วงครึ่งปีหลังได้บ้าง

“แต่ละโรงแรมผลกระทบจะมากน้อยต่างกัน เช่น เมอริเดียน กรุงเทพฯ ยังคงมีอัตราการเข้าพักในเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ประมาณ 82% ขณะที่ตลาดโรงแรมในกรุงเทพฯบางแห่งเหลืออัตราการเข้าพักเพียง 10-20% เท่านั้น หรือกรณีของโรงแรมแบงค็อก แมริออท มาร์คีย์ ควีนปาร์ค จะค่อนข้างกระทบมาก เนื่องจากงานประชุมสัมมนาถูกเลื่อนการจัดงาน ส่วนหัวหินซึ่งเน้นตลาดไทยเที่ยวไทย ตัวเลขก็ยังถือว่าดี”

พร้อมย้ำว่า ทั้งหมดนี้เป็นแผนการดำเนินงานในช่วง 5 ปีนับจากนี้ หรือดำเนินการเสร็จสิ้นภายในปี 2568 และจะยังคงเป็นการลงทุนสำหรับตลาดภายในประเทศเท่านั้น