แรงงานท่องเที่ยว 2 ล้านคนป่วน ปิดกิจการชั่วคราว”ประกันสังคม” ไม่จ่าย

แรงงานธุรกิจท่องเที่ยวกว่า 2 ล้านคนป่วน “ประกันสังคม” ยืนยันไม่จ่ายชดเชยกรณี “โรงแรม-บริษัททัวร์” ประกาศปิดกิจการชั่วคราวเอง สภาอุตฯท่องเที่ยว-สมาคมโรงแรมยื่นข้อเสนอรัฐบาลขอ “ชัตดาวน์” ธุรกิจท่องเที่ยวทั้งระบบ เตรียมงัดไม้ตาย “หยุดจ่าย” ประกันสังคม ขณะที่โรงแรมทั่วประเทศทยอยปิดกิจการยาวถึงสิ้นปี

ปิดโรงแรมชั่วคราว “ประกันสังคม” ไม่จ่าย

นายชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ สทท.ได้พยายามเจรจากับกระทรวงแรงงาน เพื่อให้ความช่วยเหลือลูกจ้าง พนักงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั่วประเทศที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 จนต้องปิดกิจการชั่วคราว เนื่องจากขณะนี้มีปัญหาว่า สำนักงานประกันสังคมแจ้งว่า กรณีที่ผู้ประกอบการปิดกิจการชั่วคราวเอง ลูกจ้างจะไม่ได้รับการชดเชยจากประกันสังคม

ทั้งนี้ เนื่องจากมาตรการ “ลูกจ้างผู้ประกันตน” ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตามมติ ครม.(24 และ 31 มีนาคม 2563) แบ่งเป็น 2 กรณีเท่านั้น คือ 1.กรณีภาครัฐมีคำสั่งให้หยุดกิจการชั่วคราว และ 2.ผู้ประกันตนที่ไม่ได้ทำงาน หรือนายจ้างไม่ให้ทำงาน (ให้ออก-ลาออกเอง) เหตุจากโควิด-19 ส่วนผู้ประกอบการที่ “ปิดกิจการชั่วคราว” เนื่องจากไม่มีลูกค้าและไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายได้ ลูกจ้างจะไม่มีสิทธิ์ได้รับเงินชดเชยจากประกันสังคม

ท่องเที่ยวบุกแรงงาน

นายชัยวัฒน์กล่าวว่า ล่าสุดเมื่อ 30 มีนาคมที่ผ่านมา สทท.ได้นำผู้ประกอบการท่องเที่ยวจำนวน 13 สาขาอาชีพ ทั้งสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA), สมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (TTAA), สมาคมท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.), สมาคมภัตตาคารไทย, สมาคมผู้ประกอบการรถขนส่งทั่วไทย ฯลฯ เข้าประชุมหารือร่วมกับกระทรวงแรงงาน

ประเด็นหลักในการหารือครั้งนี้คือ 1.ขอให้ผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคมได้รับสิทธิในการขอเงินชดเชยจากสำนักงานประกันสังคมด้วย เนื่องจากสถานการณ์ในวันนี้ธุรกิจไม่สามารถเดินหน้า ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปิดกิจการชั่วคราว แต่ธุรกิจท่องเที่ยวส่วนใหญ่ไม่เข้าข่ายที่รัฐบาลสั่งให้ปิดชั่วคราว ทำให้ไม่เข้าข่ายได้รับเงินชดเชยจากสำนักงานประกันสังคม ทาง สทท.จึงแสดงความประสงค์ว่าธุรกิจท่องเที่ยวทั้งระบบพร้อมที่จะปิดตัวเองทั้งหมด และขอให้ทางกระทรวงแรงงานช่วยดูแลลูกจ้างในภาคธุรกิจท่องเที่ยวด้วย

และ 2.ขอเลื่อนการจ่ายเงินสมทบประกันสังคม จากที่มีมติลดเก็บเหลือ 4% จากผู้ประกอบการ และ 1% จากลูกจ้างเป็นเวลา 3 เดือน ให้เลื่อนการจ่ายสมทบออกไปแบบไม่มีกำหนด จนกว่าสถานการณ์จะพลิกฟื้นและธุรกิจกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง และให้ภาครัฐช่วยจ่ายแทน เนื่องจากในสถานการณ์ปัจจุบันนี้ถือว่าไม่ใช่ภาวะปกติ

“ตอนนี้รัฐบาลประกาศจ่ายชดเชยรายได้ให้กับกลุ่มแรงงานนอกระบบคนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน แต่คนที่จ่ายประกันสังคมกลับไม่ช่วยเหลือเลย และแจ้งข้อมูลว่าประกันสังคมจะช่วยก็ต่อเมื่อสถานประกอบการนั้น ๆ มีคนเป็นโรคระบาดแล้วเท่านั้น จุดนี้ถือว่าคิดผิด น่าจะใช้วิธีป้องกัน ไม่ใช่รอให้มีคนป่วยก่อนถึงเข้าไปช่วย”

แรงงานกว่า 4 ล้านตกงาน

นายชัยรัตน์กล่าวว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบอย่างหนักต่อทุกเซ็กเตอร์ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย และภาคแรงงานที่อยู่ในห่วงโซ่ของธุรกิจท่องเที่ยวรวมกว่า 4 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบมาตั้งแต่ปลายเดือน ม.ค.ที่ผ่านมาแล้ว กระทั่งขณะนี้ทุกส่วนไม่สามารถแบกรับต้นทุนต่อไปได้แล้ว โดยแรงงานท่องเที่ยวประมาณ 60-70% อยู่ในระบบประกันสังคม หรือประมาณ 2 ล้านคน

ก่อนหน้านี้กลุ่มเอเย่นต์ทัวร์, รถขนส่ง, ผู้ประกอบการแหล่งท่องเที่ยวทยอยปิดตัวและปิดกิจการชั่วคราวไปแล้วเกือบทั้งหมด ตอนนี้ถึงคิวกลุ่มโรงแรมที่กำลังไล่ปิดให้บริการกันทั่วประเทศ ตอนนี้ทางภาคใต้ ภูเก็ต, กระบี่, พังงา, สมุย, พะงัน ฯลฯ ทยอยปิดกิจการชั่วคราวอย่างน้อย 6 เดือน เหลือให้บริการอยู่น้อยมาก ที่ยังมีนักท่องเที่ยวต่างชาติตกค้างอยู่บ้าง เช่นเดียวกับทางฝั่งตะวันออกอย่างพัทยา ชลบุรี ก็ทยอยปิดให้บริการแล้วเช่นกัน ทั้งที่เป็นรายเล็กและรายใหญ่

“ที่ผ่านมารัฐบาลขอร้องผู้ประกอบการไม่ให้เลย์ออฟพนักงาน แต่ตอนนี้ผู้ประกอบการไม่สามารถรับไหวกันทั้งหมดแล้ว เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สร้างผลกระทบรุนแรงและยาวนานกว่าที่ทุกฝ่ายคาดการณ์กันไว้ ครั้งนี้จึงอยากขอให้ภาครัฐรับผู้ประกอบการที่ปิดกิจการชั่วคราวเข้าเกณฑ์ที่ต้องได้รับเงินชดเชยจากประกันสังคมเช่นเดียวกับกรณีที่รัฐบาลสั่งปิดสถานประกอบการด้วย” นายชัยรัตน์กล่าว

ประกาศหยุดจ่ายประกันสังคม

นายชัยรัตน์ต์กล่าวด้วยว่า จากการหารือร่วมกับกระทรวงแรงงาน ทางกระทรวงแจ้งว่าจะผลักดันและนำประเด็นการช่วยเหลือให้แรงงานภาคท่องเที่ยวที่ต้องปิดกิจการชั่วคราว ให้เข้าข่ายได้รับเงินชดเชยจากประกันสังคม เช่นเดียวกับกรณีที่รัฐบาลสั่งปิดกิจการชั่วคราว ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 31 มี.ค. แต่จากมติ ครม.ที่ออกมาก็ยังไม่มีการพิจารณาเรื่องดังกล่าวตามที่ได้เจรจากันไว้

โดยที่ผ่านมาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีข้อสรุปออกมาแล้วว่า หากภาครัฐยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องการดูแลแรงงานดังกล่าว ผู้ประกอบการภาคท่องเที่ยวทั้งหมดจะหยุดจ่าย ทั้งประกันสังคม, ภาษีทุกประเภท, เงินผ่อน, ดอกเบี้ย, ค่าน้ำ, ค้าไฟ และรายจ่ายต่าง ๆ ที่เป็นของหน่วยงานรัฐ เนื่องจากผู้ประกอบการไม่สามารถรับไหวแล้ว เพราะธุรกิจได้รับผลกระทบมาเกือบ 3 เดือนแล้ว ขณะที่เงินกู้ซอฟต์โลนต่าง ๆ ก็ยังเข้าไม่ถึง

สมาคมโรงแรมวอนรัฐสั่ง “ชัตดาวน์”

ด้านนายสุรพงษ์ เตชะหรูวิจิตร ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ สมาคมโรงแรมไทย (THA) เปิดกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์ปัจจุบันโรงแรมทั่วประเทศส่วนใหญ่มีอัตราผู้เข้าพักต่ำกว่า 10% ซึ่งไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ หลายโรงแรมจึงประกาศ “ปิดบริการชั่วคราว”

และให้พนักงานหยุดงานชั่วคราวเช่นกัน ซึ่งบางส่วนเจ้าของกิจการพอมีกำลังก็จ่ายเงินเดือนบางส่วนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้พนักงาน แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนี้คือพนักงานส่วนใหญ่ไม่ได้รับเงินเดือน เนื่องจากผู้ประกอบการไม่สามารถแบกรับภาระได้

“ขณะนี้มีเพียงลูกจ้างในกลุ่มงานห้องจัดเลี้ยงและประชุม รวมถึงร้านอาหารของโรงแรมที่ได้รับเงินชดเชยจากสำนักงานประกันสังคม มาตรา 79/1(กรณีเหตุสุดวิสัย) เนื่องจากรัฐบาลมีคำสั่งให้ปิดบริการ แต่ลูกจ้างในส่วนงานอื่น ๆ ของโรงแรมไม่สามารถรับเงินชดเชยตามมาตรานี้ได้ เพราะประกันสังคมถือว่าเป็นการตัดสินใจปิดกิจการชั่วคราวของโรงแรมเอง ทั้ง ๆ ที่เป็นผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19”

นายสุรพงษ์กล่าวว่า ขณะนี้สมาคมโรงแรมไทยได้ทำหนังสือถึงนายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อส่งต่อไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอให้รัฐบาลประกาศให้โรงแรมที่ประสงค์ปิดบริการชั่วคราวสามารถลงทะเบียนเพื่อปิดชั่วคราว เนื่องจากเหตุสุดวิสัยมาตรา 79/1 ของกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม และให้ประกันสังคมจ่ายเงินว่างงานจากเหตุสุดวิสัยในอัตรา 50% ของค่าจ้าง และขอขยายจาก 60 วัน เป็นเวลา 180 วัน

“สิ่งที่เราเรียกร้องในขณะนี้ไม่ได้เรียกร้องให้ผู้ประกอบการ แต่เป็นการขอสิทธิให้กับพนักงานและลูกจ้างของโรงแรมในช่วงเวลาวิกฤต ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณตอบรับจากทั้งสำนักนายกรัฐมนตรีและกระทรวงแรงงานออกมาแต่อย่างใด” นายสุรพงษ์กล่าว

โรงแรมทั่วไทยปิดยาวยันสิ้นปี

แหล่งข่าวจากธุรกิจโรงแรมรายหนึ่งเปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการโรงแรมทั้งรายใหญ่และรายเล็กตัดสินใจประกาศปิดกิจการชั่วคราวไปแล้วกว่า 80% ของตลาด ซึ่งจะมีความชัดเจนยิ่งขึ้นนับตั้งแต่เดือน เม.ย.นี้เป็นต้นไป เนื่องจากไม่มีนักท่องเที่ยว อัตราการจองห้องพักส่วนใหญ่เป็นศูนย์ ขณะที่ต้นทุนการดำเนินงานค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับธุรกิจอื่น ๆ ส่งผลกระทบต่อการบอกเลิกจ้างจำนวนมหาศาล

โดยในส่วนของพื้นที่เมืองพัทยา (ชลบุรี) ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวหลักและเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวทั่วโลกนั้น ที่ผ่านมาได้ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐเข้ามาช่วยดูแลธุรกิจและแรงงานในภาคท่องเที่ยวเช่นกันจากกรณีการหยุดกิจการชั่วคราวได้รับการดูแลชดเชยรายได้ 70% จากประกันสังคม, ยกเว้นเงินสมทบประกันสังคม, ยกเว้นจัดเก็บภาษีที่ดิน ภาษีป้าย ภาษีบำรุงท้องที่ ฯลฯ เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการที่แจ้งความประสงค์ขอปิดกิจการชั่วคราว นอกจากรายใหญ่อย่างกลุ่มแอสเซสเวิล์ด หรือ AWC ของลูกสาวเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี, กลุ่มไมเนอร์ฯ, กลุ่มเซ็นทารา ฯลฯ ขณะนี้มีโรงแรมจำนวนมากได้ประกาศปิดให้บริการชั่วคราว อาทิ ในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้แก่ พูลแมน จี สุรวงศ์, ทรินิตี้ สีลม, วอลดร็อป แอสเทเลีย, ดับบิลทรี บาย ฮิลตัน, เดอะ ทวินทาวเวอร์, เอทัส ลุมพินี, เดอะ เพนนินซูล่า แบงคอก, เดอะ ไดนาสตี้ โฮเทล, บางคอก ชา-ดา, สยามแอทสยาม, ยู สาทร กรุงเทพฯ, อินทรา รีเจนท์ โฮเทล,เอทัส แบงคอก เป็นต้น โดยส่วนใหญ่ระบุจะเปิดให้บริการอีกครั้งในเดือนพฤษภาคม และบางส่วนจะกลับมาให้บริการเดือนตุลาคม 2563

เช่นเดียวกับในพื้นที่เมืองพัทยาที่มีโรงแรมจำนวนหนึ่งแจ้งปิดให้บริการชั่วคราวอย่างเป็นทางการแล้วจำนวนมากเช่นกัน อาทิ ฮาร์ดร็อค โฮเทล พัทยา, สยามแอทสยาม, เมอร์เคียว โอเชียน พัทยา, ฮิลตัน พัทยา, แกรนด์ พาลาสโซ่ โฮเทล, มาร์ช โฮเทล, ซันบีม โฮเทล, วู้ดแลนด์ โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท, อาณา อานันท์ รีสอร์ท แอนด์ วิลเลจ พัทยา, พินนาเคิล แกรนด์ จอมเทียน รีสอร์ท แอนด์ บีช คลับ, เดอะ ไอวอรี่ วิลล่า, รอยัล คลิฟ แกรนด์ โฮเทล, โนวา แพล็ตตินั่ม โฮเทล เป็นต้น โดยหลายแห่งระบุปิดถึงเดือน มิ.ย., ส.ค., พ.ย.และมีหลายแห่งที่แจ้งปิดยาวถึงสิ้นปี

ภาคตะวันออกตกงานแสนคน

นางภคมน วงศ์ใหญ่ นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคตะวันออก เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมภาคตะวันออกเริ่มทยอยปิดกิจการชั่วคราวกว่า 70% ซึ่งตั้งแต่ขนาด 100-400 ห้อง รวมแล้วประมาณ 100,000 ห้อง มูลค่าความเสียหายหลายหมื่นล้าน จะเริ่มปิดตั้งแต่ต้นเดือน เม.ย.จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย เพราะตอนนี้ไม่มีลูกค้าเข้ามาพักเลย จากเดือนที่ผ่าน ๆ มายังมีนักท่องเที่ยวเข้ามาพักบ้างช่วง ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ผู้ประกอบการธุรกิจน่าจะเริ่มทยอยปิดไปเรื่อย ๆ ขึ้นอยู่กับแต่ละโรงแรมว่าจะสั่งปิดนานกี่เดือน หรือจนกว่าสถานการณ์คลี่คลาย

“ล่าสุดรัฐมีมาตรการออกมาเยียวยา 5,000 บาท ให้กับพ่อค้าแม่ค้า อาชีพอิสระ ที่ไม่มีอยู่ในประกันสังคม ซึ่งพนักงานโรงแรมไม่มีสิทธิ์ได้รับเงินในส่วนนี้ เพราะไม่เข้าเกณฑ์การจ่ายชดเชย ก็อยากให้รัฐบาลลงมาดูแลในส่วนของธุรกิจโรงแรมบ้าง รวมถึงการให้ยืดเวลาการจ่ายประกันสังคม ทั้งของนายจ้างและลูกจ้าง 6-12 เดือน”

ทั้งนี้ พนักงานส่วนใหญ่ทางผู้ประกอบการต้องจ่ายให้ตามกฎหมายตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน มาตรา 75 ในกรณีที่นายจ้างมีความจำเป็นต้องหยุดกิจการ หรืออาจจะมีบางโรงแรมจ่ายเพียง 50% ขึ้นอยู่กับข้อตกลงระหว่างผู้ประกอบการและพนักงาน ซึ่งคาดว่าเดือนเมษายนจะมีพนักงานทำงานที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจท่องเที่ยวในเมืองพัทยาตกงานประมาณ 100,000 คน เฉพาะพนักงานโรงแรมประมาณ 50,000 คน ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการยื่นหนังสือขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งปิดโรงแรมแต่ก็ไม่มีคำสั่ง โดยเหตุผลว่า โรงแรมไม่ได้เกี่ยวกับการแพร่กระจายเชื้อของไวรัสโควิด-19