มาตรการเพิ่มเวลาพำนัก ปั้นไทยสู่ฮับ ‘เมดิคอล-เวลเนส’ โลก





ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ธุรกิจการให้บริการทางการแพทย์และดูแลสุขภาพของประเทศไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ธุรกิจเชิงสุขภาพ (Medical & Wellness) มีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็ว 

จากรายงานของฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจ ธุรกิจ และเศรษฐกิจฐานราก ธนาคารออมสิน ระบุว่า ในปี 2559 ที่ผ่านมา ตลาด Wellness Tourism ของโลก มีมูลค่ารวมประมาณ 569.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ และมีแนวโน้มได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในประเทศแถบเอเชีย-แปซิฟิก

ประเทศในเอเชียมุ่งเมดิคอลฮับ

จากแนวโน้มดังกล่าวนี้ ทำให้หลายประเทศต่างลุกขึ้นมาผลักดันให้ตัวเองเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical Hub) โดยสร้างจุดเด่นที่แตกต่างเพื่อก้าวสู่ความเป็น Medical Hub of Asia ไม่ว่าจะเป็น สิงคโปร์, มาเลเซีย, เกาหลีใต้, อินเดีย รวมถึงประเทศไทยของเรา

โดยพบว่าสิงคโปร์ได้ก่อตั้ง Singapore Medicine เพื่อทำหน้าที่ผลักดันให้ขึ้นเป็นผู้นำด้านการให้บริการทางการแพทย์ และเป็นประเทศปลายทางสำหรับการดูแลชั้นสูงของเอเชีย ขณะที่มาเลเซียได้ก่อตั้งคณะกรรมการแห่งชาติเพื่อการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและทางการแพทย์ ส่วนอินเดียได้ออกมาตรการให้วีซ่าเฉพาะสำหรับผู้ป่วย

ต่างชาติประเภท M โดยมีอายุไม่เกิน 1 ปี และขยายได้เพิ่มอีกไม่เกิน 1 ปี

ส่วนเกาหลีใต้ได้ประกาศให้การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เป็น 1 ใน 17 อุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ และร่วมมือกับภาคเอกชนในการสร้างโครงการ The Jeju Health Town บนเกาะเจจู เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ

สำหรับประเทศไทย หน่วยงานภาครัฐได้เริ่มปูทางสู่การเป็นศูนย์กลางบริการสุขภาพนานาชาติมาตั้งแต่ปี 2547 โดยจัดทำเป็นยุทธศาสตร์ประเทศในการ

ก้าวสู่ Medical Hub of Asia

 ประกอบด้วย 1.แผนพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ ระยะ 10 ปี (2559-2568)และ 2.แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการพัฒนาและส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางด้าน Medical and Wellness Tour-ism ระยะเร่งด่วน (2559-2560)

ไทยชูมาตรการขยายเวลาพำนัก

ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 ที่ผ่านมา ได้มีมติอนุมัติในหลักการขยายเวลาพำนักในราชอาณาจักรไทย รวม 90 วัน 

สำหรับผู้ป่วยและผู้ติดตาม กรณีเดินทางเข้ามารับการรักษาพยาบาลในกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งประกอบด้วย กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม 

และสาธารณรัฐประชาชนจีน ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ

ล่าสุดเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยนำโดย พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร 

รองนายกรัฐมนตรี พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมแถลงข่าว “การขยายเวลาพำนักในราชอาณาจักรไทยรวม 90 วัน 

สำหรับผู้ป่วยและผู้ติดตาม กรณีเดินทางเข้ามารับการรักษาพยาบาลในกลุ่มประเทศ CLMV และสาธารณรัฐประชาชนจีน และการขยายระยะเวลาพำนักในราชอาณาจักรไทยสำหรับกลุ่มพำนักระยะยาว (Long Stay)”

โดยงานดังกล่าวมีรัฐมนตรีจากหลายหน่วยงานเข้าร่วมด้วย อาทิ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงแรงงาน 

ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ฯลฯ รวมถึงเอกอัครราชทูต และผู้แทนจากสถานทูต 14 ประเทศ เข้าร่วมเป็นสักขีพยานด้วย

มั่นใจไทยฮับ “เมดิคอล” โลก



“พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร” รองนายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำในประเด็นดังกล่าวว่า การขยายเวลาพำนักในราชอาณาจักรไทยรวม 90 วัน (จากเดิม 15-30 วัน) สำหรับผู้ป่วยและผู้ติดตาม กรณีเดินทางเข้ามารับการรักษาพยาบาลในกลุ่มประเทศ CLMV และสาธารณรัฐประชาชนจีน นั้นสะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการส่งเสริมนโยบายการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เพื่อพัฒนาและส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางด้าน Medical & Wellness Tourism

ตลอดจนผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางสุขภาพระดับโลก โดยการพัฒนาศักยภาพของสถานบริการสุขภาพทุกระดับ และสถานประกอบการเพื่อสุขภาพให้ได้คุณภาพและมีมาตรฐานส่วนการขยายระยะเวลาพำนักในราชอาณาจักรไทย แก่กลุ่มพำนักในระยะยาว หรือลองสเตย์วีซ่า ตามมาตรการส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพ หรือ Medical Wellness Tourism นั้น จากเดิม 1 ปี ขยายเป็น 10 ปี

โดยครั้งแรกจะได้รับวีซ่า 5 ปี และสามารถต่อได้อีก 5 ปี ให้แก่ชาวต่างชาติจาก 14 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร แคนาดา และสหรัฐอเมริกา

โดยการขยายเวลาพำนักในราชอาณาจักรไทยทั้ง 2 กรณี จะช่วยอำนวยความสะดวกแก่ชาวต่างชาติที่เป็นกลุ่มเป้าหมายให้เดินทางเข้ามารับการรักษาพยาบาลในไทยเพิ่มมากขึ้นด้าน “กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ บอกว่า 2 มาตรการดังกล่าว จะทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามายังประเทศไทยมากขึ้นแน่นอน และนอกจากนี้ยังมีอีก 3 ประเทศที่ต้องการได้รับสิทธิ์เช่นกัน ได้แก่ เบลเยียม ออสเตรีย และเกาหลีใต้ แต่กระทรวงขอดูผลจากมาตรการนี้เป็นระยะเวลา 6 เดือน ก่อนที่จะขยายให้ประเทศอื่น ๆ เพิ่มเติมอีก

ขณะที่ “พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย” รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาเข้ารับการรักษาพยาบาลในไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะการบริการเพื่อสุขภาพของไทยมีมาตรฐานระดับสากล ใช้เทคโนโลยีทันสมัย ตลอดจนบุคลากรมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง

อย่างไรก็ดี ชาวต่างชาติที่ต้องการเข้ารับบริการด้านสุขภาพในไทยยังคงประสบกับอุปสรรคต่าง ๆ อาทิ ระยะเวลาพำนักในไทย และการขอตรวจลงตรา รัฐบาลจึงได้อำนวยความสะดวกในการเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลภาคเอกชน

และเชื่อมั่นว่า ทั้ง 2 มาตรการจะช่วยส่งเสริมให้การเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ของไทย ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศมากยิ่งขึ้น