“ยอดชาย” ติดปีกนกสกู๊ต ฝ่าวงล้อมโลว์คอสต์-ดันรายได้หมื่นล้าน

สัมภาษณ์

เปิดตัวและให้บริการมากว่า 3 ปีแล้ว สำหรับสายการบินราคาประหยัด “นกสกู๊ต” ซึ่งถือกำเนิดจากการร่วมทุนระหว่างสายการบิน “นกแอร์” และ “สกู๊ต” ประเทศสิงคโปร์

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสร่วมสัมภาษณ์ “ยอดชาย สุทธิธนกูล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินนกสกู๊ต ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการพาณิชย์ สายการบินนกแอร์ ถึงทิศทางการขยายธุรกิจไว้ดังนี้

“ยอดชาย” เริ่มต้นเล่าว่า ย้อนไปเมื่อตอนจัดตั้งสายการบิน “นกสกู๊ต” เสร็จใหม่ ๆ เมื่อช่วงกลางปี 2557 เปิดตัวได้ไม่ทันไร ทางองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ก็ประกาศปักธงแดงให้กับมาตรฐานการบินพลเรือนของประเทศไทย ทำแผนงานทุกอย่างหยุดชะงัก

ปีแรกของนกสกู๊ตจึงเป็นปีที่เจ็บปวดมาก รับเครื่องบินโบอิ้ง 777-200 มา 3 ลำ ตั้งใจบินไปญี่ป่นและเกาหลี แต่ต้องจอดไว้เฉย ๆ และขาดทุนไปกว่า 1,223 ล้านบาท

นกสกู๊ตจึงปรับแผนด้วยการหันไปเปิดเส้นทางบินไปยังประเทศที่มีการขยายตัวของนักท่องเที่ยวสูงอย่าง “จีน” ซึ่งส่งออกนักท่องเที่ยวไปทั่วโลกถึง 150 ล้านคนต่อปี และส่งมาไทยมากเป็นอันดับ 1 จนครองสัดส่วน 1 ใน 3 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาไทยทั้งหมด โดยเน้นเส้นทางบินไปยังเมืองทางตอนเหนือของจีนซึ่งมีอากาศหนาว จึงคิดว่าคนอยู่เมืองหนาวก็น่าจะอยากมาเที่ยวเมืองร้อนอย่างประเทศไทย และเครื่องบินโบอิ้ง 777-200 ขนาด 415 ที่นั่ง ซึ่งรับมอบมาก็ตอบโจทย์การบินพิสัยกลาง ซึ่งสายการบินโลวคอสต์อื่น ๆ ใช้ อาทิ เครื่องแอร์บัส เอ320 และโบอิ้ง 737 นั้นไม่สามารถบินถึง เรียกได้ว่าเป็นความโชคดีในความโชคร้ายมากกว่า

ในปี 2559 ซึ่งเป็นปีที่ 2 “นกสกู๊ต” ปรับตัวได้ดีขึ้น ปิดตัวเลขรายได้ไปกว่า 3,900 ล้านบาท ขาดทุนลดลง 50% เหลือ 612 ล้านบาท แต่พอไปบุกตลาดจีนมากขึ้น ทุกอย่างกำลังไปได้ดี ก็มีเรื่องทัวร์ศูนย์เหรียญเข้ามากระทบอีกรอบ

กระทั่งปีนี้ “นกสกู๊ต” ปรับตัวได้ดีขึ้น โดยในไตรมาส 1 มีกำไร ไตรมาส 2 ขาดทุน ไตรมาส 3 มีกำไรเล็กน้อย ส่วนไตรมาส 4 นี้ก็คาดว่าน่าจะดี จึงคาดว่าปีนี้นกสกู๊ตจะมีรายได้ราว 6,000 ล้านบาท ขาดทุนลดลงเหลือ 50-100ล้านบาท มีผู้โดยสาร 1.1 ล้านคน หลังบริหารอัตราการหมุนเวียนใช้เครื่องบิน 3 ลำในฝูงบินได้ดีขึ้น อยู่ที่ 12 ชั่วโมง/ลำ/วัน วางเป้าเพิ่มเป็น 13-14 ชั่วโมง/ลำ/วัน

โดยเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาได้รับมอบเครื่องบินเพิ่มอีก 1 ลำ ทำให้สิ้นปีนี้นกสกู๊ตมีฝูงบินโบอิ้ง 777-200 รวม 4 ลำ และเตรียมเพิ่มความถี่เที่ยวบินเส้นทางล่าสุด กรุงเทพฯ (ดอนเมือง)-ซีอาน ในเดือนธันวาคมนี้ จาก 3 เป็น 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ จากปัจจุบันที่มีเส้นทางบินรวม 7 เส้นทาง แบ่งเป็น จีน 6 เส้นทาง ได้แก่ นานกิง ชิงเต่า เทียนจิน เสิ่นหยาง ต้าเหลียน และซีอาน รวมไทเป ไต้หวัน อีก 1 เส้นทาง

ส่วนปี 2561 นั้น “ยอดชาย” มองว่า ธุรกิจมีแนวโน้มดีขึ้น โดยคาดว่าจะมีรายได้ใกล้เคียง 1 หมื่นล้านบาท มีผู้โดยสารรวม 2 ล้านคน หลังมีแผนรับมอบเครื่องบินเพิ่มเป็นลำที่ 5 ในช่วงครึ่งแรกของปี และหวังว่าจะเห็นกำไรเป็นปีแรก จากปัจจัยหนุนเรื่อง ICAO ปลดธงแดงเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2560 ที่ผ่านมา

“ยอดชาย” บอกว่า การปลดธงแดงทำให้นกสกู๊ตสามารถกลับมาทำตาม “แผนดั้งเดิม” เหมือนตอนตั้งบริษัท นั่นคือ การรุกเปิดเส้นทางบินสู่ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2561 เพื่อให้ทันช่วงพีกซีซั่นช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2560

“แม้การแข่งขันใน 2 ตลาดนี้จะรุนแรง แต่การที่นกสกู๊ตมีเครื่องบินขนาดใหญ่ เราจึงเลือกที่จะบินแล้วสู้โดยผสานจุดแข็งของบริษัทแม่ทั้ง 2 บริษัท อย่าง “สกู๊ต” ซึ่งมีจุดเด่นเรื่องการสร้างประสิทธิภาพ ขณะที่ “นกแอร์” มีจุดเด่นเรื่องบริการอย่างเป็นมิตร ผลักดันเป็นข้อได้เปรียบของนกสกู๊ต”

เพราะสุดท้ายแล้ว สายการบินต้องสู้กันด้วยหลายปัจจัย ทั้งการบริหารต้นทุน การหาลูกค้า ช่องทางการขาย และอื่น ๆ ไม่ได้มี “โกลเด้นบูลเลต” เหมือนธุรกิจอื่น นอกจากนี้ แนวโน้มของผู้บริโภคนิยมมองหาคุณภาพควบคู่กับความคุ้มค่ามากขึ้น

โดยนับจากนี้เป็นต้นไปไม่น่าจะเห็นสายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอสต์) ใหม่มาเปิดตัวแล้ว แต่จะเป็นยุคของ “บิ๊กบอย” (big boy) ซึ่งต่างขยายธุรกิจเพื่อเพิ่มความประหยัดทางขนาด และหันไปร่วมมือกับสายการบินอื่น ๆ ในระดับโลกมากขึ้น

และในระดับโลกจะเห็นว่าภาพความต่างระหว่างสายการบินฟูลเซอร์วิสกับสายการบินโลว์คอสต์ “เริ่มเบลอ” และแยกยากขึ้น เพราะบินโลว์คอสต์เริ่มมีบริการเสริมให้เลือกมากขึ้น ขณะที่สายการบินฟูลเซอร์วิส บางสายเริ่มปฏิบัติตัวเหมือนสายการบินโลว์คอสต์มากขึ้น เช่น จัดเก็บค่าจองที่นั่ง

ด้านระดับภูมิภาค สายการบินทั่วโลกเริ่มหันมาจับมือเป็นพันธมิตรกับสายการบินจีนมากขึ้น และคาดการณ์ว่าในอนาคตจีนจะเป็น “นิวมิดเดิลอีสต์” หรือศูนย์กลางการบินแห่งใหม่ของโลก

นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังมีนโยบายรุกส่งเสริมเส้นทางสายไหม (วันเบลต์วันโรด) เชื่อมโยงคนจีนกับประเทศเพื่อนบ้าน และมุ่งผลักดันให้มีเมืองระดับนคร (metropolitan) ประชากรมากกว่า 10 ล้านคนถึง 200 เมือง ขณะภาพที่ระดับประเทศไทย การแข่งขันยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ซีอีโอนกสกู๊ตยังย้ำด้วยว่า การที่นกสกู๊ตมีฐานปฏิบัติการบินที่กรุงเทพฯ เป้าหมายในการบินก็จะเป็นจุดหมายในเอเชีย เช่น จีน ซึ่งมียอดนักท่องเที่ยวจีนมาไทยร่วม 10 ล้านคนต่อปี รวมถึงอินเดีย ซึ่งปัจจุบันมาไทยกว่า 1.3 ล้านคน