ธุรกิจการบินฟื้นแบบ “สแควร์รูต” ทอท. คาดใช้เวลา 3 ปีคืนสู่ภาวะปกติ

นักท่องเที่ยว
Photo : Mladen ANTONOV / AFP
รายงาน

30 ตุลาคมที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศได้ประกาศรายชื่อประเทศ/พื้นที่ต้นทางที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าไทยโดยไม่กักตัว (เพิ่มเติม) ตามแผนการเปิดประเทศของรัฐบาล เพื่อรองรับนโยบายเปิดประเทศอีก 17 ประเทศ จากเดิมที่ประกาศไปก่อนหน้านั้นแล้ว 46 ประเทศ รวมเป็นทั้งหมด 63 ประเทศ นับตั้งแต่ 1 พฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป

นโยบายดังกล่าวทำให้หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าน่าจะเป็นปัจจัยบวกที่ช่วยให้นักท่องเที่ยวต่างชาติตัดสินใจเดินทางมาเที่ยวประเทศไทยเพิ่มขึ้น

ผู้โดยสาร 6 หมื่นคน/วัน

“นิตินัย ศิริสมรรถการ” ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) หรือ AOT ผู้บริหารสนามบินหลักของประเทศจำนวน 6 แห่งประกอบด้วย ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต และหาดใหญ่ (สงขลา) ให้ข้อมูลว่า ภาพรวมของจำนวนผู้โดยสารผ่านสนามบินหลักทั้ง 6 แห่งของ ทอท.ในช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมามีจำนวนเฉลี่ยประมาณ 50,000-60,000 คนต่อวัน

โดยเพิ่มจากประมาณ 29,000-30,000 คนต่อวันเมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นเดือนแรกที่ผ่อนคลายมาตรการให้คนไทยเดินทางข้ามเข้า-ออกจังหวัดสีแดงเข้ม และเพิ่มขึ้นจากประมาณ 40-50 คนต่อวันในช่วงที่รัฐบาลล็อกดาวน์การเดินทางในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

โดยจำนวนผู้เดินทาง 50,000-60,000 คนต่อวันในขณะนี้ คาดว่า 98-99% เป็นตลาดคนไทยเดินทางภายในประเทศเป็นหลัก ขณะที่นักเดินทางต่างประเทศมีสัดส่วนที่น้อยมาก

สำหรับเดือนพฤศจิกายนนี้จำนวนเที่ยวบินและสายการบินต่างประเทศที่ให้บริการเที่ยวบินเข้า-ออกสนามบินทั้ง 6 แห่งของ ทอท.มีปริมาณใกล้เคียงกับเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ส่วนแนวโน้มของเดือนธันวาคมซึ่งเป็นช่วงเทศกาลปลายปีนี้คงต้องประเมินสถานการณ์อีกครั้งในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนนี้

เปิดประเทศ “แอร์ไลน์” ไม่ขยับ

ทั้งนี้ หากประเมินจากสลอตการบินในตารางบินฤดูหนาว หรือ winter schedule (31 ตุลาคม 2564-31 มีนาคม 2565) ของ 6 สนามบินของ ทอท.ยังพบว่าสายการบินต่าง ๆ ยังกลับมาบินในสัดส่วนที่น้อยมาก โดยในส่วนของ 6 สนามบินของ ทอท.นั้นสายการบินต่างประเทศทำการยกเลิกเส้นทางบิน 82% ส่วนสายการบินภายในประเทศยกเลิกตารางบินไป 34%

โดยเฉพาะสนามบินหลักที่รองรับเที่ยวบินระยะใกล้ (ภายในภูมิภาค) นั้น พบว่าสายการบินต่างประเทศยังคงยกเลิกสลอตการบินไปทั้งหมด 100% ขณะที่สายการบินภายในประเทศทำการยกเลิกสลอตการบินไป 33%

จากปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้สะท้อนชัดเจนว่าในช่วง 5 เดือนนับจากนี้ (พฤศจิกายน 2564-มีนาคม 2565) แม้ประเทศไทยจะประกาศเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเต็มรูปแบบแล้ว แต่ผู้ประกอบการธุรกิจสายการบินยังประเมินว่าธุรกิจยังมีความไม่แน่นอนสูงโดยเฉพาะสายการบินในภูมิภาคเอเชีย หรือสายการบินที่บินระยะใกล้

การบินฟื้นตัวแบบ “สแควร์รูต”

“นิตินัย” บอกด้วยว่า ส่วนตัวเชื่อว่าการฟื้นตัวของธุรกิจการบินจะเป็นลักษณะคล้าย “สแควร์รูต” กล่าวคือ ธุรกิจจะเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงแรก ซึ่งเป็นการเติบโตจากดีมานด์ที่อัดอั้นไม่ได้เดินทางมานาน จากตัวเลขผู้โดยสารผ่าน 6 สนามบินมีประมาณ 40-50 คนต่อวัน เพิ่มเป็นประมาณ 30,000 คนต่อวัน และล่าสุดเมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมาเพิ่มเป็นประมาณ 50,000-60,000 คนต่อวัน ขณะที่ในช่วงปลายปี 2563 ที่ผ่านมามีจำนวนผู้โดยสารทั้ง 6 สนามบินที่ประมาณ 1.2 แสนคนต่อวัน (เฉพาะภายในประเทศ)

จากฐานที่ต่ำนี้จะทำให้ช่วงแรก ๆ ที่เปิดน่านฟ้านี้มีอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 5-6 เดือนแรก แต่พอไปถึงจุดจุดหนึ่งจะเริ่มคงที่เนื่องจากซัพพลายจะไม่สามารถขยายตัวได้ (supply constant) ไม่ว่าจะเรื่องของสลอตการบิน คาร์โก้ บริการภาคพื้น ฯลฯ รวมถึงหลุมจอดเครื่องบินที่ติดปัญหาเครื่องบินของสายการบินบางแห่งที่จอดทิ้งไว้ เป็นต้น

เพราะเมื่อถึงจุดหนึ่งในตลาดจะรู้ว่าซัพพลายแต่ละเซ็กเตอร์เหลือให้บริการได้เท่าไหร่ และปิดตัวไปเท่าไหร่ ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้นธุรกิจการบินจะเติบโตแบบคงตัวและค่อย ๆ ขยับขึ้นเหมือนสัญลักษณ์ “สแควร์รูต”

นั่นหมายความว่า ถ้าซัพพลายได้รับความเสียหายน้อยธุรกิจก็จะฟื้นตัวได้เร็ว แต่ถ้าซัพพลายได้รับความเสียหายมากธุรกิจจะกลับมาฟื้นตัวได้ยาก

อย่างไรก็ตาม มองว่าหางของเครื่องหมายสแควร์รูตจะมาอืดและติดอยู่ประมาณปีหรือ 2 ปี หรืออาจทอดยาวไปถึงปี 2566-2567

ดังนั้น อย่าเพิ่งดีใจเมื่อเห็นการปรับขึ้นในช่วง 5-6 เดือนแรกนี้ ที่สำคัญปรากฏการณ์นี้ยังเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหา เพราะที่ผ่านมาทุกโอเปอเรเตอร์ไม่ว่าจะเป็นสายการบิน ผู้ประกอบการร้านค้าทั้งหลายยังไม่ขยับ แต่ทุกโอเปอเรเตอร์เริ่มขยับและเกิดค่าใช้จ่ายด้านการดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

หากเดือนพฤศจิกายนนี้ไม่สะดุด เดินไปตามแผน ทุกอย่างจะเริ่มมีความชัดเจนขึ้นในเดือนธันวาคมนี้

ปรับประมาณการปี’65-67

ทั้งนี้ ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการ ทอท.เมื่อ 20 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้รายงานการปรับประมาณการปริมาณการจราจรทางอากาศระหว่างปีงบประมาณ 2565-2567 โดยคาดว่าในปีงบประมาณ 2565 จะมีปริมาณเที่ยวบินรวม 483,695 เที่ยวบิน และมีผู้โดยสารรวม 62.13 ล้านคน

ปีงบประมาณ 2566 จะมีปริมาณเที่ยวบินรวม 768,658 เที่ยวบิน และผู้โดยสารรวม 116.13 ล้านคน ปีงบประมาณ 2567 จะมีปริมาณเที่ยวบินรวม 925,197 เที่ยวบิน และผู้โดยสารรวม 143.05 ล้านคน

ประมาณการดังกล่าวอยู่บนสมมุติฐานในกรณีที่สถานการณ์ดีที่สุด (best case) กล่าวคือ กรณีที่มีการฉีดวัคซีนได้ทั่วโลกตามเป้าหมายและก้าวหน้าเป็นอย่างมาก รวมทั้งสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ทั่วโลก ผู้โดยสารเชื่อมั่นต่อการเดินทางมากขึ้น

ประกอบกับสายการบินปรับตัวได้เร็ว ส่งผลให้ทั้งเที่ยวบินและผู้โดยสารสามารถฟื้นตัวได้เร็ว คาดว่าปริมาณการจราจรทางอากาศจะกลับมาอยู่ในระดับปกติเช่นเดียวกับปีงบประมาณ 2562 (ช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19) ในช่วงต้นปีงบประมาณ 2567

Worst Case พลิกฟื้นปี’67

แต่ในกรณีที่สถานการณ์ไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ (worst case) กล่าวคือ กรณีที่เกิดการกลายพันธุ์ของโรค ทำให้ไม่สามารถควบคุมการระบาดได้ หรือเกิดปัญหาเกี่ยวกับการฉีดวัคซีน ทำให้ผู้โดยสารยังไม่มีความเชื่อมั่นต่อการเดินทาง ประกอบกับสายการบินปรับตัวได้ช้า และได้รับผลกระทบจากขีดความสามารถการให้บริการที่ลดลงในระดับสูง-ปานกลาง ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณการจราจรทางอากาศฟื้นตัวได้ช้ากว่าปกติ

หากอยู่ในทิศทางนี้คาดว่าปริมาณการจราจรทางอากาศจะไม่สามารถกลับสู่ระดับปกติเช่นเดียวกับปีงบประมาณ 2562 ได้ภายในปีงบประมาณ 2567

เรียกว่าไม่ว่าจะกรณี best case หรือ worst case ก็คาดว่าอุตสาหกรรมการบินของไทยจะฟื้นตัวได้ในปี 2567 หรือในอีก 3 ปีข้างหน้า…