คนโรงแรมสะท้อน ปัญหา Thailand Pass “คนทำไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้ทำ”

thailand pass

เป็นที่ยืนยันแล้วว่า “ระบบเปิดประเทศ” แบบไม่กักตัวของไทยที่ประกาศใช้ไปตั้งแต่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมานั้นไม่สามารถใช้งานได้จริง

และเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา โดยเฉพาะประเด็นการติดตามตัวนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงปัญหาต่าง ๆ ตลอดช่วงเวลากว่า 1 เดือนที่ผ่านมา กระทั่ง ศบค.มีมติให้ปิดระบบการลงทะเบียนเข้าประเทศในรูปแบบ test & go และแซนด์บอกซ์เป็นการชั่วคราว (ยกเว้นภูเก็ต) เมื่อวันที่ 21 ธันวาคมที่ผ่านมา

“อังคณา ธเนศวิเศษกุล” นายกสมาคมโรงแรมหาดกะตะ กะรน จังหวัดภูเก็ต และกรรมการสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ ให้ข้อมูลว่า ตลอดเวลาเกือบ 2 เดือนที่ผ่านมา คนโรงแรมส่งเสียงสะท้อนถึงประเด็นปัญหาของระบบการเปิดประเทศมาโดยตลอด กระทั่งปัจจุบันก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข

นับตั้งแต่ระบบลงทะเบียน Thailand Pass ที่ใช้เอกสาร 4 อย่างคือ พาสปอร์ต, ใบจองโรงแรมและรถรับส่ง ประกันโควิด และใบเสร็จรับเงินค่าจอง RT-PCR จากนั้นใช้ระบบออโตเมติกตรวจสอบ บางส่วนไม่ผ่านก็ใช้ระบบแมนวลตรวจสอบ ปัญหาของระบบนี้คือบางคนใส่ข้อมูลหมายเลขพาสปอร์ต หรือสะกดชื่อไม่ตรงกัน ระบบก็อนุมัติ QR code

ที่สำคัญ ระบบดังกล่าวไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าใบจองโรงแรมที่อัพโหลดลงทะเบียนเข้ามานั้นไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าเป็นโรงแรมที่ได้มาตรฐาน SHA Plus หรือไม่ รวมถึงตรวจสอบไม่ได้ว่าเป็นใบจองจริงหรือไม่ และบางส่วนทำการจองโรงแรมแต่ยังไม่ชำระเงิน บางส่วนจองแล้วทิ้งทำให้ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่านักท่องเที่ยวที่เข้ามาพักอยู่ที่ไหน

หรือกรณีระบบ coste ซึ่งเป็นระบบรายงานผลการตรวจ RT-PCR เมื่อนักท่องเที่ยวมาถึงโรงแรม ปัญหาที่พบคือระบบ coste เช็กอินไม่ได้ เพราะยังมีปัญหาการเชื่อมต่อกับระบบของ Thailand Pass เช่น ใส่หมายเลขพาสปอร์ตผิด หรือสะกดชื่อผิด ระบบจะไม่เชื่อมต่อ ทำให้โรงแรมทำเช็กอินไม่ได้ เพราะไม่รู้ผลตรวจ

โดยปัญหาที่เกิดขึ้นนี้จะส่งผลต่อเนื่องถึงระบบของ “หมอชนะ” ที่จะไม่สามารถทำงานได้ด้วย เพราะเมื่อระบบ coste ล้มเหลว ทำให้ไม่สามารถดาวนโหลดแอปพลิเคชั่นหมอชนะไปด้วย จึงทำให้ที่ผ่านมาไม่สามารถติดตามตัวนักท่องเที่ยวผ่านแอปได้

ไม่เพียงเท่านี้ ระบบ coste ยังไม่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มที่เข้ามาในรูปแบบ “แซนด์บอกซ์” ที่กำหนดให้ย้ายโรงแรมได้ 2 แห่งได้

ทั้งหลายทั้งปวงนี้ ทำให้ 80-90% ของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาไม่สามารถโหลดแอปพลิเคชั่น “หมอชนะ” ได้ ซึ่งหมายความว่าก็จะไม่สามารถติดตามตัวนักท่องเที่ยวต่างชาติได้เช่นกัน

“อังคณา” บอกว่า สรุปให้เข้าใจง่าย ๆ คือ ระบบของแต่ละแอปพลิเคชั่นนั้นไม่เชื่อมต่อเป็นหนึ่งเดียวอย่างแท้จริง ซึ่งน่าจะเป็นสาเหตุมาจากการที่แต่ละหน่วยงาน แต่ละกระทรวง ต่างคนต่างพัฒนาระบบของตัวเองออกมา โดยไม่ได้คำนึงถึงการนำไปเชื่อมต่อกับแอปพลิเคชั่นอื่น ๆ และไม่เข้าใจปัญหาของภาคธุรกิจท่องเที่ยว เมื่อนำมาใช้งานจริงจึงไม่สามารถเชื่อมต่อกันได้

เรียกว่า เป็นระบบที่คนทำไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้ทำ

“อังคณา” บอกด้วยว่า จากปัญหาที่เกิดขึ้นและยังไม่ได้รับการแก้ไขนี้ ทางจังหวัดภูเก็ตอยากเสนอขอให้รัฐพิจารณาให้ภูเก็ตกลับไปใช้ระบบจองโรงแรมของ SHABA ซึ่งเป็นระบบที่คนในภาคธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมของภูเก็ตพัฒนาขึ้นอีกครั้ง

เพราะเป็นระบบที่ตรวจสอบได้ว่าใบจองโรงแรมที่อัพโหลดเข้าในระบบนั้นจริงหรือปลอม เพราะทุกการจองต้องชำระเงินแล้วทั้งสิ้น ดังนั้นจึงเป็นระบบที่มั่นใจว่าจะสามารถติดตามนักท่องเที่ยวได้และดูแลทุกปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้ทั้งหมด

พร้อมย้ำว่า หากรัฐไม่พิจารณาให้ภูเก็ตกลับไปใช้ระบบ SHABA ก็ต้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาของระบบเข้าประเทศทั้งระบบโดยด่วนที่สุด