ทีเส็บพร้อมเดินหน้า ผลักดันอุตสาหกรรมไมซ์ด้วยเทคโนโลยี

จิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา
จิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา

ทีเส็บพร้อมยกระดับธุรกิจไมซ์ด้วยเทคโนโลยี ผู้เชี่ยวชาญชี้เป้า จับตลาดอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รับเทรนด์ BCG แนะปั้นประเทศไทยเป็นผู้นำใช้เมตาเวิร์สขยายพื้นที่จัดงานสู่โลกเสมือน รับผู้ร่วมงานจากไมซ์จากทั่วโลก

วันที่ 4 เมษายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ จัดงาน MICE Techno Mart 2022 ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี มุ่งยกระดับมาตรฐานการจัดงานไมซ์ ผ่านกิจกรรมการนำเสนอไอเดียการประยุกต์ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการจัดงาน

นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ เปิดเผยว่า ทีเส็บยังคงเดินหน้าผลักดันการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์

โดยในงานมีกิจกรรมไฮไลต์สำคัญคือ การนำเสนอไอเดียการประยุกต์ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการจัดงาน (Pitching) เพื่อชิงทุนขอรับการสนับสนุนในรูปแบบคูปองนวัตกรรม MICE Inno-Voucher จากทีเส็บ ซึ่งแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ 1.คูปองนวัตกรรมสำหรับผู้จัดงาน หรือ Inno-Voucher และ 2.คูปองนวัตกรรมสำหรับสถานที่จัดงาน หรือ Inno-Venue Voucher มูลค่ารวมกว่า 5 ล้านบาท

นอกจากนี้ ภายในงานยังจัดให้มีกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจ หรือ Business Matching เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนมุมมองและต่อยอดธุรกิจร่วมกันระหว่างกลุ่มผู้ซื้อจากผู้ประกอบการไมซ์ซึ่งมีผู้เข้าร่วมจำนวน 150 ราย และกลุ่มผู้ขายซึ่งเป็นผู้ให้บริการด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีจำนวน 30 ราย โดยประมาณการว่าจะมีการเจรจาจับคู่ธุรกิจได้ราว 150 คู่ ขณะที่ในปีที่ผ่านมามีการจับคู่ธุรกิจได้ 312 คู่ ซึ่งทำให้เกิดการจัดงานที่นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีไปใช้ในการจัดงานถึง 21 งาน

นายอาร์ชวัส เจริญศิลป์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกลยุทธ์และแผนงาน บริษัท ฮับบา จำกัด ร่วมบรรยายในหัวข้อ “Essential steps with Startups” โดยกล่าวว่า กระบวนทัศน์ด้านเศรษฐกิจในอนาคตที่ผู้ประกอบการอาจสามารถปรับตัวเพื่อใช้ประโยชน์ มีดังต่อไปนี้

1. The Experience Economy คือ การรวมสินค้าและบริการ ที่นำมารวมกัน เพื่อตอบโจทย์ด้านประสบการณ์ มีการวิจัยว่า ลูกค้าให้ความสำคัญกับประสบการณ์มากกว่าตัวสินค้า โดยเฉพาะในเจน Z และมิลเลนเนียล

2. The Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน คือ แนวทางในการออกแบบกระบวนการ ผลิตภัณฑ์ บริการ โดยการจัดการทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพ มีการหมุนเวียนของทรัพยากรหรือวัสดุ ซึ่งจะส่งผลให้ลดการเกิดของเสีย หรือไม่เกิดของเสียเกิดขึ้นเลย

สำหรับอุตสาหกรรม MICE สามารถประยุกต์แนวคิดเศรษฐกิจดังกล่าว โดยออกแบบการจัดงานเพื่อให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ใช้พลังงานหมุนเวียนภายในสถานที่จัดงาน ออกแบบอาหารให้พอดีกับจำนวนผู้ร่วมงาน อุปกรณ์ตกแต่งงานสามารถรีไซเคิลได้เพื่อลดขยะ ฯลฯ ทั้งนี้ ต้องอาศัยการวางผนในการจัดงานอย่างรอบด้าน ตั้งแต่ก่อนเริ่มงาน ขณะจัดงาน และหลังจบงาน

3. The Attention Economy คือ ระบบเศรษฐกิจที่เน้นการดึงความสนใจของผู้คนมาสู่ผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการ ผู้บริโภคจะอาจไม่ได้ใช้ตัวเงินในการแลกเปลี่ยนสินค้าหรือบริการ แต่อาจเป็นข้อมูลส่วนตัว เวลา โอกาส (Opportunity Cost)

เศรษฐกิจแบบดังกล่าวอาจวัดความสำเร็จที่ยอดการมีส่วนร่วม (Engagement) ยอดการกดถูกใจ ยอดแชร์ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจแบบดังกล่าวอาจยังมีข้อกังวลด้านจริยธรรมอยู่

ส่วนการบรรยายในหัวข้อ “Innovative Venues” นางจารุวรรณ สุวรรณศาสน์ ผู้อำนวยการฝ่าย MICE Intelligence และนวัตกรรม ทีเส็บ เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมไมซ์จำเป็นต้องปรับตัวเพื่อให้เท่าทันกับเทคโนโลยี ทีเส็บในฐานะผู้ให้บริการสนับสนุนการประกอบธุรกิจ (Facilitator) จะเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการ เพื่อต้อนรับปี 2566 ที่นักท่องเที่ยวจะเดินทางเข้ามามากขึ้น

นอกจากนี้ ทีเส็บยังให้ความสำคัญกับการจัดงานที่ยั่งยืน ตัวอย่างเช่น การยกระดับสถานที่จัดงาน โดยสถานที่จัดงานต้องมีความพร้อมด้านการรักษาความสะอาด การจัดงานแบบไฮบริดที่ผู้ร่วมงานอาจมีทั้งออนไซต์และออนไลน์

นายพัฒนะ ลี กรรมการผู้จัดการ SYN Boutique Hotel ระบุว่า ในอนาคตการให้บริการของผู้ประกอบการจะต้องเตรียมพร้อมเพื่อรองรับความต้องการที่จะมีความเฉพาะเจาะจงแต่ละบุคคลมากขึ้น ผู้ประกอบการอาจต้องนำเสนอประสบการณ์ที่ดีที่สุด เพื่อต่อกรกับแนวโน้มที่ปริมาณของผู้ร่วมงานไมซ์ที่อาจลดลงด้วยเทรนด์การจัดงานแบบไฮบริด โดยไม่ต้องเข้าร่วมกับสถานที่จัดงาน

ด้านนายอภิรัตน์ หวานชะเอม Chief Digital Officer บริษัท SCG Cement-Building Materials จำกัด (SCG-CBM) เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการไมซ์สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี Metaverse ที่ทลายข้อจำกัดด้านสถานที่จัดงาน

โดยอาจขยายอุตสาหกรรมไมซ์ให้ไปมากกว่าประเทศไทย แต่ประเทศไทยยังเป็นศูนย์กลางในการจัดงาน เช่น ผู้จัดงานอาจใช้เทคโนโลยีเมตาเวิร์สสร้างประสบการณ์การร่วมงาน MICE ไปทั่วโลก แต่ประเทศไทยยังเป็นเวทีกลางในการจัดงาน ใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างการเข้าถึงของผู้คนที่หลากหลายมากขึ้น ลดข้อจำกัดทั้งด้านพรมแดน สถานที่ ภาษา

ทั้งนี้ เมื่อการจัดงานสำเร็จลุล่วง จะสะท้อนถึงความพร้อมของประเทศไทยในการจัดงานทั้งด้านกายภาพ รวมถึงศักยภาพด้านเทคโนโลยี และเกิดผลพลอยได้ด้านการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวของประเทศ