รู้จักระบบ Net Billing และ Net Metering การซื้อ-ขายไฟที่ทำให้คนไทยจ่ายค่าไฟลดลง?

หลังจากได้บิลค่าไฟมาครอบครอง 2-3 เดือนติด ทำให้หลายคนคิดอยากจะติดโซลาร์เซลล์ (Solar Cell) เพื่อในอนาคตจะได้ช่วยลดค่าไฟ หรือถ้าเหลือใช้ก็สามารถขายคืนเข้าระบบให้แก่การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้ ซึ่งตามโครงการโซลาร์ภาคประชาชน (Solar Rooftop) แจ้งไว้ว่าจะรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อปในราคา 2.20 บาทต่อหน่วย หรือที่เรียกว่าระบบ Net Billing

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันต่างมีเสียงสนับสนุนนโยบายการคิดค่าไฟฟ้าแบบหักลบกลบหน่วยตามจริง หรือ Net Metering ซึ่งแตกต่างออกไปจาก Net Billing บทความนี้เราจึงจะพาไปทำความรู้จักการรับซื้อไฟฟ้าดังกล่าวว่ามีข้อดี-ข้อเสียอย่างไร 

ในปัจจุบันประเทศไทยคิดค่าไฟในโครงการโซลาร์ภาคประชาชน แบบ “Net Billing” คือ การคำนวณค่าไฟแบบแยกคิดระหว่างค่าซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้าเข้าสู่บ้าน กับค่าขายไฟฟ้าจากโซลาร์ให้การไฟฟ้า แล้วจึงนำเงินค่าขายไฟฟ้ามาหักลบกัน เช่น ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา เราใช้ไฟไปทั้งหมด 700 หน่วย แต่สามารถผลิตไฟฟ้าได้เอง 400 หน่วย นำมาใช้ภายในบ้านเพียง 300 หน่วย ส่วนที่เหลืออีก 100 หน่วย ขายเข้าสู่ระบบให้การไฟฟ้าในราคา 2.20 บาทต่อหน่วย เป็นเงิน 217.80 บาท (หักภาษี ณ ที่จ่าย 1%) และในเวลาที่โซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าไม่ได้ ทำให้เราต้องซื้อไฟจากการไฟฟ้ารวม 400 หน่วย (เฉลี่ยหน่วยละ 5.40 บาท) คิดเป็นค่าไฟฟ้า 2,067.34 บาท เท่ากับว่าเดือนนั้นเราจะจ่ายค่าไฟอยู่ที่ 1,849.54 บาท ลดลงจากก่อนติดโซลาร์เซลล์ 1,929.88 บาท

ในขณะที่ระบบ Net Metering” เป็นการคำนวณค่าไฟแบบหักลบหน่วยไฟฟ้าระหว่างหน่วยไฟฟ้าที่ซื้อจากการไฟฟ้ากับหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้เองจากโซลาร์เซลล์ ด้วยการเอาไฟฟ้าที่ใช้จำนวน 700 หน่วย ลบออกจากไฟฟ้าที่ผลิตได้เอง 400 หน่วย ดังนั้นบ้านหลังนี้จึงจ่ายค่าไฟเพียงจำนวน 300 หน่วย ทำให้จ่ายค่าไฟเพียง 1,518.03 บาท ลดลงจากก่อนติดโซลาร์เซลล์ 2,261.39 บาท ซึ่งเมื่อเทียบกับระบบ Net Billing สามารถลดค่าไฟได้มากกว่าประมาณ 300 บาท 

มาถึงตรงนี้หลายคนอาจจะสงสัยว่า ในเมื่อ Net Metering ทำให้คนที่ติดโซลาร์รูฟท็อปได้ลดค่าไฟมากกว่า แล้วทำไมประเทศไทยจึงไม่เลือกใช้ระบบนี้ ?

ดร.สิริภา จุลกาญจน์ นักวิจัยจากสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ระบบ Net billing เป็นกลไกที่พัฒนาจาก Net Metering เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการปรับค่าไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อปที่ไหลเข้าสู่ระบบโครงข่ายให้สมดุลกับปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศ โดยการกำหนดค่าไฟฟ้าที่เหมาะสมควรพิจารณาจากผลกระทบของโซลาร์รูฟท็อปต่อระบบไฟฟ้าของประเทศ เช่น หากไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อปไม่ได้ช่วยลดต้นทุนของระบบไฟฟ้า เพราะผู้ติดตั้งโซลาร์เซลล์ยังต้องใช้ไฟฟ้าจากระบบของการไฟฟ้าอยู่ ราคาที่รับซื้อไฟจากโซลาร์รูฟท็อปควรต่ำกว่าอัตราค่าไฟฟ้าขายปลีก

แต่หากไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อปสามารถช่วยลดการลงทุนของระบบไฟฟ้าได้ ก็อาจตั้งราคารับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อปให้สูงกว่าอัตราค่าไฟฟ้าขายปลีกได้

นอกจากนี้การให้บริการไฟฟ้าไม่ได้มีแต่ต้นทุนจากเชื้อเพลิงเท่านั้น แต่ยังมีต้นทุนจากโครงข่ายระบบไฟฟ้า อาทิ เสาไฟฟ้า สายไฟฟ้า หม้อแปลง มิเตอร์ ซึ่งการไฟฟ้ามักจะทยอยเก็บต้นทุนส่วนนี้จากผู้ใช้ไฟฟ้าผ่านทางหน่วยจำหน่ายไฟฟ้า ดังนั้นหากจำนวนผู้ใช้ไฟฟ้าหายไปเพราะหันไปใช้โซลาร์รูฟท็อป ต้นทุนการลงทุนดังกล่าวก็จะถูกเกลี่ยให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าที่ยังคงเหลืออยู่ในระบบแบกรับไป หมายความว่าประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าที่ไม่ได้ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปซึ่งมีจำนวนมากกว่าก็จะจ่ายค่าไฟแพงขึ้น

“การใช้กลไกทั้งแบบ Net Metering และ Net Billing มักใช้ส่งเสริมการติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์เพื่อเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองเป็นหลัก ไม่ได้เน้นให้ผลิตเพื่อการขายไฟฟ้า

ทั้งนี้ภาคนโยบายจึงต้องพิจารณาว่าจะทำอย่างไรให้คนที่ซื้อไฟฟ้าจากระบบโครงข่ายไฟฟ้าสามารถเลือกแหล่งผลิตไฟฟ้าได้เอง และเกิดความเป็นธรรมกับทุกภาคส่วนในธุรกิจไฟฟ้า ทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการรวมถึงการไฟฟ้าด้วย” ดร.สิริภากล่าว

ด้าน รศ.ดร.สุรชัย ชัยทัศนีย์ หัวหน้าสาขาวิชาไฟฟ้ากำลัง คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยผลการศึกษาวิเคราะห์โครงการนำร่องการส่งเสริมติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเสรีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ร่วมกับกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน พบว่า หากส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปด้วยระบบ Net Metering จะทำให้มีผู้สนใจลงทุนติดตั้งจำนวนมาก และส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่มีฐานะการเงินที่ดี เพราะนอกจากจะลดภาระค่าไฟฟ้าของตัวเองลงได้มากแล้ว ยังมีรายได้จากการขายไฟฟ้าส่วนเกินในอัตราค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นเทียบเท่ากับอัตราขายปลีก 

แต่ขณะเดียวกันก็จะเป็นการผลักภาระไปให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่อีก 23.31 ล้านราย ที่ไม่มีกำลังติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปทำให้ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพงขึ้น เนื่องจากการไฟฟ้าต้องรับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบในราคาแพงกว่าต้นทุนเฉลี่ยที่ผลิตได้ รวมถึงต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในการจัดหาพลังงานไฟฟ้าเพื่อเป็นระบบไฟฟ้าสำรองให้กับพลังงานหมุนเวียนเหล่านี้ โดยผลการศึกษาพบว่า ถ้าหากรัฐมีการส่งเสริมโซลาร์รูฟท็อปจำนวน 1,000 เมกะวัตต์ จะทำให้ค่าไฟฟ้าโดยรวมเพิ่มขึ้นประมาณ 3.5 สตางค์ต่อหน่วย และหากโซลาร์รูฟท็อปมีจำนวน 5,000 เมกะวัตต์ จะทำให้ค่าไฟฟ้าโดยรวมเพิ่มขึ้นประมาณ 17.6 สตางค์ต่อหน่วย

 “แนวทางการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ในประเทศไทยจึงควรเริ่มจากการผลิตเพื่อใช้เองก่อน หากมีส่วนที่เหลือจึงขายคืนให้ระบบไฟฟ้า ในลักษณะเดียวกับ Net Billing โดยโครงการโซลาร์ภาคประชาชนในปัจจุบันที่มีอัตราการรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินที่ 2.20 บาทต่อหน่วย และอาจต้องมีการทบทวนอัตรารับซื้อเป็นระยะ ส่วนการส่งเสริมระบบ Net Metering ควรกำหนดปริมาณที่เหมาะสมเน้นเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่มีความจำเป็นหรือเดือดร้อนเรื่องภาระค่าไฟฟ้าจริง ๆ ไม่เช่นนั้น ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วไปจะกลายเป็นผู้ที่ต้องรับภาระค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นแทน” รศ.ดร.สุรชัย แสดงความคิดเห็นปิดท้าย

ดังนั้น แม้ระบบ Net Billing อาจทำให้ผู้ที่ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปได้ลดค่าไฟฟ้าน้อยกว่าระบบ Net Metering แต่การคำนึงถึงความเป็นธรรมต่อผู้ใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่ของประเทศ ที่ต้องร่วมแบกรับภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าก็เป็นเรื่องสำคัญที่ไม่อาจมองข้ามได้ ทำให้นโยบายการส่งเสริมโซลาร์รูฟท็อปของประเทศไทยต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ ไม่ให้กระทบต่อค่าไฟฟ้าโดยรวมของคนไทยทั้งประเทศ