จับเทรนด์ลงทุนแห่งอนาคต ล้อมาตรการรัฐจูงใจซื้อรถ EV

ไทยพาณิชย์จับเทรนด์ลงทุนแห่งอนาคต ล้อมาตรการรัฐจูงใจซื้อรถ EV คาดผู้เล่นใหม่แห่เข้าลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าพุ่ง แนะลงทุนหุ้นระยะยาว เชียร์ “PTT-DELTA”

วันที่ 14 มีนาคม 2565 นางสาวระวีนุช ปิยะเกรียงไกร ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า SCBS มองธีมของยานยนต์ไฟฟ้าหรือ EV อาจจะไม่ใช่ธีมใหม่ แต่ในแง่การลงทุนสามารถ “ลงทุนระยะยาว” ได้ เพราะในช่วงสั้นเห็นพัฒนาการเชิงบวกของยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นในประเทศไทย

โดยถ้ามามองภาพระยะยาวก่อน ประเทศไทยตั้งเป้าจะเป็น “ศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของเอเชีย” ซึ่งเป้าที่ทางรัฐบาลวางไว้คือจะผลิตยานยนต์ไฟฟ้าให้ได้ 30% ของรถทุกประเภทในปี 2030

และในระยะสั้นพัฒนาการเชิงบวกที่เราเห็น ก็คือมาตรการสนับสนุน ย้อนไปคือในเรื่องของซัพพลายหรือผู้ผลิตของการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และล่าสุดเมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2565 เห็นมาตรการการสนับสนุนผู้ใช้รถอีวีในเรื่องการลดภาษีและให้เงินอุดหนุน

“ต้องบอกว่ายานยนต์ไฟฟ้าในบ้านเรา ตลาดยังไม่ใหญ่มาก ยอดขายต่อปีคิดเป็นประมาณ 2% ของยอดขายโดยรวมทั้งหมด แต่การเติบโตในระยะยาวมี จากมาตรการสนับสนุนของทางภาครัฐ ดังนั้นแล้วเรามองว่าจากการเติบโตในระยะยาว เราจะเห็นผู้เล่นใหม่เข้ามาในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น” นางสาวระวีนุช กล่าว

อย่างเช่น ตัวแบตเตอรี่ เช่น บริษัทที่มีการเผยแผนออกมา ก็จะมีเกี่ยวกับหุ้น บมจ.บ้านปู(BANPU) บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC)

ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ มีส่วนสำคัญเหมือนกันกับยานยนต์ไฟฟ้า ก็จะมี บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) (DELTA) บมจ.เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ (KCE) บมจ.ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส (HANA) บมจ.ช ทวี (CHO) หรือว่า บมจ.ไพโอเนียนร์ มอเตอร์(PIMO)

ด้านผู้ประกอบยานยนต์ไฟฟ้าไม่ใช่แค่ค่ายรถยนต์เดิม จะเห็นผู้เล่นใหม่เข้ามา ก็จะมี บมจ.ปตท. (PTT) ที่จะมีการจับมือกับทางฟ็อกซ์คอนน์ (Foxconn) ในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงรถที่เป็นมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าด้วย และรถบัส และเรืออย่างตัวของ EA รวมไปถึง บมจ.ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป (CWT)

และที่ลืมไม่ได้คือระบบชาร์จอีวี ที่จะเห็นว่ามีผู้เล่นคือ DELTA, EA รวมถึงผู้ประกอบการที่เป็นสถานีบริการน้ำมันอย่าง บมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก(OR) บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) และก็ บมจ.พีทีจี เอ็นเนอยี (PTG)

“ถ้าเราลองดูหุ้นที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้าค่อนข้างครบในแง่ของซัพพลายเชน ก็จะมี PTT ที่จะมีทั้งการประกอบ แบตเตอรี่ และเครื่องชาร์จ EV และก็จะมีตัวของ EA”

นางสาวระวีนุช กล่าวต่อว่า ต้องบอกว่าช่วงปีที่แล้วจะเป็นปีที่ความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นเกี่ยวข้องยานยนต์ไฟฟ้าถือว่าค่อนข้างคึกคัก โดยเฉพาะในช่วงของไตรมาส 4/2564 จากกระแสข่าวมาตรการสนับสนุนผู้ใช้อีวี แต่พอมาช่วงต้นปี 2565 เห็นการพักฐานบ้างตามภาพของตลาดหุ้นไทย

“ช่วงสั้นในแง่ของกำไรหรือรายได้ที่จะมาจากยานยนต์ไฟฟ้าอาจจะยังไม่ได้เห็นอย่างมีนัยสำคัญ เพราะเป็นช่วงเริ่มแรกของการเริ่มผลิตยานยนต์ไฟฟ้า แต่ในระยะยาวเราเชื่อว่ามีการเติบโตที่ดี ดังนั้นคำแนะนำให้นักลงทุนให้ความสำคัญกับการทำได้จริงของแผนต่าง ๆ ที่ทางบริษัทต่าง ๆ ได้มีการประกาศออกมา เพราะตรงนี้จะสะท้อนถึงความแข็งแกร่งของการอยู่ในซัพพลายเชนของยานยนต์ไฟฟ้าในระยะยาว”

สำหรับในแง่หุ้นที่เกี่ยวข้องกับอีวีที่ทาง SCBS มีการวิเคราะห์ ก็จะมี PTT ถือว่าค่อนข้างครบในมุมของซัพพลายเชน ให้ราคาเป้าหมายสิ้นปีนี้ 52 บาท และอีกตัวหนึ่งคือ DELTA ในมุมการเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และธุรกิจเครื่องชาร์จ EV ด้วย ให้ราคาเป้าหมายอยู่ที่ 514 บาท