NFT โอกาสใหม่ ‘แกรมมี่’ สร้างการเติบโต-ไร้ขีดจำกัด

กระแสสินทรัพย์ดิจิทัลในเมืองไทยได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้นตลอดช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา นอกจากคริปโตเคอร์เรนซีแล้ว อีกหนึ่งสินทรัพย์ดิจิทัลที่มาแรงไม่แพ้กัน คือ NFT (Non-Fungible Token) ที่ได้รับความนิยมเป็นวงกว้างในกลุ่มศิลปะและนักสะสม ไม่ว่าจะเป็น ดนตรี เกม และแฟชั่น

ขณะเดียวกัน หลายธุรกิจจากหลากวงการก็เริ่มให้ความสำคัญกับสินทรัพย์ดิจิทัลมากขึ้น เช่นเดียวกับ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GMM ยักษ์วงการเอ็นเตอร์เทนเมนต์ไทยที่เริ่มรุกคืบเข้ามา โดยพุ่งเป้าไปที่ NFT เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ด้วยการเปิดตัว Music NFT ครั้งแรกในวงการเพลงไทย

“ภาวิต จิตรกร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายธุรกิจ จีเอ็มเอ็ม มิวสิก บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) กล่าวในงานสัมมนา “สินทรัพย์ดิจิทัล Game Changer เดิมพันเปลี่ยนอนาคต” ที่จัดขึ้นโดยหนังสือพิมพ์ “ประชาชาติธุรกิจ”

บุก NFT เคลื่อนตัวสู่โลกอนาคต

“ภาวิต” เริ่มต้นฉายภาพของจีเอ็มเอ็มฯ ภายใต้กระแสของสินทรัพย์ดิจิทัลที่กำลังมาแรงในขณะนี้ว่า แกรมมี่ถือเป็นรายเล็ก ๆ ในโลกสินทรัพย์ดิจิทัล ทั้งคริปโตเคอร์เรนซี หรือ NFT สิ่งที่บริษัทเดินหน้าในขณะนี้คือ การเคลื่อนตัวเองไปสู่โลกอนาคต ไปสู่ธุรกิจที่ไม่ได้พึ่งพา physical เป็นส่วนใหญ่

ปัจจุบันแหล่งรายได้หลักของแกรมมี่ไม่ใช่ เทป ซีดี เหมือนเดิมแล้ว แต่รายได้หลักอยู่ในโลกของสตรีมมิ่ง (ออนไลน์) หรือโลกยุค web 2.0 ผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ ทั้ง ยูทูบ, เฟซบุ๊ก ฯลฯ นั่นคือแนวทางในการพลิกรายได้ของบริษัทสู่ดิจิทัลในช่วงที่ผ่านมา

ขณะที่การเดินเข้าสู่โลกของ web 3.0 (ยุคใหม่ของอินเทอร์เน็ตที่จะมีความฉลาดมากขึ้น สามารถทำสิ่งต่าง ๆ อย่างเช่น วิเคราะห์ข้อมูล ได้ใกล้เคียงกับมนุษย์มากขึ้น) ทำให้เทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่าง machine learning (ML), big data, artificial intelligence (AI), blockchain เป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ แกรมมี่จึงเข้าไปศึกษา เพื่อหาโอกาสในโลกธุรกิจใหม่

หากพูดถึงนิยาม NFT หรือ Non-Fungible Token ว่าคืออะไร จริง ๆ แล้ว NFT ก็เหมือนโฉนดที่มีความเฉพาะตัว และเป็นเรื่องของสิทธิในการครอบครอง ปัจจุบันเรื่อง NFT ส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นจะอยู่ในวงการศิลปะในตลาดโลก แต่จริง ๆ ก็ไม่ได้มีวงการศิลปะวงการเดียว ในต่างประเทศมีทั้งวงการศิลปะ วงการกีฬา วงการเกม ก็มีการทำเรื่อง NFT มากขึ้น

“ที่ผ่านมาในวงการ NFT มีการซื้อขายสินค้ามูลค่าที่ค่อนข้างมาก อย่างรูปของจัสติน บีเบอร์ ที่มีคนซื้อไป มีมูลค่าถึง 44 ล้านบาท ซึ่งสะท้อนว่าการขับเคลื่อนของโลกเร็วกว่าที่คิด การที่คนที่เป็นผู้นำในสังคมเริ่มมีอิทธิพล โดยเฉพาะคนที่เป็นดารา นักแสดง นักร้อง เริ่มให้ความสนใจธุรกิจนี้ ทำให้กลายเป็นเรื่องของ NFT ที่มีมูลค่าที่สูง”

มุ่งสร้าง New Money

คีย์แมน จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ย้ำว่า เมื่อพูดถึงคริปโต เรื่องของ NFT หรือแม้กระทั่งเมต้าเวิร์ส (metavers) จริง ๆ แล้วก็เหมือนเรื่องของ new money หรือกระแสเงินใหม่ สำหรับแกรมมี่วัตถุประสงค์หลักคือ อยากสร้างความมั่งคั่ง อยากสร้างธุรกิจให้เติบโต

ดังนั้น การสร้างการเติบโตของวงการเพลงในยุคนี้ ถือเป็นคอนเน็กชั่นระหว่างคน 3 คน ได้แก่ บริษัท ศิลปิน และแฟนคลับ โดยมีการนำกลยุทธ์เรื่องของ fandom และ fanpage marketing เข้ามาเป็นหัวใจสำคัญเพื่อผสาน 3 ส่วนนี้ในโลก physical เพื่อสร้างความสัมพันธ์ในธุรกิจยุคใหม่ ในโลกดิจิทัล หรือแม้แต่ในโลกของสินทรัพย์ดิจิทัล โดยมูลค่าของความมั่งคั่งที่เกิดขึ้น เกิดเป็นคำนิยามง่าย ๆ คือ เข้าถึง ครอบครอง และลงทุน

“เมื่อคุณมีความรักในตัวศิลปิน รักในสิ่งที่เขาทำ การเข้าถึงย่อมมาแน่นอน การมีโอกาสได้ครอบครองเป็นสิ่งที่ในอดีตไม่มีการเกิดขึ้น ไม่สามารถครอบครองสิ่งของต่าง ๆ ของศิลปินได้

ขณะที่การลงทุนมีส่วนในธุรกิจยิ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก ดังนั้นจึงเชื่อว่าโอกาสของโลกยุคดิจิทัลมีโอกาสสร้างการเติบโตได้อย่างไม่มีขีดจำกัด”

วันนี้การที่บริษัทจะเดินเข้าสู่โลก NFT มีการเชื่อมต่อกับเรื่องนี้ได้ผ่าน 3 เรื่องหลัก ประกอบด้วย 1.เรื่องของความครบถ้วน แกรมมี่มีมาร์เก็ตแชร์ในตลาดมากกว่า 80% นั่นแปลว่าตัวเราผลิตผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับเพลงออกมาทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น เพลง ศิลปิน การจำหน่ายสินค้า คอนเสิร์ต เฟสติวัล

เรื่องเหล่านี้สามารถนำมาเป็นรูปธรรมได้หรือไม่ 2.บริษัทอยู่มาเกือบ 4 ทศวรรษ ตั้งแต่ยุค “พี่เต๋อ-เรวัต พุทธินันทน์” จนมายุคปัจจุบันที่มีน้อง ๆ รุ่นใหม่ แปลว่าในประวัติศาสตร์ของแกรมมี่คงมีของให้เป็น rare items อยู่มากมาย

และ 3.วงการเพลงเป็นเรื่องข้องธุรกิจที่ต้อง scale ปัจจุบันแกรมมี่มี asset อยู่มากกว่า 5 หมื่นเพลง มีภาพของเพลงทุกรูปแบบ มีสิทธิของคอนเสิร์ตบันทึกภาพ หรือแม้กระทั่งสิ่งของที่อยู่เป็นองค์ประกอบ เช่น เสื้อของพี่เบิร์ด ธงไชย ในแบบ เบิร์ด เบิร์ด ครั้งที่ 1 นี่คือ value ที่เรามีอยู่ และเราเรียกสิ่งนี้ว่า hidden asset และจะทำอย่างไรให้ hidden asset เหล่านี้เดินไปสู่โลกอนาคต

ฉะนั้น สิ่งที่จะก้าวเข้าไปเกี่ยวของกับสินทรัพย์ดิจิทัลคือ การผลิตรายการสินทรัพย์ (inventory) โดยเฉพาะเรื่องของ music inventory ขึ้นไปค้าขาย โดยจะไม่เปลี่ยนตัวเองเป็นแพลตฟอร์ม

“ในอดีตเราผลิต physical products เทป ซีดี ศิลปิน เวลาเทิร์นเป็น NFT แอสเซตเหล่านี้จะเปลี่ยนได้อย่างไร music สามารถเปลี่ยนเป็น visual collectable เป็นทั้ง audio collectable คอนเสิร์ตสามารถเปลี่ยนเป็น เมตาเวิร์ส คอนเสิร์ต, ศิลปินสามารถสร้างสินค้า สร้างผลงาน เมื่อเราเห็นสิ่งเหล่านี้จึงสร้างแผนงานดิจิทัลขึ้นมา”

วางยุทธศาสตร์ 4 Tiers

“ภาวิต” ยังระบุด้วยว่า ที่ผ่านมาแกรมมี่ได้วางยุทธศาสตร์เป็น 4 tiers คือ กลุ่มสินค้าที่มี innovation และมีความ exclusive แบ่งออกเป็น 1.special collection สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนเพิ่งเริ่มต้นเข้ามาในโลกของ music NFT ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้จะเน้นความ mass เข้าถึงง่าย ราคาไม่แพง 2.rare collection เป็นสินค้าที่มีจำกัด

และเป็น unseen item 3.epic collection กลุ่มสินค้าที่ไม่มีการผลิตซ้ำ เป็น moment พิเศษที่เป็นตัวแทนของความทรงจำที่มีคุณค่า ให้แฟน ๆ ได้เข้าถึงและสามารถครอบครองได้ และ 4.legendary collection เป็นสินค้าและผลงานของศิลปินระดับตำนาน มีเรื่องราวความเป็นมา หายาก บางชิ้นนับเป็นประวัติศาสตร์ของวงการดนตรีที่มีเพียงชิ้นเดียวในโลก

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ยากคือ คนที่อยู่ในกระแสคริปโต และตลาด NFT ปัจจุบันมีค่าเฉลี่ยประมาณ 5 คน แต่ไม่ได้แปลว่า 5 คนดังกล่าวจะสร้างเม็ดเงินสะพัดได้มากหรือน้อย ดังนั้น หากต้องการให้เกิดการลงทุน ต้องวางสินค้าให้หลากหลาย และช่องทางการเข้าถึงทุก ๆ แพลตฟอร์มต้องเข้าถึงง่าย ราคาถูก สะสมง่าย

โดยสิ่งสำคัญในธุรกิจนี้จะต้องมี special collection ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของ fandom items เช่น เรื่องของการ์ด จะเห็นว่าในต่างประเทศสร้างการ์ดเป็นเวอร์ชั่นต่าง ๆ ให้สะสม และในการ์ดมีสิทธิพิเศษของศิลปิน สิ่งเหล่านี้สร้างมาเพื่อเจาะกลุ่มคนที่ยังไม่รู้เรื่อง NFT

ขณะที่อีกกลุ่มเป็นกลุ่มในโลกความเป็นจริงของวงการเพลง ที่มีทั้งแฟนเพลง แฟนคลับ และสาวก ซึ่งส่วนใหญ่แฟนเพลงฟังฟรี แฟนคลับจ่ายแบบมีข้อจำกัด หรือเป็นการจ่ายเฉพาะสนับสนุนศิลปิน และมีความคุ้นชินกับการซื้อสินค้าคอลเล็กชั่น ที่เกิดขึ้นมาเป็นสินทรัพย์ดิจิทัล ทำให้ผู้คนได้สะสมเพื่อเอาไปใช้ในโลกอนาคต

ผนึก 4 แพลตฟอร์มยักษ์

อย่างไรก็ตาม ในแง่ธุรกิจเดินคนเดียวไม่ได้ องค์กรเป็นผู้สร้างศิลปินให้มีคุณภาพ และมีวิสัยทัศน์ทางธุรกิจ เรื่องการทำ NFT จึงได้ร่วมมือกับ 4 แพลตฟอร์มยักษ์ อาทิ ZIPMEX, bitkub, coral และ EAST เพื่อผลักดันสินค้า NFT เข้าไปอยู่ในทุกช่องทางของแพลตฟอร์มคริปโต

โดยเลือกวางกลยุทธ์ที่ชัดเจนและแตกต่างในแต่ละแพลตฟอร์ม ที่จะเพิ่มมูลค่าและสร้างรายได้จากการซื้อขายชิ้นงานไร้ขอบเขต การกำหนดราคาต้องวางจากราคาต่ำไปสูง เพื่อให้เข้าถึงได้หลากหลาย เนื่องจากปัจจุบันอาจจะบอกว่า คนเล่นคริปโตเป็นกลุ่มเด็ก หรือกลุ่มคนมีอายุ แต่วันนี้มีโอกาสที่ทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงได้

สำหรับวิธีที่เราทำ NFT ออกมา คือมองระยะสั้น กลาง และไกล วิธีการเริ่มต้นด้วยการทดสอบตลาด ด้วยการผลิตอัลบั้ม ที่เดิมทีได้ทำให้ศิลปินอยู่แล้ว เพียงแต่วันนี้รวม NFT ให้อยู่ในเรื่องเดียวกัน เพื่อให้ธุรกิจครบวงจร หรือให้เป็น digital asset : มิติใหม่แห่งการลงทุน ยกตัวอย่าง GMM getsunova XZIP NFT คอลเล็กชั่นแรกจาก getsunova ออกอัลบั้มใหม่

สิ่งเหล่านี้เกิดมาเป็น NFT คอลเล็กชั่น เพื่อให้คนรู้สึกว่าองค์ประกอบของศิลปะที่อยู่ในอัลบั้มดังกล่าวเป็นสิ่งที่ผู้คนอยากสะสม พร้อมกับเนื้อหาคอนเทนต์ของเพลงเพลง นั้น เมื่อวางจำหน่ายขายหมดทันทีใน 4 ชั่วโมง

นับเป็นก้าวแรกที่ต้องการเรียนรู้ไปพร้อมผู้บริโภค แทนที่จะคิดว่าสร้างออกมาเพื่อให้มีราคาถูกมากที่สุด กลับกลายว่าเป็นของที่แพงที่สุด เพราะขายไปแล้วสามารถนำไปขายต่อในตลาดได้ ด้วยราคาที่สูงขึ้นถึง 500%

นี่คือ ก้าวเล็ก ๆ ในตลาด NFT ที่มีวิสัยทัศน์ เดินไปไกลในโลกธุรกิจ NFT และเมต้าเวิร์ส

นี่คือ โอกาสในโลกอนาคต ที่แกรมมี่มองเห็น และต้องการจะสร้างให้เป็นแม่น้ำสายใหม่ของธุรกิจ