แกรมมี่ ลุย MUSIC NFT ผลิตสินค้าแรร์ไอเทมป้อนโลกดิจิทัล

จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เคลื่อนทัพหาโอกาสธุรกิจใหม่ ลุย “MUSIC NFT” ผลิตสินค้าแรร์ไอเทมเพิ่มมูลค่า – สร้างรายได้

วันที่ 24 มีนาคม 2565 นายภาวิต จิตรกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายธุรกิจจีเอ็มเอ็มมิวสิค บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) กล่าวในงาน “สินทรัพย์ดิจิทัล” Game Changer เดิมพันเปลี่ยนอนาคต ที่จัดขึ้นโดย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จีเอ็มเอ็มแกรมมี่ ถือเป็นน้องเล็กในอุตสาหกรรม ในตลาดคริปโตเคอร์เรนซี NFT และเมตาเวิร์ส จากนี้ต้องการเคลื่อนตัวไปสู่อนาคต โดยไม่พึ่งพาธุรกิจเดิมๆต้องศึกษาและหาโอกาสเข้าสู่ธุรกิจใหม่ๆ โดยปัจจุบันบริษัทมีรายได้หลักบนโลกสตรีมมิ่ง ทั้งจากแพลตฟอร์ม ยูทูบ เฟซบุ๊ก และการร่วมมือกับพาร์ตเนอร์เพื่อสร้างรายได้ด้านดิจิทัล

เช่นเดียวกับ เริ่มก้าวสู่ธุรกิจ NFT เรายังไปไม่ถึงเมตาเวิร์ส สำหรับ NFT หรือ เหรียญโทเคนดิจิทัล ที่เปรียบเหมือนโฉนด ซึ่งเป็นสิทธิในการครอบครองผลงาน และเป็นเรื่องของวงการศิลปะที่เกิดขึ้นในตลาดโลก วันนี้เมื่อมีเรื่องบล็อกเชนเข้ามาทำให้งานศิลปะเข้าไปอยู่ในโลกNFT ได้ ในทุกวงการศิลปะ กีฬาเกม เพลงเข้าไปในตลาดนี้ได้ทั้งหมด

เมื่อถามว่า สิ่งต่างๆเหล่านี้จะเดินหน้าไปได้อย่างไร ยกตัวอย่าง ภาพวานรในรูปแบบ NFT หรือที่รู้จักกันว่า ภาพลิงเหงา ที่เปิดขายภาพดิจิทัล YUGALUBF ที่มีคนซื้อครอบครองในราคา 44 ล้านบาท ทำให้เห็นว่าการเคลื่อนตัวของโลกเร็วกว่าที่เราคิด คนที่เป็นผู้นำในสังคม ดารา นักแสดง นักร้องเริ่มให้ความสนใจ NFT ทำให้บริษัทต้องปรับฐานธุรกิจให้พร้อมกับคริปโตเคอร์เรนซี เมตาเวิร์ส ที่เป็นกระแส New Money Wifi อนาคตบริษัทจะอยู่ในเรื่องเหล่านี้

 

ต่อจากนี้ จีเอ็มเอ็มแกรมมี่ ต้องการสร้างธุรกิจให้เติบโต ในยุควงการเพลงเป็นคอนเน็กชั่นระหว่างคน 3 คน บริษัท ศิลปิน แฟนคลับ ปัจจุบันเราได้ยินเรื่องแฟนด้อม เมื่อคนมีความรักในตัวศิลปิน ทำให้มีโอกาสสูงที่จะเกิดสัมพันธ์ในโลกดิจิทัล ไปสู่สินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อเข้าถึงครอบครองและการลงทุน ซึ่งเชื่อว่าโอกาสอุตสาหกรรมเพลงจะสามารถสร้างการเจริญเติบโตได้ไม่มีขีดจำกัด

“เราสร้างเม็ดเงินจากโซเซียลมีเดีย เดินเข้าโลก NFT ปัจจุบันแกรมมี่มีมาร์เก็ตแชร์ 80% ในตลาดอุตสาหกรรมเพลง เราผลิตเพลง คอนเสิร์ต เฟสติวัล เป็น NFT ได้ เนื่องจากบริษัทอยู่ 4 ทศวรรษตั้งแต่ยุคพี่เต๋อ เรวัต พุทธินันทน์ จนถึงยุคศิลปินรุ่นใหม่ ที่ผ่านมามีสินค้าแรร์ไอเทม ทั้งเพลง กว่า 5 หมื่นเพลง มีลิขสิทธิ์คอนเสิร์ต และสิ่งของศิลปิน ทั้งหมดคือแวลู่ที่เรามีอยู่ ซึ่งอาจมีคนอยากได้ครอบครองในโลกสินทรัพย์ดิจิทัล”

ทั้งหมดคือสิ่งที่อยากสร้างให้เกิด “MUSIC NFT” เพราะมีแพลตฟอร์มต่างๆเกิดขึ้นหลากหลาย เราเป็นคนผลิตคอนเทนต์ ต้องการผลิตรายการทรัพย์สินขึ้นไปขาย โดยเชื่อว่าธุรกิจเล็กๆอย่างวงการเพลงสามารถสร้างโอกาสสู่โลกสินทรัพย์ดิจิทัล ที่ผ่านมามีการร่วมมือกับ 4 แพลตฟอร์ม ZIPMEX ,bitkub,coral และ EAST โดยเลือกวางกลยุทธ์ที่ชัดเจนและแตกต่าง ในแต่ละแพลตฟอร์มที่จะเพิ่มมูลค่าและสร้างรายได้จากการซื้อขายชิ้นงานไร้ขอบเขต

นายภาวิต ย้ำว่า สิ่งที่อยากแชร์วันนี้เป็นการก้าวเดินของจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ ที่มองเห็นโอกาสในโลกอนาคตที่สามารถสร้างแม่น้ำสายใหม่ให้กับธุรกิจเพลง ที่ไม่มีวันตายไม่ว่าจะเป็นโลกดิจิทัลหรือโลกเสมือนจริง