ยุค “ทรัมป์” หมอบ โอกาสงามจีนแผ่อิทธิพลผ่าน OBOR

อาจกล่าวได้ว่าคงไม่มีอเมริกายุคใด จะเปิดโอกาสให้จีนแผ่อิทธิพลทางการค้าและเศรษฐกิจได้มากเท่ายุคโดนัลด์ ทรัมป์ เนื่องจากอเมริกา ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดขององค์กรระดับโลกที่สนับสนุนการค้าเสรี บัดนี้ถูกกลับหัวกลับหางโดยทรัมป์ ที่มีนโยบายกีดกันและปกป้องการค้า และถอนตัวออกจากการเกี่ยวโยงกับโลกในหลายด้านรวมทั้งการค้า ทำให้ชาติที่เคยเป็นพันธมิตรเริ่มไม่ไว้วางใจและไม่มีความหวังที่จะสานต่อการค้าสหรัฐอีกต่อไป

ในยามที่เอาแน่เอานอนกับนโยบายของสหรัฐไม่ได้ ประกอบกับความตึงเครียดที่เกิดจากคำพูดและท่าทีของผู้นำสหรัฐ ทำให้ชาติที่เคยแนบแน่นกับสหรัฐ จำเป็นต้องหันไปหาจีนมากกว่าเดิม

ซึ่งนี่ก็ดูเหมือนจะทำให้ง่ายขึ้นสำหรับจีนที่จะแผ่อิทธิพลของตนผ่าน โครงการหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง หรือ One Belt One Road (OBOR) หรือ โครงการสายไหมยุคใหม่ มูลค่าราว 1.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ มีเส้นทางครอบคลุมราว 60 ประเทศ วัตถุประสงค์ก็เพื่อส่งเสริมการค้าและเศรษฐกิจโลกให้ขยายตัว

แม้จะมีผู้ปรามาสว่าโครงการนี้ทะเยอทะยานเกินไปและยากจะสำเร็จ แต่ทว่าความก้าวหน้าของ OBOR ก็มีให้เห็นเป็นระยะ เช่นเดือนธันวาคมปีที่แล้ว อังกฤษประกาศยกระดับความร่วมมือครั้งใหญ่ด้านการเงินและการลงทุนกับจีน โดยจะสนับสนุนโครงการ OBOR วงเงิน 2.5 หมื่นล้านปอนด์ และยังเห็นชอบการเชื่อมต่อตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้และลอนดอนเร็วขึ้นกว่าเดิม ซึ่งการหันเข้าหาจีนในครั้งนี้ของอังกฤษ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะต้องการหาตลาดรองรับทดแทนตลาดสหภาพยุโรป (อียู) ภายหลังจากที่ชาวอังกฤษลงประชามติออกจากการเป็นสมาชิกอียู ซึ่งหากขั้นตอนต่าง ๆ ดำเนินไปได้ตามกรอบเวลา คาดว่ากระบวนการออกจากอียูก็จะสมบูรณ์ในเดือนมีนาคมปีหน้า

นอกจากนี้อังกฤษยังเข้าร่วมเป็นสมาชิกธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในเอเชีย-แปซิฟิก (AIIB) ซึ่งมีจีนเป็นผู้ก่อตั้งเพื่อสนับสนุนทางการเงินลงทุนแก่โครงการที่จะเกิดขึ้นตาม

เส้นทางสายไหมยุคใหม่ ซึ่งถึงแม้อังกฤษจะเป็นคู่ค้าที่เล็กกว่าของจีนเมื่อเทียบกับสหรัฐ แต่อย่างน้อยก็ย่อมได้ใจจีน

ขณะเดียวกันในมุมมองของอังกฤษก็ถือว่าช่วยยกระดับโปรไฟล์ของอังกฤษในจีนในทิศทางที่จะเป็นประโยชน์ต่ออังกฤษ ตราบที่ความเสี่ยงของ OBOR ได้รับการควบคุมอย่างเหมาะสม

อังกฤษเรียกความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งขึ้นกับจีนในครั้งนี้ว่า “ยุคทอง” ของความสัมพันธ์ทวิภาคี อันเป็นภาพตรงข้ามกับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีนที่อาจเรียกได้ว่าเป็นยุคมืดมน เนื่องจากทรัมป์เปิดฉากโจมตีจีนอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุดสัปดาห์ที่แล้วจีนได้เดินสายไปชักชวนชาติละตินอเมริกาและกลุ่มประเทศในแคริบเบียน (CELAC) ที่มีสมาชิก 33 ประเทศให้เข้าร่วม OBOR ซึ่งถึงแม้จีนจะไม่ยอมรับว่าเป็นการฉวยโอกาสเพื่อแข่งขันกับอิทธิพลของสหรัฐที่เคยมีในอดีตต่อละตินอเมริกา แต่โดยพฤตินัยย่อมปฏิเสธไม่ได้ เพราะนี่คือโอกาสงามที่จะเพิ่มอิทธิพลในภูมิภาคนี้ หลังจากทรัมป์มีนโยบายปกป้องการค้า ซึ่งหมายถึงว่าละตินอเมริกาไม่สามารถพึ่งพิงการค้ากับสหรัฐได้มากเหมือนอดีต

อันที่จริงจีนได้เริ่มทดสอบความมีอิทธิพลของสหรัฐเหนือละตินอเมริกามาแล้ว ด้วยการเสนอเงินลงทุน 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์ในทศวรรษหน้า และยังเป็นคู่ค้ารายใหญ่ของหลายประเทศในภูมิภาคนี้ ไม่ว่าจะเป็นบราซิล ชิลี อาร์เจนตินา อีกทั้งในช่วงไม่กี่ปีมานี้จีนได้เปลี่ยนจากการเพียงแค่ซื้อวัตถุดิบจากละตินอเมริกาไปเป็นการลงทุนในหลายภาคอุตสาหกรรม ทั้งยานยนต์ อีคอมเมิร์ซและเทคโนโลยี

ในโอกาสนี้ เฮอร์รัลโด มูนอซ รัฐมนตรีต่างประเทศชิลี ซึ่งเคยวิพากษ์วิจารณ์ทรัมป์ กล่าวยกย่องว่า จีนนั้นแสดงบทบาทสร้างสรรค์ในยามที่พวกเราตกอยู่ในความไม่แน่นอนและซับซ้อน

เพื่อแก้ไขความซับซ้อนนั้น ซึ่งคำพูดของนายมูนอซ ตีความได้ว่า เปรียบเทียบกันแล้วจีนมอบความแน่นอนและสร้างไสรรค์ให้กับละตินอเมริกามากกว่าสหรัฐ