แกะรอยจนเจอ กล้องซุกในธารน้ำแข็ง 85 ปี เจ้าของลาโลก ฟิล์มยังอยู่

Tyler Ravelle/Teton Gravity Research

นักสำรวจพบกล้องโบราณ 85 ปีซุกในธารน้ำแข็ง มีฟิล์มที่นักปีนเขาบันทึกภาพไว้อยู่ในนั้นด้วย 

วันที่ 6 พฤศจิกายน 2565 ซีเอ็นเอ็น รายงานเรื่องราวน่าทึ่งของทีมนักสำรวจที่ค้นพบกล้องถ่ายรูปอายุ 85 ปี ของนักปีนเขาที่ต้องทิ้งสัมภาระไว้บนเขา ประเทศแคนาดา เพราะสภาพอากาศเลวร้ายบนยอดภูเขาน้ำแข็ง

กริฟฟิน โพสต์ หัวหน้าทีมสำรวจจากสำนักวิจัยเททัน กราวิตี พบอุปกรณ์ปีนเขาพร้อมกล้องโบราณที่ถูกฝังไว้ในธารน้ำแข็งวอลชช์ เขตยูคอน ทางตะวันตกของแคนาดา เมื่อเดือนสิงหาคม

Tyler Ravelle/Teton Gravity Research

ย้อนกลับไปเมื่อเดือน มิ.. 1937 (พ.ศ. 2480) วอชเบิร์นและโรเบิร์ต เบตส์ ปีนภูเขาลูคาเนีย ซึ่งเป็นภูเขาที่สูงที่สุดเป็นอันดับ 3 ในแคนาดา อยู่เหนือจากระดับน้ำทะเล 5,226 เมตร ในสมัยนั้น ยังไม่เคยมีใครพิชิตยอดเขาลูกนี้มาก่อน

ทั้งคู่วางแผนว่าจะเริ่มและจบทริปปีนเขาที่ธารน้ำแข็งวอลช์ แต่พอไปได้ครึ่งทางที่ระดับความสูง 2,667 เมตร สภาพอากาศเลวร้ายมาก เครื่องบินที่จะมารับนักปีนเขาบินมารับไม่ได้

นักปีนเขาทั้ง 2 คนต้องปีนเขาและเดินเท้ากลับลงมาระยะทาง 241 กิโลเมตร ผ่านถิ่นทุรกันดารไปยังเมืองที่ใกล้ที่สุด พวกเขาต้องทิ้งสัมภาระและอุปกรณ์ต่าง ๆ รวมทั้งเต็นท์และกล้อง 3 ตัว

Tyler Ravelle/Teton Gravity Research

แกะรอยตามหนังสือ

ตอนนี้ทีมงานของโพสต์กู้กล้องทั้ง 3 ตัวและอุปกรณ์ที่เหลือมาได้หมดแล้ว กล้อง 2 ใน 3 ตัวยังมีฟิล์มเต็มม้วน ซึ่งส่งไปล้างภาพที่พาร์กส์ แคนาดา

โพสต์กล่าวถึงแรงบันดาลใจในการออกสำรวจว่า เมื่อ 2 ปีก่อน มาจากการอ่านเรื่องหลบหนีจากลูคาเนียเกี่ยวกับการสำรวจของวอชเบิร์นและเบตส์ รวมทั้งจุดที่ทิ้งสัมภาระ

บทส่งท้ายในหนังสือเขียนว่า นักปีนเขา 2 คนนี้บินข้ามพื้นที่ดังกล่าวและอยากจะกลับไปหาสัมภาระ โพสต์อ่านแล้วครุ่นคิดอยู่นาน 6 เดือน ก่อนที่จะวางแผนสำรวจและค้นหา

โพสต์เตรียมตัว 18 เดือน รวบรวมข้อมูลเอกสารเก่า ๆ วารสาร และรายงานที่ระบุจุดทิ้งของ ขณะที่ดร.ลูค คอปแลนด์ มหาวิทยาลัยออตตาวา ใช้แผนที่น้ำแข็งระบุพิกัดที่นักปีนเขาเดินทางเมื่อ 80 ปีก่อน

Tyler Ravelle/Teton Gravity Research

ความพยายามสำเร็จ

สิ่งของสัมภาระที่ทิ้งไว้ต้องใหญ่พอสมควรเพราะมีทั้งเต็นท์ ผ้าใบ สกี และกล้อง จึงน่าจะหาได้ไม่ยาก แต่อาจจะมีคนอื่นพบที่ซ่อนไปก่อนแล้ว

ทีมสำรวจของโพสต์ค้นหาอยู่ 6 วันโดยไม่พบอะไรเลย แม้หาในพื้นที่ทั้งหมดที่จะเป็นไปได้มากที่สุดแล้วก็ตาม

จนกระทั่งเช้าวันสุดท้ายและเหลือเวลาเพียง 4 ชั่วโมง โดโรตา เมเดรอซิคา หรือโดร่า จากมหาวิทยาลัยออตตาวา กล่าวว่าอาจจะมองหาไม่ถูกจุดและคิดว่าน่าจะต้องลงเขาไปอีก

เมเดรอซิคาสังเกตเห็นรูปแบบของกองตะกอนธารน้ำแข็งที่ไหลจากด้านบนของธารน้ำแข็ง และเห็นช่องว่างเป็นแนวยาวในภาพถ่ายดาวเทียม พร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่าธารน้ำแข็งมีการเคลื่อนตัวด้วยความเร็ว 1-2 ปี ก่อนที่จะกลับมาเคลื่อนไหวในอัตราความเร็วปกติ

Tyler Ravelle/Teton Gravity Research

เมื่อมองช่องว่างระหว่างกองตะกอนธารน้ำแข็งและคำนวณความยาวจึงสันนิษฐานว่าธารน้ำแข็งน่าจะเคลื่อนตัวเร็วและไกลว่าที่คาดไว้ตั้งแต่แรก

2-3 ชั่วโมงสุดท้าย คณะสำรวจเคลื่อนที่ไปได้อีก 2 กิโลเมตรจากจุดเป้าหมายเดิมและมีสมาชิกคนหนึ่งพบถังเชื้อเพลิง

โพสต์กล่าวว่าสัมภาระอยู่ในสภาพพ้นดินบางส่วน เต็นท์ยื่นทะลุจากน้ำแข็ง ของบางอย่างอยู่บนผิวน้ำแข็งจนหยิบขึ้นมาได้ ทั้งแว่นตากันลม เสื้อผ้า สิ่งของต่าง ๆ ทำให้ทุกคนในทีมมีความสุขมาก

กล้องโบราณที่มีฟิล์ม

การเคลื่อนตัวของธารน้ำแข็งในช่วงเวลากว่า 85 ปี ทำให้สิ่งของกระจัดกระจายไปหลายสิบเมตร แต่ในที่สุด ทีมสำรวจพบสัมภาระเกือบทั้งหมด เว้นแต่สิ่งของบางอย่างที่อาจถูกน้ำแข็งที่ละลายพัดหายไป

ในบรรดาสิ่งของที่พบ มีกล้อง 3 ตัว หนึ่งในนั้นเป็นกล้องภาพถ่ายทางอากาศของวอชเบิร์น รุ่น Fairchild F-8 ซึ่งเสียหาย ส่วนกล้องอีก 2 ตัวยังมีสภาพดี เป็นกล้องรุ่น DeVry “Lunchbox” และ Bell & Howell Eyemo 71A ซึ่งกล้องทั้ง 2 ตัวนี้ มีฟิล์มอยู่ข้างใน และตอนนี้ส่งไปมหาวิทยาลัยออตตาวาเพื่อหาทางกู้ภาพ

Tyler Ravelle/Teton Gravity Research

ด้านเมเดรอซิคาคิดว่าการเข้าใจวิวัฒนาการของธารน้ำแข็งวอลช์น่าตื่นเต้นมาก จากภาพถ่ายดาวเทียมจากปัจจุบันจนย้อนหลังกลับไปเมื่อปี 2000 (พ.ศ. 2543) เทียบกับภาพถ่ายเมื่อทศวรรษที่ 1960 พาให้กลับไปยังทศวรรษที่ 1930 และทำให้เห็นว่าการเคลื่อนตัวของธารน้ำแข็งเป็นอย่างไรและธารน้ำแข็งเปลี่ยนแปลงตามการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างไร

การเดินทางสำรวจครั้งนี้ มีหลายคนขอให้ทีมงานช่วยค้นหาเครื่องบิน the Douglas C-54 Skymaster ที่ตกบนภูเขาในปี 1950 พร้อมกับ 44 ชีวิต เพราะชาวเมืองยูคอนคิดว่าอาจจะอยู่ในบริเวณดังกล่าว แต่ทีมงานไม่พบอะไรเลย ซึ่งโพสต์กล่าวว่าอาจจะกลับไปค้นหา แต่ต้องใช้เวลาหาข้อมูล

หลังจบการเดินทาง ทีมสำรวจติดต่อครอบครัวของวอชเบิร์นและเบทส์ซึ่งทั้งคู่เสียชีวิตเมื่อปี 2007 (พ.ศ. 2550)

โพสต์กล่าวว่าการสำรวจเมื่อปี 1937 น่าประทับใจและเป็นตำนานที่มีชีวิต แม้ไม่พบอะไรเลยก็ยังคุ้มค่า การสร้างความท้าทายให้ตัวเองและไล่ล่าความฝัน เป็นความสนุกในชีวิตที่เป็นแรงผลักดันให้เดินหน้าต่อไป

…..