ญี่ปุ่นพบเด็กสนใจอาชีพนักวิจัยเพิ่มขึ้นในรอบ 15 ปี จี้ภาคเอกชนจับมือนักวิจัยเร่งสร้างนวัตกรรม

AFP PHOTO / Toru YAMANAKA

เมื่อโลกต้องการ “นักวิจัย” เพิ่ม เพื่อสร้างสินค้านวัตกรรม แต่ยังมีอุปสรรค หลังญี่ปุ่นพบเด็กสนใจอาชีพนักวิจัยเพิ่มขึ้นในรอบ 15 ปี

สำนักข่าวนิคเกอิ รายงานว่า อาชีพนักวิจัยกำลังกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้งในอนาคตอันใกล้นี้ท่ามกลางสถานการณ์ที่เหล่านักเรียนชายชาวญี่ปุ่นให้ความสนใจประกอบอาชีพนี้สูงขึ้นมากเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปีนี้ ซึ่งส่วนนี้เป็นผลมาจากระบบการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน ไปจนถึงการที่นักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่นได้รับรางวัลโนเบล และเรื่องราวของเขาก็ได้สร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียนญี่ปุ่นด้วยนั่นเอง

โดยความนิยมเรียนวิชาวิทยาศาสตร์และสนใจอาชีพนักวิจัยนี้อ้างอิงจากผลสำรวจประจำปีจากโรงเรียนมัธยมและเตรียมทั่วประเทศที่เปิดเผยออกมาเมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตามแม้จะมีความหวังว่านักเรียนญี่ปุ่นให้ความสนใจเรียนสายนี้เพิ่มขึ้น แต่ก็มีมุมมองจากภาคเอกชนอย่างบริษัทร่วมลงทุนด้านเทคโนโลยีที่มองว่าเทคโนโลยีหลายอย่างที่มีมหาวิทยาลัยในญี่ปุ่นหลายแห่งครอบครองลิขสิทธิ์อยู่นั้นยังไม่ได้ถูกนำมาสู่สังคมตามศักยภาพที่ควรจะเป็น

ขณะที่หากพิจารณาถึงงบประมาณการลงทุนด้านงานวิจัย โดยเปรียบเทียบระหว่างมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา กับญี่ปุ่น จะพบว่า มีมูลค่างานวิจัยที่คิดเป็นเงินของมหาวิทยาลัยในสหรัฐเฉลี่ยเกือบ 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ญี่ปุ่นมีมูลค่างานวิจัยในสถาบันการศึกษาเฉลี่ยที่ 2,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ความร่วมมือที่ต้องเข้มข้นขึ้นระหว่างสถาบันวิชาการกับภาคอุตสาหกรรมเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ๆท่ามกลางสถานการณ์การแข่งขันในภาคอุตสาหกรรมเทคโนโลยีนั้นสำคัญอย่างยิ่ง จึงเป็นเรื่องสำคัญที่หลายบริษัทควรมุ่งมั่นที่จะเร่งพัฒนาและจับมือกับบรรดานักวิจัยในมหาวิทยาลัย และสถาบันการศึกษา

เดวิด ลิมพ์ รองประธานอาวุโสด้านอุปกรณ์และบริการของอเมซอน ให้ความเห็นว่า บรรดาบริษัทที่สนใจนวัตกรรมควรเปิดกว้างทางไอเดียกับสถาบันการศึกษาทั่วโลก ในลักษณะเป็นพาร์ทเนอร์ด้วยกัน และบริษัทเหล่านี้ก็ควรให้สถาบันการศึกษาได้เข้าถึงเทคโนโลยีของพวกเขาด้วย

ในข้อเสนอนี้เกิดขึ้นท่ามกลางในสถานการณ์ที่เดือนหน้า (มีนาคม) อเมซอนจะประกาศรางวัล อเล็กซ่า ไพร์ซ ซึ่งเป็นการแข่งขันประจำปีของนักศึกษามหาวิทยาลัยในการพัฒนาระบบการสนทนาของปัญญาประดิษฐ (เอไอ) ซึ่งแน่นอนว่าเอไอ คือประเด็นสำคัญที่หลายบริษัทให้ความสำคัญ ซึ่งนี่เป็นตัวอย่างที่อเมซอนมองว่าเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างผลิตภัณฑ์ของอเมซอนกับการพยายามนำเสนอไอเดียของนักเรียน นักศึกษา

ขณะที่ ไมโครซอฟท์ อีกหนึ่งบริษัทของสหรัฐได้ลงทุนห้องแล็บ และห้องวิจัยใน 10 แห่งทั่วโลก รวมทั้งได้จ้างนักวิจัยในภาคส่วนต่างๆมาร่วมทำงานมากกว่า 1,000 ตำแหน่ง ซึ่งนักวิจัยของไมโครซอฟท์มีอิสระในการเลือกศึกษาประเด็นที่ตนสนใจไม่ว่าจะเป็นศาสตร์แขนงไหน ตั้งแต่สายพลังงาน การเงิน แม้แต่การขนส่งจราจร และระหว่างนี้ก็มีโครงการแลกเปลี่ยนนักวิจัยระหว่างมหาวิทยาลัยด้วย

ขณะที่ในญี่ปุ่นมีการยกตัวอย่างโมเดลที่น่าสนใจระหว่างการทำงานร่วมกันของภาคเอกชนกับภาคงานวิจัย ซึ่งบริษัทดังทั้ง ฮอนด้า มอเตอร์ และโซนี่ พยายามใช้ประโยชน์จากงานศึกษาค้นคว้ามาผนวกกันระหว่างเทคโนโลยีและการบริหารจัดการโดยผู้เชี่ยวชาญ

กระแสความพยายามประยุกต์ภาคธุรกิจกับภาควิชาการที่มีองค์ความรู้เพื่อต่อยอดต่อธุรกิจอุตสาหกรรมเป็นเรื่องที่ญี่ปุ่นให้ความสนใจ โดยเฉพาะกับบรรดาบริษัทลงทุนในสตาร์ทอัพที่กำลังให้ความสนใจกับเทคโนโลยีเอไอ กระนั้นข้อสังเกตสำคัญ คือ บริษัทเหล่านี้ไม่สามารถเข้าไปเกี่ยวข้องกับโปรเจ็กต์งานวิจัยและพัฒนามันขึ้นมาได้เพียงลำพังเท่านั้น แต่จะต้องเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างบริษัทกับนักวิจัย ขณะเดียวกันภาคการศึกษาเองก็ต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดในการนำงานวิจัยมาทำงานร่วมกับภาคธุรกิจด้วยเช่นกัน ไม่ใช่มองว่าตัวเองสูงส่งกว่าการจะต้องมาจับมือกับภาคเอกชน

ที่สุดแล้ว ต้องพัฒนาองค์ความรู้ให้เป็นการเปิดกว้างทางนวัตกรรม เพื่อรองรับเทรนด์อาชีพวิจัยและพัฒนาของนักวิจัยในอนาคต