ไม่แคร์สหรัฐ! 11 ชาติลงนามเขตการค้าเสรี ’ซีพีทีพีพี’

CPTPP คืออะไร
ภาพ: AFP PHOTO / CLAUDIO REYES

หลังเกิดภาวะชะงักงันเมื่อรัฐบาลสหรัฐภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศไม่ร่วมลงนามในข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก(Trans-Pacific Partnership – ทีพีพี) ที่เป็นข้อริเริ่มของรัฐบาลสหรัฐในยุคของอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา ที่มีเป้าหมายในการสร้างเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลกโดยมีสหรัฐเป็นพี่ใหญ่ เพื่อลดทอนอิทธิพลของจีนที่แพร่ขยายไปทั่วทุกมุมโลก ทั้งที่มีการสรุปการเจรจากับประเทศต่างๆ จนเสร็จสิ้นแล้ว

ล่าสุด 11 ชาติที่อยู่ในทีพีพีได้ร่วมลงนามในความตกลงเขตการค้าเสรีที่ถูกลดขนาดลงที่มีชี่อเรียกใหม่ว่าข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิกที่ครอบคลุมและก้าวหน้า
(Comprehensive and Progressive Trans-Pacific Partnership – ซีพีทีพีพี) ที่กรุงซานติอาโก ประเทศชิลี เมื่อวันที่ 8 มีนาคม ตามเวลาท้องถิ่น

ทั้งนี้ 11 ชาติที่ร่วมลงนามประกอบด้วย ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี ญี่ปุ่น มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์ และเวียดนาม โดยครอบคลุมประชากรราว 500 ล้านคน คิดเป็น 13.5 เปอร์เซนต์ของปริมาณการค้าโลก ซึ่งทำให้ซีพีทีพีพีกลายเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ว่าสหภาพยุโรป

ซีพีทีพีพีได้ตั้งเป้าที่จะลดกำแพงภาษีระหว่างประเทศสมาชิกเพื่อกระตุ้นความเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยการลงนามดังกล่าวมีขึ้นในวันเดียวกับที่ทรัมป์ได้ลงนามในคำสั่งตั้งกำแพงภาษีเหล็กและอะลูมิเนียม ซึ่งเรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์และตำหนิจากทั่วโลกว่าเป็นการทำสงครามการค้าแบบโง่ๆ

ที่มา มติชนออนไลน์