เฟซบุ๊กจ่อให้เผยตัวตนผู้ลงโฆษณาทางการเมือง ประกาศวางระบบให้เสร็จทันเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐ พ.ย.นี้

REUTERS/Stephen Lam

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่าเฟซบุ๊กประกาศเมื่อวันที่ 6 เมษายนว่าจะตั้งเงื่อนไขให้โฆษณาทางการเมืองที่ปรากฎบนแพลตฟอร์มของตนต้องระบุให้ชัดเจนว่าใครเป็นผู้จ่ายเงินค่าโฆษณาดังกล่าว รวมถึงระบุอัตลักษณ์ของผู้จ่ายเงินให้ชัดเจน เป็นความพยายามที่จะควบคุมการแทรกแซงการเลือกตั้งจากภายนอก

โซเชียลมีเดียหรือเครือข่ายสังคมชื่อดังแห่งนี้ที่ตกอยู่ภายใต้เสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างร้อนแรงจากการที่ยินยอมให้เกิดการชักใยแพลตฟอร์มของตนในการเลือกตั้งเมื่อปี 2559 ระบุว่า นโยบายใหม่จะกำหนดให้สารใดๆ ก็ตามที่เป็นการกล่าวถึงผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งหรือประเด็นสาธารณะจำเป็นต้องมีป้ายข้อความระบุว่าเป็น “โฆษณาทางการเมือง” พร้อมกับชื่อของบุคคลหรือองค์การที่จ่ายเงินสนับสนุนข้อความนั้นๆ

นายมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของเฟซบุ๊กกล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงนี้หมายความว่า “เราจะต้องจ้างคนเพิ่มอีกหลายพัน” เพื่อให้ระบบใหม่เข้าที่ก่อนหน้าการเลือกตั้งกลางวาระของสหรัฐในเดือนพฤศจิกายนนี้

“เราได้เริ่มต้นทำเรื่องนี้ในสหรัฐแล้วและจะขยายไปทั่วโลกในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้” นายซัคเคอร์เบิร์กระบุไว้บนบัญชีเพจเฟซบุ๊กของตน” และว่า “ย่างก้าวเหล่านี้จะไม่สามารถหยุดยั้งผู้คนทั้งหมดที่พยายามจะใช้ระบบเพื่อเล่นเกม แต่จะเป็นการยากขึ้นสำหรับใครก็ตามที่พยายามจะทำอย่างที่รัสเซียทำระหว่างการเลือกตั้งปี 2559 และใช้บัญชีหรือเพจปลอมสำหรับการโฆษณา

แถลงการณ์อีกชิ้นที่เผยแพร่บนหน้าเพจอย่างเป็นทางการของเฟซบุ๊กระบุว่าการเปลี่ยนแปลงนี้จะช่วยปรับปรุงความโปร่งใสของเฟซบุ๊กระหว่างการรณรงค์หาเสียงทางการเมือง

“เราเชื่อว่าเมื่อคุณเข้าไปในเพจและเห็นโฆษณาบนเฟซบุ๊ก ควรจะชัดเจนว่าสิ่งดังกล่าวมาจากใคร”

แถลงการณ์ระบุและว่า เพื่อให้ได้รับการรับรองจากเฟซบุ๊ก “ผู้ลงโฆษณาจำเป็นจะต้องยืนยันตัวตนและที่อยู่”

“ผู้ที่ลงโฆษณาจะถูกสั่งห้ามจากการลงโฆษณาทางการเมือง หรือประเด็นที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งจนกว่าจะได้รับอนุญาต แถลงการณ์ระบุ

เฟซบุ๊กประกาศเรื่องนี้ในช่วงเวลาที่นายซัคเคอร์เบิร์ก เตรียมปรากฏตัวต่อหน้าสภาคองเกรสในสัปดาห์หน้าเพื่อตอบคำถามเกี่ยวกับการนำข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานกว่า 87 ล้านรายไปใช้โดยบริษัทที่ปรึกษาทางการเมืองเคมบริดจ์ อนาลิติกา ที่ทำงานให้กับทีมงานรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของนายโดนัลด์ ทรัมป์

นอกจากนี้ นางเชอริล แซนด์เบิร์ก ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายดำเนินการ (ซีโอโอ) ของเฟซบุ๊กได้โพสต์ข้อความขอโทษผู้ใช้งานสำหรับความล้มเหลวสำหรับการทำอย่างไม่เพียงพอในการปกป้องข้อมูลและความเป็นส่วนตัวอีกด้วย

 

ที่มา : มติชนออนไลน์