กต.ชี้แจงกระแสข่าวมีแรงงานไทยไปเป็นทหารให้อิสราเอล

ทหารอิสราเอลขณะทำสงครามกับฮามาส ภาพถ่ายที่ชายแดนอิสราเอล-ฉนวนกาซา ฝั่งอิสราเอล วันที่ 6 พฤศจิกายน 2023
ทหารอิสราเอลขณะทำสงครามกับฮามาส ภาพถ่ายที่ชายแดนอิสราเอล-ฉนวนกาซา ฝั่งอิสราเอล วันที่ 6 พฤศจิกายน 2023 (ภาพโดย MENAHEM KAHANA / AFP)

กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีมีกระแสข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ ว่ามีแรงงานไทยไปเป็นทหารให้แก่ฝ่ายอิสราเอลในช่วงสถานการณ์อิสราเอล-ฮามาส 

วันที่ 7 พฤศจิกายน 2023 กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ของไทยได้ชี้แจงกรณีที่มีกระแสข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ว่ามีแรงงานไทยไปเป็นทหารให้แก่ฝ่ายอิสราเอลในช่วงสถานการณ์อิสราเอล-ฮามาส โดยมีข้อความชี้แจงดังต่อไปนี้ 

“ตามที่ได้มีกระแสข่าวในโลกโซเชียลว่ามีแรงงานไทยไปเป็นทหารให้แก่ฝ่ายอิสราเอลในช่วงสถานการณ์อิสราเอล-กาซา นั้น กระทรวงการต่างประเทศได้รับรายงานจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟว่า มีคนไทยที่เป็นลูกครึ่งไทย-อิสราเอลไปเป็นทหารกองหนุนให้อิสราเอลจริง แต่ไม่ใช่พี่น้องแรงงานไทยแต่อย่างใด

“ทั้งนี้ นอกเหนือจากแรงงานไทยในภาคเกษตรกรรมในอิสราเอลแล้ว ยังมีหญิงไทยจำนวนหนึ่ง (ประมาณ 400-500 คน) ที่แต่งงานกับคนอิสราเอล และมีบุตรซึ่งถือ 2 สัญชาติ คือทั้งสัญชาติไทยและอิสราเอล ซึ่งตามกฎหมายอิสราเอล บุคคลสัญชาติอิสราเอลทุกคน (ทั้งหญิงและชาย) จะต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหารเมื่ออายุครบ 18 ปี โดยผู้ชายมีระยะเวลารับราชการทหาร 32 เดือน และผู้หญิงมีระยะเวลารับราชการทหาร 24 เดือน และเมื่อเสร็จสิ้นระยะเวลาเกณฑ์ทหารดังกล่าวแล้ว ทุกคนจะถูกบรรจุเข้าเป็นทหารกองหนุน ซึ่งจะต้องปฏิบัติหน้าที่ทหารหากถูกเรียกจากกองทัพอิสราเอล”

“ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 66 กองทัพอิสราเอลได้เรียกทหารกองหนุนจำนวนกว่า 350,000 คน หรือประมาณร้อยละ 4 ของประชากรอิสราเอลทั้งหมด เข้าปฏิบัติหน้าที่ ถือได้ว่าเป็นการเรียกทหารกองหนุนครั้งใหญ่ที่สุดของอิสราเอล จึงย่อมมีลูกครึ่งไทย-อิสราเอลที่เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ทหารกองหนุนตามกฎหมายอิสราเอล มิใช่แรงงานไทยที่แฝงตัวไปเป็นทหารรับจ้างให้แก่อิสราเอลตามที่มีการกล่าวอ้างแต่อย่างใด กระทรวงการต่างประเทศจึงขอความร่วมมืออย่าเผยแพร่ข่าวปลอม หรือข่าวที่อาจทำให้สร้างความเข้าใจผิดต่อสาธารณชนทั้งไทยและต่างประเทศ”