เวียดนามส่ง “รังนก” เข้าจีนลอตแรก ถึงคราวรังนกไทยต้องระวัง !

รังนก

ประเทศจีนเป็นตลาดรังนกที่ใหญ่ที่สุดในโลก รังนกที่ผลิตได้ทั่วโลกเกือบทั้งหมด หรือราว 90% ถูกส่งไปขายที่ประเทศจีน โดยเฉพาะ “รังนกบริสุทธิ์” ซึ่งผ่านการคัดแยกขนและทำความสะอาดแล้ว และรังนกที่ผ่านการแปรรูปเป็น “ผลิตภัณฑ์รังนกพร้อมดื่มสำเร็จรูป” 

ในอดีตที่ผ่านมา มีเพียง 3 แหล่งผลิตรังนกเท่านั้นที่จีนอนุญาตนำเข้า ได้แก่ มาเลเซีย (อนุญาตปี 2013) อินโดนีเซีย (อนุญาตปี 2014) และไทย (อนุญาตปี 2017) ซึ่งมาเลเซียเป็นประเทศเดียวที่ได้รับสิทธิเหนือประเทศอื่นในการส่ง “รังนกขน” (รังนกดิบที่ยังไม่ได้คัดขน) ไปยังตลาดจีนได้ด้วยในบางเมือง คือ เมืองชินโจว (Qinzhou City) ของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง และเมืองเซี่ยเหมินของมณฑลฝูเจี้ยน 

จนกระทั่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ เวียดนามเป็นประเทศที่ 4 ที่เข้ามาเป็นคู่แข่งแย่งชิงตลาดรังนกจีนซึ่งมีมูลค่าปีละมากกว่าแสนล้าน

เมื่อ “เวียดนาม” ได้รับอนุญาตส่งรังนกขายจีน

ในบทความ “รังนกญวน” บุกตลาดจีนครั้งแรกผ่านกว่างซี ที่นั่งของรังนกไทยในตลาดจีนอยู่ตรงไหน? ซึ่งเขียนโดย กฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง ให้ข้อมูลว่า “เวียดนาม” เป็นประเทศที่ 4 ที่ได้รับสัญญาณไฟเขียวของการส่งออก “ผลิตภัณฑ์รังนกญวน” ไปจีน เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2022 โดยกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทเวียดนามและสำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีนหรือ GACC (General Administration of Customs of the People’s Republic of China) ได้ร่วมลงนามพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดด้านสุขอนามัยและการตรวจกักกันสินค้ารังนกจากเวียดนามที่นำเข้าสู่ประเทศจีน

หลังจากนั้น วันที่ 14 พฤศจิกายน 2022 สำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีนได้ออกประกาศเลขที่ 110/2022 ว่าด้วยข้อกำหนดเกี่ยวกับการตรวจสอบและกักกันโรคในผลิตภัณฑ์รังนกที่นำเข้าจากประเทศเวียดนามโดยอนุญาตให้ “รังนกและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากน้ำลายของนกนางแอ่นกินรัง (Aerodramusfuciphagus) หรือนกนางแอ่นประเภทเดียวกัน โดยจะต้องผ่านการคัดทำความสะอาดสิ่งสกปรกและขนนกออกแล้ว และเหมาะสำหรับการบริโภค” สามารถส่งออกไปยังจีนได้ 

จากประกาศดังกล่าวส่งผลให้เวียดนามเป็นประเทศที่ 4 ที่ได้รับอนุญาตให้ส่งออกรังนกบริสุทธิ์ และผลิตภัณฑ์รังนกสำเร็จรูปยังประเทศจีนอย่างเป็นทางการ 

ในที่สุด เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2023 ที่ผ่านมา เวียดนามได้ส่งออกผลิตภัณฑ์รังนกนางแอ่นลอตแรกไปยังประเทศจีน ผ่านด่านสากลทางบกโหย่วอี้กวานในอำเภอระดับเมืองผิงเสียง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ซึ่งนับเป็นความสำเร็จครั้งใหม่ของเวียดนาม หลังจากใช้ความพยายามในการเจรจาเปิดตลาดรังนกเวียดนามไปจีนนานกว่า 3 ปี 

ผลิตภัณฑ์รังนกลอตแรกของเวียดนามส่งเข้าไปจีนโดยบริษัทห้างหุ้นส่วนจำกัด อะวาเนสต์ เวียดนาม นูทริชัน (AVANEST Vietnam Nutrition) โดยส่งผ่านด่านสากลทางบกโหย่วอี้กวานของเขตฯ กว่างซีจ้วง น้ำหนัก 100 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่าสินค้ารวม 907,000 หยวน 

ทั้งนี้ ในทศวรรษที่ผ่านมา อุตสาหกรรมรังนกในเวียดนามมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดตอนใต้ของเวียดนาม 

ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทเวียดนามระบุว่า ในปี 2022 เวียดนามมีผู้ประกอบการธุรกิจรังนก 23,655 ราย มีกำลังการผลิตรังนกต่อปีราว 200 ตัน คิดเป็นมูลค่า 450 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

จำนวนผู้เล่นเพิ่ม การแข่งขันดุเดือดยิ่งขึ้น 

ข้อมูล ณ วันที่ 29 พฤศจิกายน 2023 ผู้ประกอบการรังนกจากต่างประเทศที่ได้รับการขึ้นทะเบียนส่งรังนกไปจีนมีจำนวน 99 ราย แบ่งเป็น อินโดนีเซีย 40 ราย มาเลเซีย 49 ราย เวียดนาม 5 ราย และไทย 5 ราย

กฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง ระบุในบทความดังกล่าวว่า ปัจจุบัน การบริโภครังนกซึ่งถือเป็นสินค้าพรีเมี่ยมไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะหมู่ชนชั้นสูงในสังคมจีนเหมือนในอดีต แต่ชนชั้นกลางที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในสังคมจีนเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีอำนาจซื้อสูงมีความใส่ใจกับสุขภาพและความงามมากขึ้น กล้าใช้จ่ายเงินเพื่อเลือกซื้อสินค้าที่มีคุณภาพแม้ว่าราคาจะสูงเพราะบ่งบอกถึงรสนิยมและความพิเศษ จึงกล่าวได้ว่าตลาดรังนกในจีนเป็น “บ่อทอง” ที่ชาติสมาชิกอาเซียนต่างจับจ้องตาเป็นมัน 

ทั้งนี้ รังนก เป็นสินค้าที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง โดยมีการประเมินว่าเฉพาะตลาดรังนกดิบในจีนน่าจะมีมูลค่าแตะหลักแสนล้านบาทต่อปี 

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจีนมีมาตรการควบคุมการนำเข้ารังนกที่เข้มงวด โดยเฉพาะรังนกดิบที่ยังไม่ผ่านการแปรรูป ซึ่งประเทศไทยมีผู้ประกอบการส่งออกรังนกเพียง 5 รายที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจาก GACC ดังนั้น การส่งออกรังนกของไทยส่วนใหญ่จึงเป็น “ผลิตภัณฑ์รังนกสำเร็จรูป” ซึ่งได้รับความนิยมในตลาดผู้บริโภคชาวจีนเช่นกัน 

ด้วยจำนวนผู้เล่นในตลาดจีนที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น จึงส่งผลให้สถานการณ์การแข่งขันมีแนวโน้มดุเดือดมากขึ้นตามไปด้วย

ที่มา : ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ

………………….

อ่านเนื้อหาอื่น ๆ