บริษัททั่วโลกกำไรหด หลายอุตสาหกรรมโดนสินค้าจีนทุบหนัก

ฮ่องกง เอเชีย

ถ้าดูข่าวสารและข้อมูลเศรษฐกิจในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าเศรษฐกิจโลกน่าจะฟื้นตัวขึ้นแล้ว แต่ข้อมูลผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนทั่วโลกที่แย่ลงในไตรมาสล่าสุดบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจโลกยังคงน่ากังวล

มีข้อมูลจากการรวบรวมและวิเคราะห์ของ “นิกเคอิ” (Nikkei) เผยแพร่เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า ในไตรมาสแรก (มกราคม-มีนาคม) ของปี 2024 ผลกำไรสุทธิ (Net Profit) ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯจำนวน 24,600 แห่งทั่วโลกลดลง 6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (YOY) เหลือ 1.11 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 3 ไตรมาส

ข้อมูลดังกล่าวมาจากการรวบรวมและวิเคราะห์ผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกประมาณ 24,600 แห่ง ทั้งในสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีน และยุโรป ซึ่งเมื่อรวมกันแล้ว บริษัทเหล่านี้มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด หรือ “มาร์เก็ตแคป” รวมกันคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 90% ของมาร์เก็ตแคปทั้งโลก

ถ้าดูแยกรายอุตสาหกรรมจากทั้งหมด 17 อุตสาหกรรม พบว่า มี 9 อุตสาหกรรมที่ผลกำไรเติบโต ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้านั้น (ตุลาคม-ธันวาคม 2023) ที่มี 11 อุตสาหกรรมที่ผลกำไรเติบโต

อุตสาหกรรมวัสดุและพลังงาน ซึ่งก่อนหน้านี้เคยผลักดันกำไรของบริษัททั่วโลกขึ้นกลับมีกำไรลดลง 26% ในไตรมาสล่าสุด เนื่องจากราคาสินค้าที่ปรับลดลง

Advertisment

อุตสาหกรรมการเงินก็กำไรลดลงเป็นไตรมาสที่ 2 ติดต่อกัน เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงในสหรัฐได้บีบให้ดีมานด์ทางการเงินลดน้อยลง ส่งผลกระทบต่อธนาคารหลายแห่งที่ต้องพึ่งพารายได้จากการดำเนินงานด้านการธนาคารพาณิชย์เป็นอย่างมาก ในขณะเดียวกัน ธนาคารท้องถิ่นต่างก็แข่งขันกันเพื่อให้ได้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่สูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น

นอกจากนั้นข้อมูลบ่งชี้ว่า หลาย ๆ อุตสาหกรรมในประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชีย ได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจจีน ตั้งแต่อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ไปจนถึงเหล็กและเครื่องจักร

บริษัทจีนโดยรวมมีกำไรสุทธิลดลงประมาณ 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ขณะที่ภาคการธนาคารซึ่งทำกำไรคิดเป็น 40% ของกำไรของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดในประเทศจีนก็ได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงทำให้ผลกำไรลดลง

ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี จีนเดินหน้าเพิ่มผลผลิตแม้ว่าอุปสงค์ในประเทศจะอ่อนแอ ทำให้เกิดภาวะอุปทานล้นเกินหลั่งไหลไปทั่วเอเชีย ส่งผลกระทบต่อบริษัทในท้องถิ่นและจากที่อื่น ๆ

Advertisment

เคอิจิ อิวาตะ (Keiichi Iwata) ประธานบริษัท ซูมิโตโม เคมิคอล (Sumitomo Chemical) หนึ่งในบริษัทญี่ปุ่นที่ขาดทุน กล่าวว่า ตลาดปิโตรเคมีในเอเชียไม่สามารถคาดหวังได้ว่าจะเห็นการปรับปรุงดีขึ้นในปีนี้

ส่วนตลาดยุโรปก็ฟื้นตัวช้าทั้งในภาพรวมและในอุตสาหกรรมเคมี บีเอเอฟเอส (BASF) ผู้ผลิตสารเคมียักษ์ใหญ่สัญชาติเยอรมันมีกำไรสุทธิลดลงถึง 12% ตามดีมานด์ในตลาดที่ซบเซา

ด้านอุตสาหกรรมเหล็ก นิปปอน สตีล (Nippon Steel) และ พอสโค โฮลดิงส์ (POSCO Holdings) ผู้ผลิตเหล็กสัญชาติเกาหลีใต้ล้วนประสบปัญหากำไรลดลง โดยชี้ว่าเป็นผลมาจากอุปทานที่ล้นเกินจากจีน

จอง กีซอป (Jeong Ki-seop) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกลยุทธ์ของพอสโค กล่าวว่า สภาวะตลาดเหล็กย่ำแย่ลงนับตั้งแต่ขึ้นสู่จุดสูงสุดในเดือนธันวาคมปีที่แล้ว และเขากล่าวว่า มีความผิดหวังเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ต่อจีน เนื่องจากขาดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เพียงพอ และอุปทานส่วนเกินของผลิตภัณฑ์จีนได้นำไปสู่ความอ่อนแอในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สำหรับอุตสาหกรรมเครื่องจักรทั่วโลกซึ่งยอดขายขึ้นอยู่กับการใช้จ่ายงบฯลงทุนของภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ มีกำไรลดลงเฉลี่ย 14%

“ฟานัค” (Fanuc) บริษัทเครื่องจักรรายใหญ่ของญี่ปุ่น มียอดขายในจีนลดลงถึง 36% ซึ่งนับเป็นตลาดที่ยอดขายลดลงมากที่สุด และผู้บริหารบริษัทบอกว่า ยังไม่คาดหวังว่าจะเห็นการลงทุนซื้อเครื่องจักรเพิ่มขึ้นในเร็ว ๆ นี้

สำหรับไตรมาสที่ 2 นี้ โชจิ ฮิราคาวะ (Shoji Hirakawa) หัวหน้านักยุทธศาสตร์ระดับโลกของบริษัทวิจัย โตไกโตเกียว อินเทลลิเจนซ์ แลบอราทอรี (Tokai Tokyo Intelligence Laboratory) ในญี่ปุ่น วิเคราะห์ว่า แม้ว่าตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจล่าสุดจากยุโรปและจีนแสดงสัญญาณเชิงบวก แต่การใช้จ่ายของผู้บริโภคบางหมวดในสหรัฐได้ชะลอตัวลง ดังนั้นจึงไม่สามารถคาดหวังการฟื้นตัวครั้งใหญ่ทั่วโลกได้