สัญญาณอันตราย จีนเพิ่มการผลิต ดีมานด์โลกยังไม่ฟื้น อาเซียนเตรียมรับคลื่นสินค้าถล่ม

CHINA-ECONOMY
โรงงานอุตสาหกรรมนมณฑลเจียงซู ประเทศจีน (ภาพแจก จัดหาโดย AFP)

เศรษฐกิจโดยรวมทั่วโลกยังไม่ฟื้นตัวกลับไปสู่ระดับก่อนเกิดโควิด-19 กำลังซื้อที่ยังอ่อนแอมาจนถึงตอนนี้ส่งผลให้การค้าโลกยังไม่ฟื้นในภาพรวม แม้จะมีการฟื้นตัวให้เห็น แต่เป็นการฟื้นตัวเป็นหย่อม ๆ ไม่ใช่การฟื้นแบบทั่วถึง

เมื่อปี 2023 มูลค่าการค้าทั่วโลกลดลง 3% โดยการค้าสินค้าลดลง 5% ส่วนการค้าบริการเพิ่มขึ้น 8% สำหรับปี 2024 นี้ แม้ว่ามีคาดการณ์ต่อการค้าโลกเป็น “เชิงบวกในมุมกว้าง” แต่ก็มีความท้าทายหลายประการ ทั้งด้านกำลังซื้อ โลจิสติกส์ และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์

สัญญาณทางการค้าระหว่างประเทศที่น่ากลัวอย่างหนึ่งปรากฏให้เห็นเมื่อเร็ว ๆ นี้ เมื่อประเทศต่าง ๆ ในเอเชียรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ประจำเดือนมีนาคม 2567 ซึ่งเป็นตัวชี้วัดกิจกรรมการผลิตและบ่งชี้แนวโน้มการค้าและเศรษฐกิจในระยะ 3-6 เดือนข้างหน้า

ตัวเลขที่ออกมาปรากฏว่า ในบรรดาประเทศ/ดินแดนในเอเชียที่พึ่งพาการส่งออกสินค้าสูง PMI ภาคการผลิตของจีนดีขึ้นอยู่ในระดับ “ขยายตัว” อยู่ประเทศเดียว ขณะที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของหลายประเทศ/ดินแดนในเอเชียยังคง “หดตัว”

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของจีนเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 50.8 จุด จากเดือนก่อนหน้านั้นอยู่ที่ 49.1 จุด ซึ่งเป็นการขยายตัว หรืออยู่เหนือ 50 จุด เป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน และสูงที่สุดในรอบ 12 เดือน คำสั่งซื้อใหม่ภาคส่งออกก็เพิ่มขึ้นอยู่ในแดน “ขยายตัว” ที่ 51.3

PMI ภาคการผลิตของญี่ปุ่นอยู่ที่ 48.2 จุด เพิ่มขึ้นจาก 47.2 ในเดือนกุมภาพันธ์ แต่ยังอยู่ต่ำกว่า 50 ซึ่งเป็นระดับ “หดตัว” ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 10 เนื่องจากคำสั่งซื้อใหม่ลดลง สะท้อนว่าระดับความเชื่อมั่นไม่ดีในตลาดส่งออกหลัก ๆ อย่างจีน และสหรัฐอเมริกา

PMI ภาคการผลิตของเกาหลีใต้ เดือนมีนาคมอยู่ที่ 49.8 จุด หดตัวลงจาก 50.7 จุด ในเดือนก่อนหน้านั้น เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแอฉุดดึงภาพรวมลง แม้ว่าการส่งออกฟื้นตัวดีขึ้นแล้วจากการส่งออกชิปหน่วยความจำเป็นหลัก

PMI ภาคการผลิตของไต้หวันอยู่ที่ 47.9 จุด ลดลงจาก 48.1 ในเดือนกุมภาพันธ์ และหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 13

ส่วนในอาเซียน ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของอาเซียน ซึ่งจัดทำโดย S&P Global เพิ่มขึ้นเป็น 51.5 จุด ในเดือนมีนาคม จากเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ 50.4 จุด

ถึงแม้จะเป็นสัญญาณที่ดีขึ้น แต่ในอาเซียนมีเพียงสิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย เท่านั้นที่กิจกรรมการผลิตขยายตัว

ส่วนเวียดนาม “โรงงานโลก” อีกแห่ง PMI ภาคการผลิตเดือนมีนาคมหดตัวลงอยู่ที่ 49.9 จุด จากเดือนก่อนหน้านั้นซึ่งอยู่ที่ 50.4 จุด

มาเลเซีย PMI ภาคการผลิตเดือนมีนาคมลดลงเหลือ 48.4 จุด จาก 49.5 จุดในเดือนก่อนหน้านั้น

ส่วน PMI ภาคการผลิตของ “ไทย” อยู่ที่ 49.1 จุด เพิ่มขึ้นจาก 45.3 จุด ในเดือนกุมภาพันธ์ แต่ก็ยังไม่พ้น 50 ซึ่งเป็นเส้นแบ่งระหว่าง “การขยายตัว” กับ “การหดตัว”

กิจกรรมการผลิตที่ยังอ่อนแอในพื้นที่ส่วนใหญ่ของเอเชียตะวันออก ขณะที่กิจกรรมการผลิตของจีน “ขยายตัว” ส่งสัญญาณ “สดใส” เป็นสัญญาณอันตรายสำหรับผู้ผลิตสินค้าในที่อื่น ๆ เพราะคาดว่าจีน ซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าเบอร์ 1 ของโลกอยู่แล้ว และปัจจุบันกำลังซื้อภายในประเทศจีนต่ำ กำลังกวาดเอา “ดีมานด์” ที่ยังไม่ฟื้นสู่ระดับปกติไปครองจนแทบไม่เหลือที่ว่างให้สินค้าจากประเทศอื่น ๆ ได้ครอบครองมาร์เก็ตแชร์

สินค้าส่งออกจากประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออก รวมถึงอาเซียน ซึ่งเดิมก็แข่งขันราคากับสินค้าจีนยากอยู่แล้วจะแข่งขันยากขึ้นอีก ขณะที่ตลาดในประเทศเหล่านั้นก็จะโดนถล่มด้วยสินค้าจีน อย่างที่เห็นปรากฏการณ์มาตลอดหลายปีที่ผ่านมา และน่าจะรุนแรงขึ้นจากการที่สินค้าจีนเผชิญกับความไม่แน่นอนในตลาดยุโรปและสหรัฐอเมริกา

สอดคล้องกับที่ โทรุ นิชิฮามะ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ตลาดเกิดใหม่แห่งสถาบันวิจัยไดอิจิไลฟ์ในญี่ปุ่น วิเคราะห์ว่าปรากฏการณ์ที่การผลิตของจีนขยายตัวขณะที่ประเทศอื่น ๆ ยังหดตัว และการส่งออกของจีนขยายตัวขึ้น หมายความว่าประเทศอื่น ๆ ในเอเชียจะต้องแข่งขันกับจีนเพื่อแย่งชิงดีมานด์ในตลาดโลกที่ไม่เติบโต 

“เนื่องจากไม่มีตัวขับเคลื่อนการเติบโตทั่วโลกที่ชัดเจน จึงเป็นเรื่องยากที่จะวาดภาพเอเชียให้สดใส” โทรุ นิชิฮามะกล่าว

และเมื่อพิจารณาจากปัจจัยที่ว่าปัจจุบัน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคหนึ่งที่ดีมานด์ฟื้นตัวดีขึ้นร่วมกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ดังที่ธนาคารโลก หรือ เวิลด์แบงก์ ระบุว่า เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกกำลังเติบโตเร็วกว่าส่วนอื่น ๆ ของโลก อีกทั้ง S&P Global ระบุว่า ดีมานด์สินค้าที่ผลิตในอาเซียนที่ฟื้นตัวขึ้นดูเหมือนจะได้รับแรงหนุนจากดีมานด์ในประเทศเป็นหลัก ขณะที่คำสั่งซื้อจากต่างประเทศยังคงชะลอตัวเป็นเดือนที่ 22 ติดต่อกันและชะลอตัวรุนแรงขึ้น จึงคาดการณ์ได้ว่า สินค้าที่จีนเริ่มผลิตมากขึ้นในช่วงเดือนที่ผ่านมาจะถูกส่งขายในเอเชียตะวันออกซึ่งรวมถึงอาเซียนในสัดส่วนที่สูง

อีกข้อมูลที่ยืนยันแนวโน้มดังกล่าวคือ มูลค่าการส่งออกของจีนในเดือนมกราคม และกุมภาพันธ์ ขยายตัวแรงเกินความคาดหมายถึง 7.1% ในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ มูลค่า 528,010 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเพิ่มขึ้น 10.3% ในรูปเงินหยวน คิดเป็นมูลค่า 3.75 ล้านล้านหยวน

ส่งผลให้จีนเกินดุลการค้า 125,160 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และสูงกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดว่าจะอยู่ที่ 103,7000 ล้านดอลลาร์

สินค้าที่จีนส่งออกได้เพิ่มขึ้นมากในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา คือ เครื่องจักรและผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ คิดเป็นเกือบ 60% ของการส่งออกทั้งหมด โดยมูลค่าการส่งออกอุปกรณ์ประมวลผลข้อมูลอัตโนมัติเพิ่มขึ้น 7.3% การส่งออกแผงวงจรรวมเพิ่มขึ้น 28.6% และการส่งออกยานยนต์เพิ่มขึ้น 15.8%

ปลายทางการส่งออกที่แข็งแกร่งที่สุดและขับเคลื่อนการเติบโตของการส่งออกของจีน คือ “อาเซียน” ซึ่งจีนส่งสินค้าเข้าอาเซียนเพิ่มขึ้น 9.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (YOY) เป็นมูลค่า 588,000 ล้านหยวน อีกตลาดที่การส่งออกของจีนฟื้นตัวดี คือ ตลาดสหรัฐ ที่จีนส่งเข้าไปได้เพิ่มขึ้น 8.1% มูลค่า 708,000 ล้านหยวน ขณะที่ตลาดยุโรปชะลอลงโดยจีนส่งออกได้เพิ่มขึ้นเพียง 1.6%

ทั้งนี้ แม้ว่าไม่ต้องคำนึงถึงปัจจัย ณ ปัจจุบันที่ว่า ดีมานด์ทั่วโลกยังไม่ฟื้นตัว การผลิตของจีนก็ถูกตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์อยู่แล้วว่า “ผลิตล้นเกิน” ดังที่ เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐ กล่าวติงจีนหลายครั้งเมื่อเร็ว ๆ นี้ และประกาศว่า สหรัฐอาจจะต้องใช้มาตรการ “ปกป้องการค้า” เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดกับอุตสาหกรรมของสหรัฐ และประเทศอื่น ๆ และหากจีนโดนมาตรการกีดกันทางการค้าจากสหรัฐและยุโรปมากขึ้น ก็หนีไม่พ้นที่สินค้าเหล่านั้นจะเบนเข็มมาที่อาเซียนแทน

ปรากฏการณ์และข้อมูล-สถิติเหล่านี้ที่บ่งชี้ว่าสินค้าจีนจะทะลักเข้ามาตลาดอาเซียนมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้การแข่งขันของผู้ผลิตในประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนลดลงเรื่อย ๆ สอดคล้องกับที่ ดร.สันติธาร เสถียรไทย Future Economy Advisor สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และกรรมการในคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วิเคราะห์เอาไว้ในเสวนาพิเศษ “Geopolitics Outlook” บนเวทีสัมมนา PRACHACHAT BUSINESS FORUM โดย “ประชาชาติธุรกิจ” เมื่อเร็ว ๆ นี้

โดย ดร.สันติธารกล่าวว่า ตอนนี้ดีมานด์ในประเทศจีนไม่ดี แต่การผลิตจีนยังคงเก่งมาก ความสามารถในการแข่งขันสูงมาก และมีการผลิตล้นเกินในหลายด้าน ซึ่งเมื่อเศรษฐกิจในประเทศอ่อนแอ จีนยิ่งต้องพึ่งพาการส่งออกข้างนอกมากขึ้น ในขณะเดียวกันการส่งออกไปตลาดสหรัฐอเมริกา และยุโรป มีความไม่แน่นอนที่จีนจะโดนกีดกันทางการค้า ดังนั้น ตลาดที่แน่นอนสำหรับจีน คือ อาเซียน

“เพราะฉะนั้น ธุรกิจจีนก็มาบุกตลาดอาเซียน พอบุกตลาดอาเซียน สิ่งที่เกิดขึ้นคือ สินค้าทั้งหลายเข้ามาก็ทำให้ธุรกิจไทยได้รับผลกระทบเต็ม ๆ ถ้าเราเห็นตัวเลขหลาย ๆ อย่างทางเศรษฐกิจก็จะเห็นเลยว่า ส่วนแบ่งการนำเข้าของเราเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ การผลิตในประเทศน้อยลง และของหลายอย่าง แฟชั่น เฟอร์นิเจอร์ สินค้าหลายอย่างมากเราสู้ไม่ค่อยได้ กระทบโดยตรง และมันจะเป็นอย่างนี้ต่อไป” ดร.สันติธารกล่าว