บริษัทญี่ปุ่นดิ้นปรับโครงสร้าง เล็งควบรวม-ขาย Non-Core ทิ้ง หลังตลาดหุ้นกดดันหนัก

ญี่ปุ่น

แม้ว่าญี่ปุ่นจะเป็นประเทศที่เศรษฐกิจพัฒนากว่าประเทศไหน ๆ ในเอเชีย แต่ถ้ามองภาพย่อยลงไปในระดับองค์กร การบริหารและการกำกับดูแลของบริษัทในญี่ปุ่นจำนวนมากยังไม่ก้าวหน้ามากนัก ซึ่งนั่นทำให้บริษัทญี่ปุ่นกำลังถูกกดดันหนักจากตลาดหลักทรัพย์

ปี 2023 ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นโตเกียว (TSE) ทำผลงานสูงสุดในรอบ 3 ทศวรรษ เนื่องจากนักลงทุนคาดหวังว่าบริษัทจะเพิ่มผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้นผ่านการยกเลิกการถือหุ้นไขว้ การซื้อหุ้นคืน และมาตรการอื่น ๆ

ในปัจจุบัน เกือบครึ่งหนึ่งของหุ้นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นญี่ปุ่นมีราคาซื้อขายต่ำกว่ามูลค่าตามบัญชี ตลาดหลักทรัพย์โตเกียวจึงกำลังกดดันบริษัทต่าง ๆ ทบทวนการใช้เงินทุน โดยเมื่อวันจันทร์ที่ 15 มกราคม 2024 ตลาดหลักทรัพย์โตเกียวได้เผยแพร่รายชื่อบริษัทพร้อมกับแผนที่จะใช้ในการกดดันบริษัทที่ยังล้าหลังตลาด

ขณะเดียวกัน มีการเผยแพร่ข้อมูลน่าสนใจเกี่ยวกับความพยายามปรับตัวของธุรกิจญี่ปุ่นจากการสำรวจที่จัดทำโดยรอยเตอร์ (Reuters) ร่วมกับนิกเคอิ รีเสิร์ช (Nikkei Research) เมื่อเร็ว ๆ นี้ที่พบว่า บริษัทญี่ปุ่นประมาณครึ่งหนึ่งกำลังพิจารณาจะปรับโครงสร้างธุรกิจเพื่อเพิ่มมูลค่าองค์กร

ผลการสำรวจนี้ ซึ่งสำรวจระหว่างวันที่ 22 ธันวาคม 2023 ถึง 12 มกราคม 2024 ถือเป็นสัญญาณใหม่ล่าสุดของการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมของบริษัทในญี่ปุ่นที่กำลังมองหาวิธีดำเนินการเพื่อยกเครื่องธุรกิจและเพิ่มมูลค่าองค์กร ท่ามกลางกระแสการกดดันจากตลาดหลักทรัพย์ให้บริษัทปรับปรุงการกำกับดูแลกิจการ

การสำรวจของรอยเตอร์ร่วมกับนิกเคอิพบว่า ในบรรดาบริษัท 104 แห่งที่ทำการสำรวจ มีประมาณครึ่งหนึ่งที่กำลังพิจารณาถึงการปรับโครงสร้างองค์กรตามการกดดันของตลาดหุ้น โดย 1 ใน 3 ของบริษัทที่ตอบแบบสำรวจพิจารณาจะรวมธุรกิจหลักของตนเข้ากับบริษัทอื่น ๆ โดยการควบรวมและซื้อกิจการ (M&A) ส่วนอีกประมาณ 1 ใน 4 พิจารณาจะขายธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก (Non-Core Business) ออกไป

ผู้ตอบแบบสอบถามรายหนึ่งจากภาคธุรกิจค้าส่งกล่าวว่า บริษัทของเขากำลังมองไปที่การปรับโครงสร้างใหม่ โดยที่ควบรวมกิจการกับบริษัทที่ทำอุตสาหกรรมปลายน้ำ และผู้ตอบแบบสอบถามอีกคนหนึ่งกล่าวว่า กำลังพิจารณาที่จะขยายขนาดองค์กรผ่านการควบรวมกิจการเชิงรุก

อตุล โกยาล (Atul Goyal) นักวิเคราะห์ของ เจฟเฟอรีส์ (Jefferies) วาณิชธนกิจจากสหรัฐเขียนวิเคราะห์ไว้ก่อนหน้านี้ว่า ญี่ปุ่นพร้อมที่จะเข้าสู่ “ยุคทอง” หากมีการปรับโครงสร้างธุรกิจอย่างจริงจัง

“ญี่ปุ่นกำลังเข้าสู่ทศวรรษแห่งการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างที่ได้รับแรงหนุนจากข้อบังคับใหม่ของรัฐบาล และตลาดหลักทรัพย์โตเกียวจะเพิ่มประสิทธิภาพการจัดสรรเงินทุน”

แม้ว่าการปรับโครงสร้างจะส่งผลดีในอนาคต แต่ในตอนนี้บริษัทจำนวนมากไม่พร้อมสำหรับการปรับโครงสร้าง และรู้สึกว่ามีภาระหนักอึ้ง โดยบรรดาบริษัทที่ได้รับการสำรวจเมื่อปีที่แล้วระบุในปีนี้ว่า พวกเขารู้สึกได้ถึงภาระที่เกี่ยวข้องกับการเข้าจดทะเบียนในตลาดมากขึ้น

ส่วนหนึ่งในความพยายามของบริษัทต่าง ๆ เพื่อเลี่ยงแรงกดดันของผู้ถือหุ้น คือการที่ผู้บริหารซื้อหุ้นเอง ซึ่งพบว่า มีการซื้อหุ้นโดยผู้บริหารบริษัทเองในราคาสูงกว่าราคาตลาดเพิ่มมากขึ้น

และ 15% ของบริษัทที่ตอบแบบสำรวจกล่าวว่า กำลังพิจารณาที่จะเพิ่มการจ่ายเงินปันผล หรือได้เพิ่มเงินปันผลแล้ว เพื่อดึงดูดนักลงทุน ขณะที่สัดส่วนน้อยกว่านั้นระบุว่า กำลังพิจารณาการซื้อคืนหุ้นหรือการแตกพาร์หุ้น

นอกจากการปรับโครงสร้างแล้ว ตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่นยังกำหนดให้บริษัทจดทะเบียน ต้องเปิดเผยข้อมูลสำคัญเป็นภาษาอังกฤษนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2025 เป็นต้นไป เพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ เนื่องจากตลาดหุ้นของประเทศอื่นที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักก็มีการเปิดเผยข้อมูลภาษาอังกฤษมากขึ้นแล้ว ซึ่งนั่นทำให้ตลาดญี่ปุ่นมีความเสี่ยงที่จะเสียนักลงทุนต่างชาติไป หากไม่สามารถตามการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ทัน