รู้จัก “พลาซา แอคคอร์ด” ที่ทำให้ญี่ปุ่นย้ายฐานผลิตมาอาเซียน และ “ไทย” ได้ประโยชน์สูงสุด

ญี่ปุ่น โตเกียว

“ญี่ปุ่น” เป็นประเทศแรกในทวีปเอเชียที่เศรษฐกิจพัฒนาทัดเทียมประเทศตะวันตก และมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ผ่านการเข้าไปตั้งฐานการผลิตสินค้าในประเทศต่าง ๆ 

การเข้ามาของญี่ปุ่นทำให้เศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เติบโตขึ้น และดันให้รายได้เฉลี่ยต่อหัวประชากรเพิ่มขึ้น

แรกเริ่มเดิมที ตั้งแต่เริ่มพัฒนาอุตสาหกรรม สินค้าที่ญี่ปุ่นส่งออกไปขายทั่วโลกก็ผลิตเองภายในประเทศญี่ปุ่น ต่อมา ในช่วงปี 1960-1980 ซึ่งเศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโตอย่างรวดเร็ว ญี่ปุ่นได้ขยายออกไปลงทุนผลิตสินค้านอกประเทศ โดยไปตั้งฐานการผลิตในกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ คือ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน และฮ่องกง (NIEs4) แต่ก็ยังเน้นการผลิตในประเทศอยู่

จนกระทั่งเกิด “จุดเปลี่ยน” คือ การเกิดขึ้นของ “พลาซา แอคคอร์ด” (Plaza Accord) หรือ “ข้อตกลงพลาซา” ในปี 1985 ที่ส่งผลให้ “เงินเยน” ของญี่ปุ่นแข็งค่าขึ้นมากอย่างรวดเร็ว หากญี่ปุ่นผลิตสินค้าในประเทศ สินค้าของญี่ปุ่นจะมีราคาแพง และในทางตรงข้าม ญี่ปุ่นสามารถนำเงินเยนออกไปซื้อสินค้า-วัตถุดิบ และจ่ายค่าจ้างแรงงานในต่างประเทศได้ในราคาถูกกว่าในประเทศ 

ด้วยปัจจัยดังกล่าว ญี่ปุ่นจึงย้ายฐานการผลิตออกนอกประเทศ มุ่งมายังประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีผู้รับประโยชน์หลักคือกลุ่ม ASEAN-4 ซึ่งประกอบด้วย ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ 

ไทยเป็นประเทศที่รับผลประโยชน์สูงสุดจากการย้ายฐานการผลิตออกนอกประเทศของญี่ปุ่นหลังเหตุการณ์ “พลาซา แอคคอร์ด” โดยมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) จากญี่ปุ่นที่ไหลเข้าไทยเพิ่มขึ้น 25 เท่าในช่วงปี 1985-1990 และนั่นเป็นที่มาของเป้าหมายที่ว่า “ไทยจะเป็นเสือตัวที่ 5 ของเอเชีย” ตามหลังฮ่องกง สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และไต้หวัน

แล้ว “พลาซา แอคคอร์ด” คืออะไร ?  

พลาซา แอคคอร์ด เป็นข้อตกลงระหว่างกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว 5 ประเทศ (G5) คือ ฝรั่งเศส เยอรมนี สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และญี่ปุ่น มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “ปฏิญญาระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางของฝรั่งเศส เยอรมนี ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และสหรัฐ” (Announcement of the Ministers of Finance and Central Bank Governors of France, Germany, Japan, the United Kingdom, and the United States) ซึ่งรัฐบาลของทั้ง 5 ประเทศได้ลงนามในข้อตกลง ณ โรงแรมพลาซา ในนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 22 กันยายน 1985 (พ.ศ. 2528) 

สาระหลักของข้อตกลงนี้ว่าด้วยการที่สหรัฐอเมริกาจะแทรกแซงค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ให้เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง

ข้อตกลงนี้เกิดขึ้นเนื่องมาจากก่อนหน้านั้นเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่ามาก ทำให้อุตสาหกรรมของสหรัฐมีความสามารถในการแข่งขันน้อย-ส่งออกสินค้าได้น้อย สหรัฐขาดดุลการค้าเยอรมนีและญี่ปุ่นมหาศาล สหรัฐจึงต้องการแทรกแซงค่าเงินให้เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมในสหรัฐ เพิ่มการส่งออก ลดการขาดดุลการค้า

ผลของ “พลาซา แอคคอร์ด” หรือข้อตกลงพลาซา ทำให้ญี่ปุ่นซึ่งก่อนหน้านั้นเงินเยนอ่อนค่ามากกลายเป็นเงินเยนแข็งค่าขึ้นมากอย่างรวดเร็ว เมื่อเงินเยนแข็งค่าก็ส่งผลให้ญี่ปุ่นส่งออกได้น้อยลง เศรษฐกิจญี่ปุ่นที่พึ่งพาการส่งออกจึงเติบโตได้น้อยลงตามไปด้วย 

จากผลกระทบดังกล่าวนั้น บริษัทญี่ปุ่นพยายามเอาตัวรอดจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและต้นทุนการผลิตในประเทศสูงโดยการนำเงินออกมาลงทุนตั้งฐานการผลิตนอกประเทศที่มีต้นทุนต่ำกว่า ซึ่งแจ็กพอตก็มาลงที่ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ หรือกลุ่ม ASAEN-4 

การหลั่งไหลออกมาตั้งฐานการผลิตในอาเซียนหลังเกิดข้อตกลง “พลาซา แอคคอร์ด” นับเป็นคลื่นระลอกที่สองของการออกไปลงทุนต่างประเทศของบริษัทญี่ปุ่น หลังจากที่ออกไปตั้งฐานการผลิตในฮ่องกง สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และไต้หวัน จนมีส่วนสร้าง “4 เสือแห่งเอเชีย” ขึ้นมาก่อนหน้านั้น 

มีข้อมูลของธนาคารกลางญี่ปุ่น (Bank of Japan) ระบุว่า หลังจากมี “พลาซา แอคคอร์ด” กระแสเงินลงทุนโดยตรงไหลออกจากญี่ปุ่นมหาศาล มูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) จากญี่ปุ่นที่ไหลเข้าประเทศแถบเอเชียตะวันออกซึ่งรวมถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากมูลค่าประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงครึ่งแรกของทศวรรษ 1980 เพิ่มขึ้นสู่จุดสูงสุดประมาณ 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 1989

นักเศรษฐศาสตร์ชาวญี่ปุ่นเคยอธิบายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของประเทศในเอเชียตะวันออกที่พัฒนาขึ้นโดยได้รับผลประโยชน์จากญี่ปุ่นเอาไว้ว่าเป็น “ห่านบิน” – กลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เศรษฐกิจพัฒนาน้อยกว่าญี่ปุ่นเปรียบเสมือน “ฝูงห่าน” ที่บินขึ้นตามญี่ปุ่นซึ่งเป็น “จ่าฝูง”