“ยุโรป” บ่ายหน้าจับมือจีน ป้อง “ค้าเสรี-พหุภาคีโลก”

ถึงตอนนี้โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ได้ชื่อว่าเป็นผู้เขย่าและสั่นคลอน “ระเบียบการค้าโลก” ที่ยึดถือกันมานาน เห็นได้จากการเปิดฉากสงครามการค้า ด้วยการจัดเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากหลายประเทศที่สหรัฐขาดดุลการค้าด้วย ซึ่งหากจะเก็บภาษีสินค้าจากจีนไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะอย่างน้อยจีนก็เป็นประเทศที่มีระบอบการปกครองตรงข้ามกับสหรัฐ ที่สหรัฐไม่พอใจอยู่หลายเรื่อง

แต่ความน่ากังวลอยู่ตรงที่สหรัฐประกาศเปิดสงครามการค้าชาติพันธมิตรในยุโรป รวมทั้งแคนาดาและญี่ปุ่นด้วย ซึ่งแต่ไหนแต่ไรมาถือว่าเป็นขั้วเดียวกันอย่างแนบแน่นทั้งในแง่ระบอบการปกครองและการค้า โดยรอบแรกได้ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมจากสหภาพยุโรป (อียู) ไปแล้ว

และระลอกที่สองขู่จะเก็บภาษีสินค้าประเภทรถยนต์ ยานยนต์ 20% ซึ่งการกระทำเช่นนี้เป็นการ “ลงโทษ” ชาติพันธมิตรด้วยกัน

เมื่อเห็นชัดแล้วว่าทรัมป์เดินหน้าจริงจังที่จะละทิ้งการค้าเสรี ละทิ้งการค้าพหุภาคี ละทิ้ง “ระเบียบโลก” ที่อยู่บนพื้นฐานของกฎกติกา ผลักดันให้สหภาพยุโรปต้องเปลี่ยนขั้วไปหาจีนเพื่อจะรักษาการค้าเสรี-การค้าพหุภาคีโลก ไม่ให้ถึงกาลอวสานอย่างฉับพลัน กลายเป็นภาพของการ “สลับขั้ว” ที่ไม่ค่อยคุ้นตาทั้งที่ปกติแล้วยุโรปกับอเมริกาจะอยู่ขั้วเดียวกันเพื่อต่อสู้กับจีน

ปัจจุบันทั้งยุโรปและจีนกำลังเพิ่มความสัมพันธ์การค้าให้เข้มแข็งขึ้น โดยใช้รูปแบบการค้าพหุภาคี ซึ่งเป็นรูปแบบที่โดนัลด์ ทรัมป์ คัดค้านโดยอ้างว่าส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจสหรัฐ

ยูริกี กาไตเน็น รองประธานคณะกรรมาธิการอียู เปิดเผยว่า ทั้งจีนและอียูเชื่อในการค้าพหุภาคีและระเบียบโลกที่อยู่บนพื้นฐานของกฎระเบียบ และทั้งสองฝ่ายกำลังมีความก้าวหน้าในการจัดทำข้อตกลงเรื่องนี้ อีกไม่นานทั้งอียูและจีนจะแลกเปลี่ยนข้อเสนอว่าด้วยการเข้าถึงตลาดด้านการลงทุน อียูและจีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของโลก โดยจีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 2 ของอียูต่อจากอเมริกา ส่วนอียูเป็นคู่ค้ารายใหญ่สุดของจีน แต่ละวันมีมูลค่าค้าขายระหว่างกันมากกว่า 1,000 ล้านยูโร

สัปดาห์ที่แล้ว นายเอดัวร์ ฟิลิปป์ นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส เดินทางไปเยือนจีนเป็นเวลา 4 วัน เพื่อขยายและเพิ่มความสัมพันธ์การค้า ซึ่งปรากฏว่าฝรั่งเศสได้อะไรติดไม้ติดมือมาบ้าง นั่นคือจีนยอมยกเลิกการแบนเนื้อจากฝรั่งเศสและเปิดให้นำเข้าได้ หลังจากแบนมานานนับ 10 ปี

ส่วนสินค้าชิ้นใหญ่กว่านั้นคือ การซื้อเครื่องบินแอร์บัส มีท่าทีในทางบวก โดย นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน ระบุว่า จีนเต็มใจจะเจรจาซื้อเครื่องบินแอร์บัสต่อไปและในเวลาที่เหมาะสมก็จะลงนามซื้อ ทั้งนี้สายการบินไชน่า เซาเทิร์น กำลังต้องการซื้อเครื่องบินลำตัวแคบจำนวน 150 ลำ ลักษณะเดียวกับแอร์บัส เอ320 ซึ่งเป็นคู่แข่งของโบอิ้งจากสหรัฐ

ไม่เพียงกระชับสัมพันธ์การค้ากับจีนเท่านั้น ยุโรปยังกำลังสร้างพันธมิตรใหม่ ๆ ทั่วโลก โดยสัปดาห์ก่อนได้เปิดเจรจาการค้าเสรีกับออสเตรเลีย ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อตกลงมากกว่า 10 เรื่องที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของอียู โดยคาดว่าหากสำเร็จจะช่วยเพิ่มจีดีพีของอียูเป็น 4.9 พันล้านยูโรภายในปี

ค.ศ. 2030 สินค้าหมวดที่อยู่ในการเจรจา ประกอบด้วยเครื่องจักร รถยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เคมี และเหล็กซีซิเลีย มาล์มสตรอม กรรมาธิการการค้าอียู กล่าวว่า ข้อตกลงการค้าเหล่านี้เป็นการส่งสัญญาณว่า อียูและพันธมิตรกำลังรวมพลังกัน พวกเรากำลังจัดรูปทรงโลกาภิวัตน์และยืนหยัดเพื่อการค้าเสรี เราต้องการความช่วยเหลือจากพันธมิตรเพื่อบรรลุเป้าหมายนี้

ทางด้าน นาย ไฮโค มาส รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนี ออกประกาศว่าแอตแลนติกกำลังห่างกันมากขึ้นภายใต้ประธานาธิบดีทรัมป์ นโยบายโดดเดี่ยวตัวเองของทรัมป์ทำให้โลกเกิดสุญญากาศขนาดใหญ่ ดังนั้นการตอบสนองร่วมกันของพวกเราในวันนี้ต่อนโยบาย “อเมริกา เฟิร์สต์” ก็คือ “ยุโรปต้องเป็นหนึ่งเดียว”

โลกยังต้องลุ้นกันต่อไปว่ามหาอำนาจเบอร์หนึ่งของโลกจะสร้างความระส่ำระสาย คาดเดาไม่ได้ไปอีกนานเท่าใด