เตือนภัย “เอเชีย” สร้างขยะเบอร์ 1 โลก

“เอเชีย” ภูมิภาคที่กำลังเติบโตของ “สังคมเมือง” แต่ผลที่มาพร้อมกันก็คือ ปัญหา “สิ่งแวดล้อม” ที่กำลังผันแปรไปสู่สภาวะที่แย่ลง หนึ่งในนั้นก็คือ ปัญหา “ขยะมูลฝอย” ที่มีปริมาณมากขึ้น และไม่ได้รับการบริหารจัดการอย่างถูกต้อง

การประชุม “Global Waste Management Conference 2017” จัดขึ้นที่ประเทศไทย โดยบริษัท Confexhub ของมาเลเซีย ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขของไทย และสมาคมขยะมูลฝอยสากล (ISWA) อ้างอิงข้อมูลของเวิลด์แบงก์ระบุว่า ปัจจุบันขยะมูลฝอยชุมชน(MSW) ทั้งโลกมีมากถึง 1,300 ล้านตันต่อปี และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2,200 ล้านตัน ในปี 2025

โดยพบว่ามาจากภูมิภาคเอเชีย วันละ 1 ล้านตัน ด้วยปัจจัยการขยายตัวของเขตเมืองที่รวดเร็ว และภาวะสังคมรายได้ต่ำสู่รายได้ปานกลาง ที่มีนัยสำคัญต่อการเพิ่มขึ้นของขยะมูลฝอยด้วย

หากแบ่งเป็นสัดส่วนตามภูมิภาคจะพบว่า กลุ่มของประเทศที่พัฒนาแล้ว และที่อยู่ในองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) มีสัดส่วนการสร้างขยะมูลฝอยต่อคนมากที่สุดที่ 44% ของโลก แต่ก็เป็นกลุ่มที่นำขยะมารีไซเคิลมากที่สุด

ส่วน EAP หรือเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก มีสัดส่วนการสร้างขยะมูลฝอย 21% โดยมีปริมาณการสร้างขยะอยู่ที่ 738,958 ตันต่อวัน และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 1,865,379 ตันต่อวัน ในอีก 8 ปีข้างหน้า ขณะที่กลุ่ม OECD สร้างขยะจากปัจจุบัน 1,566,286 ตันต่อวัน เป็น 1,742,417 ตันต่อวัน

“จากผลศึกษาในปี 2025 ภูมิภาค EAP จะกลายเป็นอันดับหนึ่งที่สร้างขยะชุมชนมากที่สุดในโลก ด้วยปัจจัยที่สร้างขยะมีอยู่สูง แต่นวัตกรรมที่บริหารจัดการกับขยะยังไม่สอดคล้องกับปริมาณที่เพิ่มขึ้น”

แม้ว่าประเทศ EAP จะใช้งบประมาณจัดการขยะต่อปีละ 25 ล้านดอลลาร์ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นสูงถึง 47 ล้านดอลลาร์ต่อปี แต่ปัจจุบันการเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมยังท้าทาย เพราะการจัดการที่ไม่เป็นระบบ

ขณะที่ “สิงคโปร์” ประเทศต้นแบบของภูมิภาคในการเป็น “เมืองสะอาด” มุ่งให้ความสำคัญจากจุดเล็ก ๆ ภายในครัวเรือนก่อน คือ “การรีไซเคิล” โดยมีการแบ่งแยกประเภทขยะก่อน เพื่อให้ง่ายต่อการจัดการ

ส่วนขยะที่ไม่สามารถนำมารีไซเคิลได้ จะถูกเผาให้เป็นเถ้าถ่านที่โรงงาน WTE หลังจากนั้นจะถูกขนส่งไปยัง Tuas Marine Transfer Station (TMTS) เพื่อนำเศษเถ้าถ่านทั้งหมดไปถม จนกลายเป็น “เกาะเซมาเกา” หรือที่เรียกกันว่า “เมืองเถ้าขยะแห่งสิงคโปร์”

นายเฮอแมนน์ โคเลอร์ กรรมการผู้จัดการ องค์กรขยะมูลฝอยสากล กล่าวว่า“การจัดการขยะมูลฝอยของสิงคโปร์น่าประทับใจ เพราะไม่เพียงแต่ทำให้สะอาด โรงงาน WTE ยังสามารถเปลี่ยนขยะเป็นพลังงานไฟฟ้าได้ โดยปัจจุบันผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าได้มากถึง 56 เมกะวัตต์ต่อวัน”

ตัวอย่างกรณีของสิงคโปร์สามารถพูดได้ว่า นวัตกรรมและเทคโนโลยีมีความสำคัญต่อการบริหารจัดการขยะมูลฝอย ให้ได้ประสิทธิภาพมากขึ้น เวทีการแลกเปลี่ยนนวัตกรรมระหว่างกันจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงที่ดี

การที่เอเชียเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีความสำคัญทั้งทางธุรกิจ การลงทุน และภาคท่องเที่ยว ประกอบกับสัดส่วนของกลุ่มรายได้ปานกลางของประชากรที่เพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี จึงไม่สามารถมองข้ามปัญหานี้ได้ หากมีความร่วมมือระหว่างประเทศที่ดี เชื่อว่าจะส่งผลดีต่ออนาคตทั้งภูมิภาคด้วย