ถึงยุค “หุ่นยนต์” ถูกปลด แรงงาน “คน” ยังจำเป็น

โลกที่ถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี สร้างความหวาดกลัวให้กับคนมากขึ้นวิตกว่า “หุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์” กำลังเข้ามาแทนที่มนุษย์ อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจของ “แมนพาวเวอร์ กรุ๊ป” ผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจจัดหางานของสหรัฐอเมริกาชี้ว่า 

“คนยังมีความสำคัญต่อธุรกิจ ขณะที่หุ่นยนต์จำเป็นต้องมีคนเป็นผู้ควบคุมดูแล”

งานวิจัยหัวข้อ “Human wanted : Robots need you” ของบริษัทแมนพาวเวอร์กรุ๊ปจากรัฐวิสคอนซิน ซึ่งเป็นผลสำรวจนายจ้างทั้งหมด 19,000 คน จาก 44 ประเทศ รวมทั้งคนที่มีประสบการณ์ตรงจากการใช้หุ่นยนต์ในการทำงานและไม่มีประสบการณ์ แสดงความเห็นเกี่ยวกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของแรงงานคนสู่แรงงานหุ่นยนต์ ภายในอีก 2 ปีข้างหน้า

ผลสำรวจพบว่านายจ้าง 87% เตรียมจะจ้างแรงงานคนมากขึ้นรับมือกับแรงงานหุ่นยนต์ ขณะที่มีเพียง 9% ที่จะลดการจ้างงานคน และ 4% ตอบว่ายังไม่แน่ใจ

ขณะเดียวกันนายจ้างราว 84% จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดวางแผนที่จะเพิ่มทักษะงานด้านไอทีให้กับพนักงานทุกส่วนภายในปี 2020 โดยเฉพาะทักษะเพื่อช่วยควบคุมหุ่นยนต์ให้สามารถทำงานร่วมกับคนได้ จากปี 2017 มีสัดส่วนเพียง 53% และปี 2011 ที่มีเพียง 21%

นายโจนาส ไพรสซิง ประธานและซีอีโอของแมนพาวเวอร์กรุ๊ป กล่าวว่า ปัจจุบันหุ่นยนต์ AI เข้ามามีบทบาทมากขึ้นต่อธุรกิจ โดยเฉพาะในภาคบริการ เช่น ร้านอาหารและโรงแรม ในหลายประเทศที่มีการเปลี่ยนผ่านจากแรงงานคนสู่แรงงานหุ่นยนต์มากขึ้น เช่น

ญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้ รวมถึงในสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม หุ่นยนต์ AI จะไม่สามารถแทนที่แรงงานคนได้อย่าง 100% ขณะที่ระบบปฏิบัติการของหุ่นยนต์ยังไม่เสถียร ซึ่งอาจสร้างความเสียหายให้กับธุรกิจมากกว่าได้รับประโยชน์

ตัวอย่างล่าสุดจาก “โรงแรม Henn-na” ในกรุงโตเกียว เคยถูกขนานนามว่าเป็น “โรงแรมต้นแบบแห่งอนาคต” เพราะพนักงานทั้งหมดเป็นหุ่นยนต์ AI เมื่อสัปดาห์ก่อนสั่งปลดหุ่นยนต์ออกครึ่งหนึ่ง หรือ 243 ตัว และเตรียมจ้างพนักงานคนมาทำงานแทน เพราะทำงานผิดพลาดสร้างความเสียหายให้กับโรงแรมมากขึ้น เช่น หุ่นยนต์ Chu-ri ที่ประจำตำแหน่งผู้ช่วยในห้องพักเพื่อตอบคำถามแขกที่มาพัก กลับไม่สามารถตอบคำถามได้ทั้งหมด และบางครั้งก็เปิดใช้งานเองอัตโนมัติเพียงเพราะได้ยินเสียงกรนของลูกค้า นอกจากนี้หุ่นยนต์ที่ยกกระเป๋าไม่สามารถจัดส่งกระเป๋าได้ถึงห้องพัก หากทางเดินถูกตกแต่งขึ้นใหม่หรือเปลี่ยนไปจากเดิม

เจ้าของโรงแรม Henn-na กล่าวว่า การซ่อมแซม หรืออัพเกรดโปรแกรมมีราคาแพงกว่าที่จะจ้างพนักงานคนจริง ๆ โดยเฉลี่ยแล้วค่าซ่อมบำรุงต่อเดือนจะอยู่ที่ราว ๆ 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ และค่าใช้จ่ายจะสูงขึ้นในช่วงไฮซีซั่นของญี่ปุ่น

ส่วนในร้านอาหารในกรุงโซล เจ้าของร้านต้องออกนโยบายลดชั่วโมงทำงานของหุ่นยนต์เสิร์ฟอาหารลง จากวันละ 10 ชั่วโมง เหลือเพียง 5-6 ชั่วโมง เนื่องจากระบบจะรวนเมื่อถูกใช้งานมากเกินไป ไม่สามารถเสิร์ฟอาหารถึงโต๊ะลูกค้าได้ เจ้าของร้านเผยว่า ใช้งานหุ่นยนต์เหล่านี้ได้เพียง 2 ปีเท่านั้น

หรือแม้แต่ใน “จีน” ร้านอาหาร 3 แห่งในเมืองกว่างโจว สั่งปลดหุ่นยนต์เสิร์ฟอาหารออกเกือบหมด เพราะไม่สามารถรับออร์เดอร์จากลูกค้าได้ถูกต้อง ขณะที่ หุ่นยนต์พนักงานต้อนรับ เคยเปิดประตูร้านกระแทกโดนลูกค้า เนื่องเพราะสภาพอากาศที่หนาวเย็นเกินไป ทำให้ระบบปฏิบัติการมีปัญหาขัดข้อง เป็นต้น

กลุ่มนายจ้างจากบริษัทในสหรัฐ แคนาดา สิงคโปร์ และประเทศในอเมริกาใต้แสดงความคิดเห็นในการตอบคำถามว่า อาจต้องใช้เวลาถึง 10 ปี ที่จะเห็นว่าหุ่นยนต์มีประสิทธิภาพมากขึ้นอย่างชัดเจน สามารถทำงานร่วมกับคนได้อย่าง 100% และสร้างประโยชน์ให้กับภาคธุรกิจมากกว่าที่จะเป็นภาระ