One Belt, One Road หวั่นก่อวิกฤตการเงินโลกรอบใหม่

ยุทธศาสตร์หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (One Belt, One Road-OBOR) หรือโครงการสายไหมศตวรรษที่ 21 ถือเป็นอภิมหาโครงการระดับโลกสุดทะเยอทะยานของจีน ที่จะเชื่อมโยงจีนกับทั่วโลก ตั้งแต่เอเชียไปจนถึงยุโรป ทั้งทางบกและทะเล ซึ่งพลันที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ประกาศโครงการนี้ขึ้นมา เมื่อเกือบ 4 ปีที่แล้ว ก็ถูกทั่วโลกจับตาว่ากำลังพยายามแผ่อิทธิพลทั่วโลกครั้งใหญ่

เนื่องจากเป็นโครงการที่ต้องใช้เงินมหาศาล ทำให้ถูกตั้งคำถามตั้งแต่แรกถึงความเป็นไปได้และความเสี่ยง โดยล่าสุดประเด็นการเงินถูกหยิบยกขึ้นมาแสดงความกังวลอีกครั้ง ด้วยเกรงว่าโครงการนี้อาจก่อให้เกิดวิกฤตการเงินระดับโลกอีกรอบ หลังจากธนาคาร “ไชน่าคอนสตรักชั่น” ซึ่งเป็นธนาคารรัฐขนาดใหญ่อันดับ 2 ของจีน เริ่มออกโรดโชว์ระดมทุนเพื่อนำไปสนับสนุนโครงการหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง โดยจะระดมทุนอย่างน้อย 1 แสนล้านหยวน (ประมาณ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) จากนักลงทุนทั้งในและนอกประเทศ

เช่นเดียวกับธนาคารรัฐอีกหลายแห่ง ทั้งแบงก์ ออฟ ไชน่า, อินดัสเตรียลแอนด์คอมเมอร์เชียล และอะกริคัลเจอร์ แบงก์ ออฟ ไชน่า ก็กำลังระดมทุนหลายพันล้านดอลลาร์

“บีจอร์น คอนราด” รองประธานสถาบันเมอร์เคเตอร์จีนศึกษา ชี้ว่า การระดมทุนมหาศาลของแบงก์รัฐจีน มีความเสี่ยงอย่างมากที่จะทำให้เกิดหนี้ที่ไม่ก่อรายได้ (เอ็นพีแอล) เพราะหลาย ๆ โปรเจ็กต์ของหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง มีความเสี่ยงสูงที่จะผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งนั่นก็จะเป็นความเสี่ยงต่อระบบธนาคารของจีนที่เป็นผู้ปล่อยกู้ สุดท้ายก็จะสร้างปัญหาให้กับระบบธนาคารทั่วโลก

“ซู เฉิงก่าง” อาจารย์เศรษฐศาสตร์ในปักกิ่ง เห็นด้วยกับความกังวลของคอนราด เพราะเงินเหล่านี้จะถูกปล่อยกู้ให้กับรัฐบาลของหลายประเทศที่มีความเสี่ยง หากโครงการเหล่านี้ดำเนินการโดยบริษัทเอกชนก็ไม่น่ากังวล เพราะเอกชนจะประเมินและทราบได้เองว่า พวกเขาจะแบกภาระจากผลกระทบได้มากแค่ไหน แต่เนื่องจากเป็นโครงการที่ปล่อยกู้ระหว่างรัฐบาลด้วยกัน ดังนั้นความเสี่ยงจึงสูง เพราะว่าพวกเขาจะไม่เผชิญกับข้อจำกัดด้านงบประมาณ (soft budget constraints) อันจะนำไปสู่การไร้วินัยด้านการเงิน

Advertisment

ตามความหมายแล้ว soft budget constraints หมายถึงแนวคิดที่ว่า บริษัทรัฐหรือรัฐวิสาหกิจมักจะไม่ถูกปล่อยให้ล้มละลาย เพราะว่ารัฐซึ่งมีผลประโยชน์อยู่ด้วยโดยตรง ก็จะทำทุกทางเพื่ออุ้มให้อยู่รอด ประเทศใดที่มีสภาพของ soft budget constraints สูง และมีรัฐวิสาหกิจจำนวนมากล้มละลาย ก็จะดิ้นรนหาเงินทุนสนับสนุน และนั่นก็จะกระทบการเงินโลก สำหรับประเทศจีนเอง ซึ่งรัฐมีสัดส่วนความเป็นเจ้าของกิจการสูง จึงน่ากังวลเป็นพิเศษ

เฉิงก่างชี้ว่า แรงจูงใจเบื้องหลังโครงการนี้ เกิดจากจีนต้องการแก้ปัญหากำลังการผลิตภายในประเทศล้น โดยเฉพาะเหล็ก ภาคก่อสร้างและวัสดุก่อสร้าง บริษัทหลายแห่งมีสภาพเป็นซอมบี้ จึงต้องหาทางลงทุนโครงการนอกประเทศเพื่อดูดซับกำลังการผลิตส่วนเกิน

“พวกเขา (จีน) ก็เลยเสนอให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ กู้เงิน และรัฐบาลเหล่านี้ก็จะใช้เงินทุนที่กู้จากจีนจ่ายให้กับบริษัทจีน”

ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (เอสแคป) แห่งสหประชาชาติ ได้เตือนว่า ประเทศในเอเชียกลางและใต้ที่จีนประกาศจะไปลงทุนหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง มีความเสี่ยงทางการเงินสูงเมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจ เช่น ประเทศอุซเบกิสถาน ที่มีการเซ็นสัญญากับจีนมูลค่า 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์นั้น เงินจำนวนดังกล่าวคิดเป็น 25% ของจีดีพีอุซเบกิสถาน รวมทั้งกรณีของคาซัคสถาน 3.7 หมื่นล้านดอลลาร์ ปากีสถาน 4.6 หมื่นล้านดอลลาร์ ล้วนแต่เป็นวงเงินที่สูงเมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจ

Advertisment

นอกจากนี้ ประเทศเหล่านี้ยังมีเศรษฐกิจอ่อนแอ เช่น คาซัคสถาน ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมากถึง 6% ของจีดีพี มีหนี้ต่างประเทศ 80% ของจีดีพี ส่วนปากีสถาน มีทุนสำรองระหว่างประเทศต่ำเพียง 4 เดือนเท่านั้น

หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์หลักของจีน ที่ถูกบรรจุไว้ในแผนพัฒนาประเทศ 5 ปี ซึ่งเป็นฉบับปัจจุบัน โดยจะมีทั้งถนน ท่าเรือ รางรถไฟท่อส่งน้ำมันและก๊าซ สนามบิน ใยแก้วนำแสง โรงไฟฟ้า เชื่อมโยงทั้งทางบกและทะเลกับ 60 ประเทศ ซึ่งมีพลเมืองรวมกันกว่า 4,000 ล้านคน