“มหาธีร์” ชูนโยบาย “Look East” ย้ำมาเลเซียไม่เลือกข้าง “จีน-สหรัฐ”

ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 34 ระหว่างวันที่ 20-23 มิ.ย. 2019 ที่กรุงเทพฯ บนเวทีการประชุมผู้นำธุรกิจอาเซียน หรือ ASEAN Business Summit 2019 ครั้งที่ 5 จัดโดย “บลูมเบิร์ก” เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.ที่ผ่านมา “ดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด” นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ได้รับเชิญเป็นแขกพิเศษมาพูดคุยในหัวข้อ “The Future ASEAN & Malaysia”

“Look East” ฟื้นมาเลเซีย

ดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีแห่งมาเลเซีย วัย 93 ปี ระบุถึงเป้าหมายของรัฐบาลมาเลเซียว่า แนวคิดและนโยบาย “มองตะวันออก” (Look East Policy) คือเน้นความร่วมมือในการพัฒนาการค้าการลงทุนกับชาติตะวันออก ดึงการลงทุนจากญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน รวมถึงชาติอาเซียนเข้ามาเลเซียมากขึ้น เพื่อพัฒนาฟื้นฟูเศรษฐกิจ ให้พ้นจากวิกฤต “หนี้สาธารณะ” จากรัฐบาลก่อน ที่ทุจริตในกองทุน “วันเอ็มดีบี”

ก่อนหน้านี้ นายกฯมหาธีร์กล่าวกับสื่อของมาเลเซียว่า “ญี่ปุ่น” อยู่ในเป้าความสนใจของมาเลเซียตลอด โดยมองว่า ชาวญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนที่ค่อนข้างภักดีและไม่ถอนการลงทุนง่าย ๆ เพียงเพราะการเปลี่ยนแปลงนโยบายในประเทศนั้น ๆ

มาเลย์ไม่เลือกข้าง “จีน-สหรัฐ”

ดร.มหาธีร์ กล่าวถึง “สงครามการค้า” ระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาว่า หากแนะนำผู้นำทั้งสองได้คงจะย้ำว่า “สงครามไม่เคยให้ประโยชน์กับใคร” ทั้งสองควรหันหน้ามาประนีประนอมกัน หากมาเลเซียจำเป็นที่จะต้องเลือกข้าง ผมก็คงไม่เลือกหรือเข้าข้างใคร เพราะการทำสงครามมีแต่จะทำให้สิ้นเปลือง ไร้ประโยชน์ และเสียเวลา

“สงครามการค้าครั้งนี้จะทำลายทั้งจีนและอเมริกา ผมคิดว่าหากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐปีหน้า โดนัลด์ ทรัมป์ ไม่ชนะเราอาจจะหาทางออกในปัญหาต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น”

นายกฯมาเลเซีย กล่าวอีกว่า “เป้าหมายของรัฐบาลมาเลเซียตอนนี้ คือ การหาวิธีที่จะทำงานร่วมกับประเทศมหาอำนาจทั้งสอง แทนที่จะปล่อยให้ความกลัวเข้าครอบงำ และทำให้เราตกเป็นเหยื่อของสงครามการค้า” พร้อมย้ำว่า “มาเลเซียเป็นมิตรกับทุกประเทศในโลกนี้ เราจะสนับสนุนหากจำเป็น และเราก็ร่วมวิพากษ์วิจารณ์หากจำเป็นเช่นเดียวกัน”

ชี้วิธีการของ “จีน” เป็นมิตรกว่า

เมื่อ ดร.มหาธีร์ ถูกถามถึงความบาดหมางระหว่างจีน-สหรัฐที่รุนแรงขึ้นพราะความทะเยอทะยานของจีนที่ต้องการขึ้นเป็นมหาอำนาจโลกเบอร์หนึ่งแทนที่สหรัฐ ผู้นำวัย 93 ปี แสดงความเห็นว่า “ผมไม่รู้ว่าจีนจะกลายเป็นเบอร์หนึ่งของโลกได้หรือไม่ แต่ผมเห็นการเติบโตของจีนที่มากขึ้นเรื่อย ๆ”

ก่อนหน้านี้เราได้ยินแค่ชื่อ “วอชิงตัน” ว่าเป็นผู้คิดค้นไอเดียและเทคโนโลยีต่าง ๆ และเราก็ถูกครอบงำและบังคับทางอ้อมให้ต้องรับไอเดียและเทคโนโลยีเหล่านั้น แต่สำหรับผมมองว่า วิธีการเข้าหาของ “ปักกิ่ง” เป็นมิตรและมีความเป็น “ประชาธิปไตย” มากกว่า

ดร.มหาธีร์ อธิบายว่า ยามที่จีนต้องการแนะนำโครงการต่าง ๆ พวกเขาจะเชิญชวนให้เรามีส่วนร่วม ทั้งการหารือ เยี่ยมชมโครงการ จีนไม่สนใจขนาดประชากร หรือตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเหล่านั้นด้วยซ้ำ

“จีนมีประชากรมากถึง 1.4 พันล้านคน แต่พวกเขายังนำเสนอโครงการเส้นทางสายไหมใหม่ หรือ OBOR แก่หลาย ๆ ประเทศ ซึ่งบางประเทศที่มีประชากรเพียง 300,000 คน พวกเขายังได้รับเกียรติให้นั่งเจรจาร่วมผลประโยชน์ในโครงการ OBOR นี้อย่างเท่าเทียม”

ดร.มหาธีร์ ทิ้งท้ายในประเด็นนี้ว่า “ผมไม่ชอบแนวคิดและวิธีปฏิบัติของชาติตะวันตก ที่ยัดเยียดความคิดและถามเพื่อให้พวกเรายอมรับ ตัวอย่างเช่น ความกังวลเกี่ยวกับ “หนี้ก้อนใหญ่” จากโครงการ OBOR ผมมองว่า หากเรามีความรอบคอบเพียงพอและเจรจาเพื่อบรรลุผลประโยชน์ที่เท่าเทียมกันทั้งสองฝ่าย โครงการจากประเทศใด ๆ ก็ล้วนสร้างสรรค์ผลประโยชน์ต่อประเทศชาติได้เหมือนกัน”

1 ปีส่งไม้ต่อ “อันวาร์ อิบราฮิม”

สำหรับกระแสข่าวที่ว่า ดร.มหาธีร์จะขึ้นบริหารในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาเลเซียเพียง 2 ปี ก่อนที่จะส่งต่ออำนาจไปยัง “อันวาร์ อิบราฮิม” ดร.มหาธีร์ยืนยันว่า “ผมยังทำตามสัญญา” ตอนนี้เหลือเวลาอีก 1 ปีก่อนที่ผมจะหมดวาระ และส่งไม้ต่อไปยังผู้นำคนใหม่ แต่ผมจะยังไม่ออกจากความโกลาหลที่ยังเกิดขึ้นในมาเลเซีย

“สิ่งที่ผมอยากทำที่สุด ก็คือ การยุติความยุ่งเหยิงในมาเลเซียที่เกิดจากความผิดพลาดของรัฐบาลก่อน ดังนั้น ผมจึงทำงานอย่างหนักเพื่อนำพาประเทศออกจากสภาพความวุ่นวายเหล่านี้เท่าที่ผมจะทำได้ และหวังว่าจะสามารถทำได้”

“ผมจะทำตามสัญญาที่เคยพูดไว้ ตอนนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความพร้อมของอันวาร์ ในการรับช่วงต่อในฐานะนายกรัฐมนตรีหรือไม่ และภายใต้การบริหารของรัฐบาลมาเลเซียทั้งในสมัยของผมและต่อจากนี้ ประชาชนต้องมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ชาติพัฒนา และหลุดพ้นจากวิกฤตต่าง ๆ มาเลเซียต้องพร้อมที่จะเพิ่มโอกาสทางการค้าการลงทุนกับทุก ๆ ชาติ ไม่ว่าสถานการณ์ทางการเมือง หรือปัญหาภายในของประเทศจะเป็นอย่างไร”

นอกจากนี้ นายกฯมหาธีร์กล่าวถึงสถานการณ์วิกฤตของ “มาเลเซีย แอร์ไลน์ส” ว่ายังอยู่ในกระบวนการพิจารณาทางออกที่คุ้มค่าที่สุด และเปิดกว้างต่อทุกฝ่าย รวมถึงบริษัทเอกชนต่างประเทศหากมีข้อเสนอที่ดี และมั่นใจว่า รัฐบาลจะหาทางออกที่ดีที่สุดให้กับสายการบินอย่างแน่นอน