3 เหตุผลของ ‘พอล ครุกแมน’ ทำไมทรัมป์กำลังแพ้ ‘เทรดวอร์’

(AP File Photo/Susan Walsh)
คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก

โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

 

พอล ครุกแมน นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ เมื่อปี 2008 จากผลงานด้านการค้าระหว่างประเทศและภูมิศาสตร์เศรษฐกิจ เขียนคอลัมน์แสดงความคิดเห็นในเชิงเศรษฐกิจและสังคม ให้กับหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์เป็นประจำทุกสัปดาห์มาตั้งแต่ปี 2000 นอกเหนือจากการทำหน้าที่สอนหนังสือในมหาวิทยาลัยแล้ว

ข้อเขียนของครุกแมนตีพิมพ์เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคมที่ผ่านมาน่าสนใจเป็นพิเศษ เมื่อครุกแมนเขียนถึง “สงครามการค้า” ว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังพ่ายแพ้ในสงครามที่เคยประกาศเอาไว้อย่างอหังการในตอนต้นว่าเป็น “เรื่องดี ที่เอาชนะได้ง่ายมาก”

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่เพียงแต่จนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถเอาชนะได้เท่านั้น หากกำลังจะพ่ายแพ้ในสงครามการค้าอีกต่างหาก

แน่นอน กำแพงภาษีที่ทรัมป์ประกาศใช้นั้นทำให้จีนและประเทศอื่น ๆ เจ็บปวดทางเศรษฐกิจไม่น้อย แต่สหรัฐอเมริกาก็เจ็บตัวตามไปด้วยเช่นเดียวกัน ครุกแมนชี้ว่าธนาคารกลางของสหรัฐสาขานิวยอร์กถึงกับประเมินไว้ว่า คนอเมริกันจะลงเอยต้องใช้จ่ายเพิ่มขึ้นถึงกว่า 1,000 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี เพราะกำแพงภาษีของทรัมป์

โดยที่ยังไม่มีวี่แววว่า ทรัมป์จะประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายที่วางเอาไว้คือ การลดการขาดดุลการค้าของประเทศลงและกดดัน บีบบังคับให้ชาติอื่นเปลี่ยนแปลงนโยบายอย่างมีนัยสำคัญได้แต่อย่างใด

ความเจ็บปวดทางเศรษฐกิจนั้นเกิดขึ้นแล้วจริง ๆ แต่การบีบบังคับให้ชาติอื่นทำตามความต้องการนั้นยังไม่เป็นผล ครุกแมนยกตัวอย่างไว้ชัด ๆ 2 กรณี หนึ่งคือ เรื่องการโยนข้อตกลงจัดตั้งเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (นาฟตา) ของเดิมทิ้งไปเพื่อเปิดเจรจากับเม็กซิโกและแคนาดาเสียใหม่

ลงเอยด้วยการได้ความตกลงนาฟตาใหม่ที่แทบเหมือนของเดิมทุกอย่าง ชนิดที่ต้องใช้แว่นขยายส่องถึงมองเห็นความแตกต่าง แถมยังมีโอกาสที่ข้อตกลงใหม่นี้จะไม่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาอีกต่างหาก

อีกตัวอย่างคือ การไป “สงบศึกชั่วคราว” กับจีนในที่ประชุมจี 20 โดยที่ไม่มีอะไรตอบแทนกลับมา นอกจากคำว่ากล่าวคลุมเครือเพียงไม่กี่คำ

ครุกแมนให้เหตุผลไว้ 3 ประการว่าคือ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การทำสงครามการค้าของทรัมป์ล้มเหลวและกำลังจะพ่ายแพ้

แรกสุดคือ การที่แนวคิดนี้เป็นวิถีเอกัตนิยม ที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของโลกโดยแท้ เป็นแนวนโยบายที่ยึดถือเอาแต่ตัวเองเป็นใหญ่ โดยไม่ได้คำนึงถึงว่าประเทศอื่น ๆ ก็เป็นเช่นเดียวกันกับสหรัฐอเมริกา

สหรัฐมีวัฒนธรรมจำเพาะที่เป็นของตนเอง, มีประวัติศาสตร์ มีอัตลักษณ์ ภาคภูมิใจในความเป็นอิสระ ไม่ยินยอมต่อความรู้สึกกดดันบีบบังคับจากชาติอื่น ๆ ประเทศอื่น ๆ ก็มีคุณลักษณะเช่นนี้เหมือนกับที่สหรัฐอเมริกามี

ดังนั้น ความคิดที่ว่าจีนหรือชาติอื่น ๆ จะยินยอมทำความตกลงที่มองแล้วเหมือนเป็นการจำนนต่อสหรัฐอเมริกานั้นเป็นความคิดที่ “บ้า” ไปแล้ว

ประการที่สอง ทรัมป์กับบรรดานักตั้งกำแพงภาษีทั้งหลายในรัฐบาลสหรัฐ เหมือนมีชีวิตอยู่ในอดีตกาล ไม่เข้าใจไม่ตระหนักถึงความเป็นจริงของเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่ คิดเหมือนกับที่วิลเลียม แม็คคินลีย์ ประธานาธิบดีอเมริกันเมื่อกว่า 100 ปีมาแล้วคิด ทั้ง ๆ ที่ความเป็นจริงเปลี่ยนแปลงไปจนหมด

ในอดีตที่ผ่านมาการถามว่า “สินค้าที่ผลิตจากที่ไหน” สามารถมีคำตอบได้ง่าย ๆ ต่างจากทุกวันนี้ ที่สินค้าแต่ละชิ้นที่ประกอบในจีนใช้ส่วนประกอบจากทั้งเกาหลีหรือญี่ปุ่น

สงครามการค้าไม่ได้ทำให้การประกอบสินค้าย้ายจากจีนมายังสหรัฐอเมริกา แค่โยกไปยังประเทศในเอเชียอื่น ๆ อย่างเช่น เวียดนาม เป็นต้น

ข้อสุดท้ายก็คือ สงครามการค้าของทรัมป์ ไม่ได้เป็นที่นิยมชื่นชอบ แต่กลับกันในทางตรงกันข้าม ไม่ได้รับความนิยมและถูกต่อต้านทั้งตัวนโยบายและตัวทรัมป์ ซึ่งจะส่งผลในทางการเมืองในที่สุด

ในตอนท้าย ครุกแมนทำนายจุดจบของสงครามการค้าของทรัมป์เอาไว้ด้วย ที่ผ่านมาไม่ว่าจะในครั้งไหน ๆ สงครามการค้าไม่เคยมีผู้ชนะที่ชัดเจนเลยสักครั้ง แต่ในเวลาเดียวกันกลับทิ้งรอยแผลที่คงอยู่ยาวนานเอาไว้ให้กับเศรษฐกิจโลก

ในสงครามการค้าของทรัมป์ ที่ใหญ่โตกว่าทุก ๆ ครั้งที่ผ่านมา ก็คงลงเอยในทำนองเดียวกัน

ไม่ว่าทรัมป์จะบิดเบือนอย่างไร ผลลัพธ์สุดท้ายที่แท้จริงก็จะลงเอยด้วยการที่ความน่าเชื่อถือ เครดิตของประเทศที่สหรัฐสั่งสมมาได้รับความเสียหายครั้งใหญ่

ในขณะเดียวกัน ทุกคนก็จะยากจนลง และหลักการ กฎเกณฑ์ที่เคยใช้เป็นหลักสากลของนานาประเทศก็จะอ่อนแอลง

ทรัมป์อาจจะลงเอยเหมือนอดีตประธานาธิบดีแม็คคินลีย์ ที่สุดท้ายก็ต้องออกมายอมรับว่า การทำสงครามเชิงพาณิชย์นั้นหากำไรไม่ได้ และเรียกร้องหาความสัมพันธ์ทางการค้าที่ “เป็นมิตรและมีเจตนาดี” ต่อกันในที่สุด