ปล่อยยานแล้ว! ‘อินเดีย’ ลุ้นขึ้นแท่น ชาติมหาอำนาจด้านอวกาศ

(AP/ Indian Space Research Organization)

สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานว่า อินเดียได้เริ่มปล่อยยานอวกาศ “จันทรยาน-2” (Chandrayaan-2) จากศูนย์อวกาศสาทิช ธาวัน (Satish Dhawan) ในเขตศรีหริโคตร (Sriharikota) ของรัฐอานธรประเทศ (Andhra Pradesh) เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2019 เวลา 2.43 น. ตามเวลาท้องถิ่น

“จันทรยาน-2” ถูกพัฒนาขึ้นโดยองค์การวิจัยอวกาศแห่งอินเดีย (ISRO) มีน้ำหนักรวม 3.8 ตัน จะโคจรรอบดวงจันทร์เป็นเวลา 2 เดือน ก่อนที่จะลงจอดบนพื้นผิวของดวงจันทร์ด้วยยานลงจอด “วิกราม” ซึ่งตั้งชื่อตาม วิกราม สารภัย (Vikram Sarabhai) ผู้บุกเบิกการศึกษาอวกาศของอินเดีย

จากนั้นยานสำรวจโรเวอร์ “ปรัชญาณ” (Pragyan) จะถูกนำออกสำรวจเพื่อเก็บตัวอย่างแร่และสารเคมีเพื่อการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เพื่อให้นักวิทยาศาสตร์ศึกษาวิเคราะห์ รวมถึงทำแผนที่พื้นผิวและชั้นบรรยากาศของดวงจันทร์ในปีหน้า

ไกลาสวาดิวู สิวาน (Kailasavadivoo Sivan) ผู้อำนวยการ ISRO ระบุว่า “ช่วง 15 นาทีของการลงจอดยานอวกาศ เป็นช่วงเวลาที่น่าหวาดกลัวที่สุดสำหรับเรา”

ก่อนหน้านี้ได้มีเลื่อนกำหนดการเดิมที่จะมีการปล่อยยานอวกาศดังกล่าวในวันที่ 15 ก.ค. เนื่องจาก “ข้อผิดพลาดทางเทคนิค”

ทั้งนี้การปล่อยยานอวกาศครั้งตรงกับวันครบรอบการลงจอดยาน “อะพอลโล 11” (Apoll XI) ของสหรัฐอเมริกาบนพื้นผิวดวงจันทร์เป็นครั้งแรกเมื่อ 50 ปีก่อน สร้างแรงบันดาลใจให้กับหน่วยงานอวกาศทั่วโลก ซึ่งองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (NASA) ระบุว่าจะมีแผนที่จะส่งมนุษย์อวกาศชาวอเมริกันกลับไปเหยียบดวงจันทร์อีกครั้งในปี 2023

การปล่อยยานอวกาศ “จันทรยาน-2” ครั้งนี้ หากสามารถลงจอดได้บนดวงจันทร์ได้สำเร็จ จะทำให้อินเดียกลายเป็นชาติที่ 4 ที่สามารถลงจอดยานอวกาศบนดวงจันทร์ได้สำเร็จถัดจาก สหรัฐอเมริกา สหภาพโซเวียต และจีน

(AP Photo)
(REUTERS/Rupak De Chowdhuri)
(AP/ Manish Swarup)
(AP/ Manish Swarup)
(REUTERS/Rupak De Chowdhuri)