“โมดี” เมิน RCEP หันซบ “เยอรมนี มุ่งเจรจา FTA ปูพรม New India 2022

ปิดฉากการหารือการประชุมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) นอกรอบเวทีการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 เมื่อ 4 พ.ย.ที่ผ่านมา ประเทศสมาชิกทั้งหมด 15 ชาติ ยกเว้น “อินเดีย” เตรียมลงนามความร่วมมืออย่างเป็นทางการในปี 2020

นายเล่อ อวี้เฉิง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน กล่าวยืนยันว่า “สมาชิกอาร์เซ็ปทั้งหมดยังเปิดรับอินเดียเสมอ เพียงแต่จะลงนามไปก่อน หากอินเดียพร้อมก็สามารถลงนามได้ทีหลัง”

อย่างไรก็ตาม นายพิยุช โกยาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการรถไฟและการพาณิชย์ของอินเดีย เปิดเผยหลังอินเดียปฏิเสธการลงนามข้อตกลงอาร์เซ็ป โดยย้ำว่า ต้องมีการเจรจาเพิ่มเติมกับอินเดียเพื่อแก้ไขข้อตกลงบางอย่างที่นายกรัฐมนตรี “นเรนทรา โมดี” ได้เสนอก่อนหน้านี้ เช่น หลักประกันการเปิดตลาดว่าจะไม่มีใครเสียผลประโยชน์, ระบบป้องกันการถูกแย่งตลาดภายใน และการเปิดเสรีด้านแรงงาน-บริการมากขึ้น ซึ่งอาจต้องใช้เวลาในการเจรจานาน

ขณะที่รอยเตอร์สอ้างคำกล่าวของนายโมดีที่ระบุว่า ความตกลงอาร์เซ็ปที่เจรจาตลอด 7 ปีที่ผ่านมา ยังไม่สะท้อนถึงผลประโยชน์ของชาติสมาชิกอย่างเท่าเทียมกัน และไม่ตอบสนองต่อปัญหาที่อินเดียกำลังเผชิญ น่าสนใจว่ารัฐมนตรีพาณิชย์ของอินเดีย และโมดี กล่าวคล้ายกันว่า อินเดียมุ่งเจรจาการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับสหภาพยุโรป (อียู) มากกว่าเพราะเอฟทีเอ คือ กรอบข้อตกลงที่สามารถบรรลุผลสำเร็จได้ง่ายกว่า และที่สำคัญ ได้ผลประโยชน์อย่างแท้จริงต่อทั้งสองฝ่าย

นายโมดีให้สัมภาษณ์กับ “เอ็นดีทีวี” สถานีโทรทัศน์ของอินเดีย ถึงการเยือนอินเดียของ “อังเกลา แมร์เคิล” นายกรัฐมนตรีเยอรมนี เมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา ท่ามกลางปัญหามลพิษทางอากาศ โดยทั้งสองประเทศได้มีความร่วมมือที่สร้าง “โลกใบใหม่” ให้แก่อินเดีย โดยเยอรมนีได้ให้งบฯช่วยเหลือจำนวน 1,000 ล้านยูโร สำหรับการพัฒนาภายใน 5 ปีข้างหน้า เพื่อสร้างโครงการเมืองสีเขียว ซึ่งส่วนใหญ่จะนำไปใช้กับการเปลี่ยนเป็น “รถโดยสารไฟฟ้า” ทั่วประเทศอินเดีย คาดว่าจะเริ่มจากการปรับปรุงสภาพแวดล้อมในกรุงนิวเดลี และรัฐทมิฬนาฑู เป็นเงินจำนวน 200 ล้านยูโร

ที่สำคัญ ผู้นำหญิงเยอรมนีได้ลงนามข้อตกลงที่จะเปิดตลาดให้กับสินค้าเกษตรของอินเดียมากขึ้น เพื่อแลกกับการที่อินเดียเปิดรับโนว์ฮาวด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากเยอรมนี โดยเฉพาะเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) สำหรับภาคอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ นางแมร์เคิลระบุว่า บริษัทเยอรมันกว่า 1,700 แห่งที่ดำเนินธุรกิจอยู่ในอินเดีย ส่วนใหญ่ยังนำเข้าแรงงานทักษะชาวเยอรมัน ดังนั้นเราจะเริ่มโครงการคัดสรรแรงงานชาวอินเดียที่มีทักษะเฉพาะด้านเพื่อป้อนสู่บริษัทเยอรมัน รวมไปถึงจะลดขั้นตอนการสรรหาแรงงานอินเดียที่ต้องการไปทำงานในเยอรมนี และเพิ่มโควตาแรงงานอินเดียในเยอรมนีด้วย

ขณะที่ผู้นำอินเดียยังกล่าวอีกว่า ในปีหน้าจะเริ่มแผนการเดินทางเพื่อเจรจาเอฟทีเอกับประเทศอื่น ๆ ในอียู เช่น ฝรั่งเศส ซึ่งจะเป็นจุดเปลี่ยนภาพลักษณ์ของอินเดียต่อสายตาชาวโลก โดยการเปลี่ยนแปลงอินเดียครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ “New India 2022”