เลือกตั้ง “ไต้หวัน” 11 ม.ค. ชี้ชะตาความสัมพันธ์ “จีนแผ่นดินใหญ่”

(AP Photo/Chiang Ying-ying)

ไต้หวันและจีนแผ่นดินใหญ่มีความขัดแย้งกันมาอย่างยาวนาน แม้ว่ารัฐบาลจีนจะพยายามอ้างอำนาจอธิปไตยเหนือเกาะไต้หวันมาโดยตลอด แต่การรวมไต้หวันกลับเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจีนดูจะมีความเป็นไปได้น้อยมาก โดยเฉพาะการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวันที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ มีแนวโน้มว่า “ไช่ อิงเหวิน” ผู้นำคนปัจจุบันซึ่งมีแนวทางต่อต้านอำนาจของรัฐบาลจีนอย่างชัดเจนจะได้กลับเข้าสู่อำนาจอีกครั้ง

“เจแปน ไทมส์” รายงานการสำรวจความคิดของชาวไต้หวันในช่วงก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดี รองประธานาธิบดี และสมาชิกสภานิติบัญญัติที่จะเกิดขึ้นในวันเสาร์ที่ 11 ม.ค.นี้ คะแนนนิยมของไช่ อิงเหวิน ประธานาธิบดีไต้หวันคนปัจจุบันจากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (ดีพีพี) เพิ่มสูงขึ้น

หลังจากที่ในช่วง 6 เดือนก่อนหน้านี้คะแนนนิยมของไช่ อิงเหวิน และพรรคดีพีพีตกต่ำลงอย่างมากจากปัญหาทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ในการเลือกตั้งท้องถิ่น พรรคดีพีพียังพ่ายแพ้ต่อพรรคฝ่ายค้านอย่าง พรรคชาตินิยมจีน (ก๊กมินตั๋ง) หลายครั้ง โดยเฉพาะชัยชนะของ “ฮัน คุโอะ-ยู” จากพรรคก๊กมินตั๋งที่สามารถก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองเกาสง ทางตอนใต้ของเกาะไต้หวันได้สำเร็จในปี 2018 และยังจะเป็นตัวแทนพรรคในการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีไต้หวันครั้งนี้ด้วย

แต่การสำรวจความคิดเห็นของชาวไต้หวันล่าสุดพบว่า คะแนนนิยมของไช่ อิงเหวิน กลับมาเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง
โดยมีคะแนนนำฮัน คุโอะ-ยูถึง 30.6% ทำให้มีแนวโน้มสูงมากที่ไช่ อิงเหวิน จะได้รับการเลือกตั้งให้กลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นสมัยที่ 2

ปัจจัยสำคัญมาจากกระแสการสนับสนุนของชาวไต้หวันต่อกลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลจีนในฮ่องกง ทำให้ท่าทีของพรรคดีพีพีที่ต่อต้านการแทรกแซงของจีนได้รับคะแนนนิยมจากชาวไต้หวันมากขึ้น โดยเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2019 สภนิติบัญญัติของไต้หวันโดยการผลักดันของพรรคดีพีพียังได้ผ่าน “กฎหมายต่อต้านการแทรกแซง” ซึ่งมุ่งเป้าไปที่การแทรกแซงการเมืองไต้หวันทั้งการบริจาคเงินและการใช้อิทธิพลครอบงำจากต่างชาติ ซึ่งหมายถึงจีนอย่างชัดเจน ตามรายงานของ “ไฟแนนเชียล ไทมส์”

นอกจากนี้ “รอยเตอร์ส” ยังรายงานว่า ชาวไต้หวันจำนวนมากสนับสนุนพรรคดีพีพี เนื่องจากสนับสนุนและให้พื้นที่ลี้ภัยทางการเมืองแก่กลุ่มผู้ประท้วงชาวฮ่องกงกว่า 60 ราย อีกทั้งไช่ อิงเหวิน ยังระบุด้วยว่า ไต้หวันไม่ยอมรับหลักการ “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ที่ทางการจีนยื่นเสนอมา และยังชี้ว่าระบบดังกล่าวทำให้ฮ่องกงตกอยู่ใน “วังวนของความวุ่นวาย”

ตรงข้ามกับพรรคก๊กมินตั๋งเป็นที่ทราบกันดีว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐบาลจีน แม้ว่าฮัน คุโอะ-ยูจะมีจุดยืนสนับสนุนเสรีภาพและประชาธิปไตยในฮ่องกง ดังนั้นหลายฝ่ายก็ยังกังวลท่าทีของเขาต่อผู้ประท้วงฮ่องกง หากได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีไต้หวัน

อีกหนึ่งปัจจัยมาจากด้านเศรษฐกิจที่ก่อนหน้านี้ รัฐบาลพรรคดีพีพีถูกโจมตีอย่างหนัก จากฮัน คุโอะ-ยูในเรื่องภาวะเศรษฐกิจของไต้หวันที่ซบเซา โดยเฉพาะในเขตตอนใต้ที่ทำให้ชาวไต้หวันจำนวนมากต้องเดินทางไปทำงานทางตอนเหนือ ซึ่งเศรษฐกิจดีกว่า ทำให้คะแนนนิยมฮัน คุโอะ-ยูเพิ่มสูงขึ้น แต่ “เจ. ไมเคิล โคล” นักวิชาการอาวุโสของ Global Taiwan Institute ในวอชิงตันวิเคราะห์ว่า นโยบายหาเสียงของฮัน คุโอะ-ยู แม้จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจในประเทศ แต่หลีกเลี่ยงการแก้ปัญหาระดับชาติโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับจีน แผ่นดินใหญ่ ดังนั้นนโยบายของฮัน คุโอะ-ยูจึงเหมาะสมต่อตำแหน่งนายกเทศมนตรีไม่ใช่ประธานาธิบดี

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่ฮัน คุโอะ-ยูอาจได้รับเงินสนับสนุนจากจีนในการหาเสียง ทั้งในการเลือกตั้งนายกเทศมนตรี และการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งนี้ด้วย

ด้านสถานการณ์ “สงครามการค้า” ระหว่างจีนและสหรัฐ ที่ส่งผลให้ไต้หวันได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ภาคธุรกิจบางส่วนย้ายฐานการผลิตจากจีนกลับมายังไต้หวัน ซึ่งช่วยสร้างงานและกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของไต้หวัน เป็นส่วนหนึ่งที่หนุนให้ความนิยมของไช่ อิงเหวินกลับมาสูงขึ้นด้วยเช่นกัน

ขณะที่นโยบายเศรษฐกิจของฮัน คุโอะ-ยูคือ ต้องการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับจีนเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของไต้หวัน เนื่องจากจีนถือว่าเป็นคู่ค้าอันดับต้น ๆ และไต้หวันได้ดุลการค้าจีนมาโดยตลอด ซึ่งในปี 2018 มูลค่าการค้าระหว่างจีน-ไต้หวันอยู่ที่ 226,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องจับตาดูผลการเลือกตั้งครั้งนี้ หากไช่ อิงเหวินสามารถกลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีไต้หวันอีกครั้ง อาจส่งผลให้อุณหภูมิความขัดแย้งกับจีนแผ่นดินใหญ่เพิ่มสูงขึ้น และความต้องการรวมไต้หวันเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจีนยังคงยากยิ่ง ท่ามกลางความวุ่นวายในฮ่องกงและสงครามการค้ากับสหรัฐที่จีนต้องเผชิญอยู่และไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงโดยง่าย