“ไวรัส” ไม่เพียงกระทบเศรษฐกิจ แต่เปลี่ยน “วิถีชีวิต” ผู้คนทั่วโลก

REUTERS/Stringer

การระบาดของ “โควิด-19” แน่นอนว่าส่งผลกระทบมหาศาลอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากที่โลกได้ผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปจะไม่ใช่เพียงร่องรอยความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคม แต่รวมถึงวิถีชีวิตและทัศนคติของผู้คนที่จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อนด้วย

“บลูมเบิร์ก” รายงานว่า วิกฤตการณ์ในอดีตจำนวนมากได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงมหาศาล เช่น ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่หรือ “เกรตดีเปรสชั่น” ในปี 1929 เคยทำให้ทัศนคติ “ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่ขาดแคลน” (waste not want not)ของผู้บริโภคดำรงอยู่นานกว่า 10 ปี ส่วนวิกฤตการณ์การเงินในเอเชียปี 1997 ก็ส่งผลให้พฤติกรรมการสะสมเงินตราต่างประเทศในเอเชียลดลง

การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ปีนี้ ก็กำลังเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้คนเช่นกัน สิ่งที่เห็นชัดคือ ผู้คนเริ่มคุ้นชินกับมาตรการสาธารณสุขที่บังคับใช้อย่างเข้มงวดมากขึ้นทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นการสวมหน้ากากอนามัย การรักษาสุขอนามัยต่าง ๆ ไปจนถึงการใช้ชีวิตประจำวันที่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัย และพฤติกรรมเช่นนี้ยังจะอยู่ต่อไปอีกเป็นเวลานาน

เช่นเดียวกับ การระบาดของโรคซาร์สในปี 2002-2003 ที่ส่งผลให้ ธุรกิจอีคอมเมิร์ซแจ้งเกิดในจีน การระบาดของโควิด-19 จะยิ่งทำให้ผู้คนหันไปใช้บริการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงการติดเชื้อไวรัสจากพื้นที่สาธารณะ อย่างตลาดและห้างสรรพสินค้า ซึ่งนี่อาจเป็นก้าวกระโดดสำคัญของอีคอมเมิร์ซจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

ขณะที่การทำงานจากที่บ้าน หรือ “เวิร์กฟอร์มโฮม” ซึ่งเป็นนโยบายที่หลายบริษัทยังไม่เคยปฏิบัติจริง การแพร่ระบาดของไวรัสครั้งนี้จึงกลายเป็นโอกาสให้หลายบริษัทได้ทดลองใช้นโยบายดังกล่าวอย่างจริงจัง ด้วยสถานการณ์จำเป็น

Advertisment

“คาเรน แฮร์ริส” กรรมการผู้จัดการฝ่ายข้อมูล “แม็คโครเทรดส์กรุ๊ป” ในกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาเบนแอนด์คอมปะนี ระบุว่า หากมีการพัฒนาระบบรองรับเวิร์กฟอร์มโฮมที่มีประสิทธิภาพ ก็จะกลายเป็นมาตรฐานใหม่ของการทำงานในอนาคต หลังจากที่โรคระบาดผ่านพ้นไป ซึ่งจะทำให้ตารางเวลาชีวิตของผู้คนจะเปลี่ยนไปจากปัจจุบันอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

เช่นเดียวกับ “สถาบันการศึกษา” ที่ต้องหันไปใช้วิธีการเรียนการสอนออนไลน์ทดแทน หากมีการพัฒนาให้มีเสถียรภาพมากพอ ก็อาจพลิกโฉมหน้าระบบการศึกษาโลกไปโดยสิ้นเชิง

ขณะที่ภาคธุรกิจในหลายประเทศก็เริ่มทบทวนอย่างจริงจังเกี่ยวกับการแสวงหาซัพพลายเชนแห่งใหม่นอกประเทศจีน จากที่ก่อนหน้านี้แม้จะมีแรงกดดันจากภาษีที่สูงขึ้นใน “สงครามการค้า” แต่หลายธุรกิจยังคงหาวิธีหลบเลี่ยง เพื่อซื้อขายสินค้ากับจีนต่อไป แต่โควิด-19 ได้ทำให้จีนหยุดชะงักไม่สามารถส่งออกได้ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างหนักต่อผู้ประกอบการที่ไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ทำให้จากนี้ไปต้องมองหาแหล่งวัตถุดิบใหม่ที่สามารถทดแทนสินค้าจากจีนในอนาคต

ภาคส่วนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ “อุตสาหกรรมท่องเที่ยว” ไม่ว่าจะเป็นการบิน เรือสำราญ โรงแรม และธุรกิจนำเที่ยว ที่ได้รับผลกระทบทันทีจากนักท่องเที่ยวหายไปในพริบตา และแม้ว่าสถานการณ์จะผ่านพ้นไปก็ยังคงต้องใช้เวลาในการเรียกคืนความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวให้กลับคืนมา

Advertisment

นอกจากนี้ โควิด-19 ยังจะสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อมุมมองด้านนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลต่าง ๆ โดยเฉพาะการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับธุรกิจให้สามารถรอดพ้นจากโรคระบาดไปได้

“คาซูโอะ มัมมะ” อดีตเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น ระบุว่า นโยบายการควบคุมชายแดนที่เข้มงวด การประกันภัยที่คุ้มครองครอบคลุมมากขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของการทำงานและการคมนาคม จะช่วยให้ธุรกิจอยู่รอดได้ในไม่เพียงจากไวรัสแต่ในระยะยาว

“ฟาบริซิโอ ปากานี” อดีตที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลอิตาลี ระบุว่า ความตื่นตระหนกของอุปทานน้ำมันในยุค 70 ทำให้เกิดกระแสของการอนุรักษ์พลังงานเป็นครั้งแรก ขณะที่วิกฤตการเงินครั้งใหญ่ในปี 2007-2008 ส่งผลให้เกิดการกำหนดกรอบการกำกับดูแลภาคการเงินและการธนาคารอย่างเข้มงวด ดังนั้น การระบาดของโควิด-19 ครั้งนี้ก็จะทำให้ธุรกิจต้องทบทวนกลยุทธ์ใหม่ เพื่อรับมือกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน