‘โมเดล’ ฟื้นตัวจีนหลังวิกฤต อุตฯนำร่อง-ท่องเที่ยวรอก่อน

REUTERS/Tingshu Wang

ชีพจรเศรษฐกิจโลก

นงนุช สิงหเดชะ

แม้จะเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และเป็นประเทศแรกที่ได้รับผลกระทบรุนแรงมากจากไวรัส และดูท่าจะย่ำแย่ที่สุดในแง่เศรษฐกิจ แต่ในที่สุด จีน ก็เป็นชาติแรกที่ควบคุมไวรัสได้ และยกเลิกมาตรการปิดเมืองได้ก่อนคนอื่น ในขณะที่หลายประเทศโดยเฉพาะซีกตะวันตก ตัวเลขผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตยังสูงมาก ดังนั้น จีนจึงถูกจับตาว่ากิจกรรมเศรษฐกิจใดของจีนที่จะฟื้นตัวได้ก่อน-หลัง อันจะเป็นแนวทางให้ประเทศอื่น ๆ มองเห็นแนวโน้มว่าหลังจากคลายหรือยกเลิกล็อกดาวน์แล้ว ธุรกิจใดจะพลิกตัวกลับมาได้ก่อน

แอนดรูว์ ทิลตัน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำเอเชียของ โกลด์แมน แซกส์ บอกว่า ระบบการเมืองและเศรษฐกิจของจีนนั้นแตกต่างจากประเทศอื่น ๆ อย่างมาก แต่แนวทางที่เจ้าหน้าที่รัฐเริ่มเปิดให้มีการดำเนินธุรกิจหลังจากควบคุมไวรัสได้นั้นมอบบทเรียนที่เป็นประโยชน์สำหรับประเทศอื่น ๆ โดยในจีนคาดว่าภาคอุตสาหกรรมอาจฟื้นตัวได้ก่อนภาคบริการ ซึ่งสภาพเช่นนี้จะเกิดกับประเทศอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน

เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะบริษัทในภาคอุตสาหกรรม สามารถกลับมาเปิดดำเนินการตามปกติได้อย่างรวดเร็ว ในขณะที่ภาคอื่นอย่างเช่น ท่องเที่ยว จะใช้เวลานานกว่า

ทิลตันระบุว่า ผู้กำหนดนโยบายของจีนระมัดระวังที่จะอนุญาตให้ธุรกิจประเภทโรงภาพยนตร์และโรงยิมเปิดดำเนินการ ซึ่งหมายถึงว่าต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งก่อนธุรกิจประเภทนี้จะสามารถกลับไปเปิดบริการใกล้เคียงกับระดับปกติ ส่วนประเทศอื่น ๆ คงไม่สามารถเปิดธุรกิจชนิดนี้ได้จนกว่าจะถึงปีหน้า

หลายประเทศทั่วโลกใช้มาตรการล็อกดาวน์ในหลายระดับแตกต่างกันไปเพื่อควบคุมไวรัส แต่ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา หลายประเทศเริ่มผ่อนคลายมาตรการ แต่ก็ถูกนักระบาดวิทยาเตือนว่า การผ่อนคลายเร็วเกินไปเสี่ยงจะเกิดการระบาดซ้ำ

ในอีกด้านหนึ่ง การแพร่ระบาดของไวรัสก็ได้ซ้ำเติมระดับหนี้ของบางประเทศในเอเชีย ที่น่าห่วงอยู่แล้วให้ย่ำแย่ลงไปอีก โดยที่ถูกปักหมุดเป็นพิเศษก็คือ จีน เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ ทั้งนี้ ตามรายงานของ ธนาคาร ANZ ของออสเตรเลีย ชี้ว่า หนี้บริษัทของทั้ง 3 ประเทศดังกล่าวเพิ่มขึ้นมากและเร็วที่สุด โดยเป็นผลสืบเนื่องมาจากทั้งความเข้นข้นของการแพร่ระบาดไวรัส และมาตรการที่รัฐบาลนำมาใช้เพื่อควบคุมไวรัส ซึ่งส่งผลต่อรายได้ของบริษัท หากสถานการณ์เช่นนี้ยังดำเนินต่อไปก็อาจถูกปรับลดอันดับเครดิต ผิดนัดชำระหนี้ และสุดท้ายก็ถ่วงการเติบโตของเศรษฐกิจ

รายงานระบุว่า ภาคพลังงานของ สิงคโปร์ ซึ่งมีสัดส่วน 1 ใน 5 ของจีดีพีประเทศ กำลังมีรายได้ติดลบ หรือขาดทุน แม้ว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะเกิดกับบริษัทพลังงานทั่วโลก แต่ก็เพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาสภาพคล่องตึงตัวในสิงคโปร์ ซึ่งน่ากังวลเพราะบริษัทเหล่านี้คิดเป็น 15.7% ของการครบกำหนดชำระหนี้ทั้งหมดภายในปีนี้

ส่วนใน เกาหลีใต้ ธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) น่าเป็นห่วง เพราะ 2 ปีที่ผ่านมา กู้ยืมมากเกินไปและเริ่มขาดเงินสด สร้างความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจมหภาค เพราะธุรกิจเอสเอ็มอีมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของแดนโสมขาว ทางด้านจีนนั้น ภาคที่เป็นปัญหา คือ อสังหาริมทรัพย์ ที่ขยายตัวมากเกินไปในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

หากเทียบกันแล้ว บริษัทในสิงคโปร์มีความเปราะบางมากกว่าเกาหลีใต้ และจีน โดยที่จีนมีความเปราะบางน้อยที่สุด ทั้งนี้ สิงคโปร์มีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนมาก เมื่อเทียบกับอีก 2 ประเทศ เพราะ 60.9% ของบริษัทชั้นนำสิงคโปร์ ออกพันธบัตรในสกุลดอลลาร์สหรัฐเป็นส่วนใหญ่ มีเพียง 1 ใน 3 ในเท่านั้นที่ออกในรูปเงินสกุลเงินท้องถิ่น ต่างจากเกาหลีใต้ ซึ่งมีเพียง 1 ใน 5 ที่ออกพันธบัตรสกุลดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ตาม แม้เกาหลีใต้มีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนต่ำกว่าสิงคโปร์ แต่บริษัทที่มีความเสี่ยงหนี้สูงและขาดความยั่งยืนก็มีสัดส่วนที่มาก อีกทั้ง 80% ของบริษัทที่กู้ยืมสูงล้วนมีเงินสดจำกัด ส่วนจีนอยู่ในสถานะดีกว่าเพื่อน เพราะมีเพียง 3 ใน 10 เซ็กเตอร์เท่านั้นที่กู้ยืมมากเกินไป และหนี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้ของบริษัทรัฐ ซึ่งรับประกันการผิดนัดชำระหนี้