Gen Z ซมพิษ “โควิด-19” เศรษฐกิจพัง-งานหด

AP Photo/Jon Gambrell

ผู้สูงอายุแม้จะเป็นกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงจะได้รับผลกระทบหนักที่สุดในแง่ของสุขภาพ จากการแพร่ระบาดของ “โควิด-19” แต่ในแง่ของเศรษฐกิจ สถานการณ์โรคระบาดกำลังสร้างความยากลำบากในระยะยาวให้กับกลุ่มคนวัยทำงาน โดยเฉพาะผู้ที่กำลังจบการศึกษาและเข้าสู่ตลาดแรงงาน ซึ่งจะต้องเผชิญกับโอกาสในการทำงานที่ลดลง ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและไม่มีความแน่นอน

ซีเอ็นเอ็นรายงานว่า กลุ่มคนที่เกิดหลังปี 1997 เป็นต้นไป หรือคน “เจเนอเรชั่นซี” (Gen Z) ซึ่งขณะนี้อยู่ในวัยที่ใกล้จะจบการศึกษา หรือเพิ่งจะก้าวเข้าสู่ชีวิตวัยทำงาน กำลังเป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจหนักที่สุดจากภาวะโรคระบาดในปัจจุบัน

สาเหตุจากที่ภาคธุรกิจทั่วโลกต่างได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ถ้วนหน้า ส่งผลให้หลายธุรกิจต้องปรับลดจำนวนพนักงาน เพื่อลดค่าใช้จ่ายและรักษากระแสเงินสด หรือถึงขั้นต้องปิดกิจการไปเนื่องจากไม่สามารถรับมือกับผลกระทบได้ สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบในระยะยาวต่อโอกาสในการได้งานที่มีความเหมาะสมและความสามารถในการต่อรองอัตราค่าจ้างของคนเจนซีที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาและยังไม่มีประสบการณ์ทำงาน

โดยเฉพาะในภาคธุรกิจการบริการอย่างธุรกิจโรงแรม ธุรกิจการบิน การท่องเที่ยว และค้าปลีก ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากมาตรการควบคุมโรคที่หลายประเทศบังคับใช้อยู่ในเวลานี้ ทั้งการล็อกดาวน์และการปิดกั้นการเดินทาง ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงัก ส่งผลให้คนเจนซีที่ศึกษามาในด้านเหล่านั้นโดยตรง มีโอกาสในการได้งานทำ รวมถึงการฝึกงานลดลงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

รายงานของศูนย์วิจัยพิวของสหรัฐอเมริกา และมูลนิธิรีโซลูชั่นในสหราชอาณาจักรระบุว่า กลุ่มคนเจนซีในหลายประเทศกำลังมีสัดส่วนการว่างงานเพิ่มขึ้นไปพร้อมกับอัตราว่างงานที่สูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด ในกรณีของสหราชอาณาจักรคาดว่าอัตราว่างงานของผู้ที่มีอายุระหว่าง 18-24 ปี จะเพิ่มขึ้นอีก 640,000 คน หรือคิดเป็น 27% ของจำนวนผู้ว่างงานทั้งหมดในปีนี้ จากปี 2019 มีสัดส่วนที่ 10.5%

“ลักษณะเฉพาะของวิกฤตการณ์ในปัจจุบันกำลังส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน เนื่องจากมีจำนวนผู้สำเร็จการศึกษามากเกินไป” รายงานระบุ

นอกจากนี้ กลุ่มคนเจนซีที่เริ่มทำงานแล้ว ก็ยังมีความเสี่ยงที่จะได้ถูกเลิกจ้างมากกว่าแรงงานในช่วงอายุอื่น เนื่องจากประสบการณ์ทำงานที่ยังไม่มากนัก ทำให้คนกลุ่มนี้เป็นเป้าหมายแรก ๆ ของบริษัทกำลังตัดสินใจจะปรับลดพนักงาน โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจค้าปลีก ร้านอาหาร โรงแรม และศูนย์เลี้ยงเด็ก

“ริชาร์ด ฟราย” นักวิจัยอาวุโสของศูนย์วิจัยพิวระบุว่า “การปรับลดพนักงานในขณะนี้ส่วนใหญ่เกิดขึ้นกลุ่มอุตสาหกรรมบางประเภท ซึ่งมีสัดส่วนแรงงานอายุระหว่าง 16-24 ปีจำนวนมาก ส่งผลให้คนเจนซีเป็นเป้าหมายอันดับต้น ๆ ที่จะถูกเลิกจ้างและได้รับผลกระทบอย่างหนัก”

ข้อมูลของสำนักงานสถิติแรงงานสหรัฐระบุว่า เดือนเมษายน 2020 มีจำนวนแรงงานสหรัฐที่ถูกเลิกจ้างมากถึง 20.5 ล้านคน หรือ 14.7% ของแรงงานทั้งหมด โดยกลุ่มคนอายุระหว่าง 16-19 ปี มีสัดส่วนสูงที่สุดถึง 31.9% ขณะที่การสำรวจของศูนย์วิจัยพิวชี้ว่า กลุ่มแรงงานที่มีอายุน้อยกว่า 24 ปี มีความเสี่ยงที่จะถูกเลิกจ้าง ด้วยเหตุผลที่เกี่ยวเนื่องกับสถานการณ์โรคระบาดมากที่สุด

อย่างไรก็ตาม ยังคงไม่แน่นอนว่าสภาวะเช่นนี้จะส่งผลกระทบในระยะยาวเพียงใด ผลวิจัยของมูลนิธิรีโซลูชั่นชี้ว่า ผู้ที่จบการศึกษาในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำหลายครั้งในอดีต ต้องเผชิญกับความยากลำบากในการหางานทำและภาวะรายได้ต่ำต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี

แต่ ริชาร์ด ฟราย กลับมองในแง่ดีว่า กลุ่มคนเจนซีจะสามารถปรับตัวรับมือผลกระทบทางเศรษฐกิจได้ดีกว่าคนรุ่นก่อน เนื่องจากภาวะโรคระบาดครั้งนี้ยังจะใช้เวลาอีกยาวนานในการฟื้นตัว ส่งผลให้เจนซีมีเวลาในการปรับตัว ประกอบกับปัจจุบันมีช่องทางที่หลากหลายซึ่งช่วยเพิ่มโอกาสในการหารายได้ให้กับคนเจนซีมากกว่าคนรุ่นก่อนหน้านี้