EU เริ่มกระบวนการไต่สวน ‘แอปเปิ้ล’ อาจเข้าข่ายผูกขาดทางการค้า

AP Photo/Mark Lennihan

สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานว่า สหภาพยุโรปได้เริ่มกระบวนการไต่สวนระบบ “แอปสโตร์” และ “แอปเปิ้ลเพย์” ของแอปเปิ้ล บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ของสหรัฐอเมริกา หลังจากได้รับการร้องเรียนว่ามีพฤติกรรมที่อาจเข้าข่ายการละเมิดกฎหมายการแข่งขันทางการค้าของสหภาพยุโรป ซึ่งอาจนำไปสู่การผูกขาดทางธุกิจที่ไม่เป็นธรรมต่อคู่แข่ง

ทั้งนี้ “สปอทิฟาย” (Spotify) และ “ราคูเท็น” (Rakuten) เป็นบริษัทแรก ๆ ที่ยื่นเรื่องร้องเรียนดังกล่าวต่อหน่วยงานกำกับดูแลของสหภาพยุโรป โดยระบุว่าแอปเปิ้ลอาจเข้าข่ายการผูกขาดทางธุรกิจ จากการกำหนดข้อจำกัดในการซื้อเนื้อหาออนไลน์อย่างเพลงและอีบุ๊กสำหรับผู้ใช้งานอุปกรณ์ของแอปเปิ้ล นอกจากนี้ยังปิดกั้นการแจ้งเตือนต่อผู้ใช้งาน ให้ทราบถึงช่องทางการซื้อเนื้อหาที่มีราคาต่ำกว่าในแอปพลิเคชั่นอื่น ๆ

นอกจากนี้ แอปเปิ้ลยังเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้พัฒนาแอปพลิเคชั่นถึง 30% สำหรับเนื้อหาดิจิทัลทั้งหมดที่จำหน่ายผ่านระบบแอปสโตร์ ส่งผลให้ผู้พัฒนาแอปพลิเคชั่นต้องเรียกเก็บค่าสินค้าและบริการจากลูกค้าสูงขึ้น

มาร์เกรธ เวสทาเกอร์ เจ้าหน้าที่กำกับดูแลด้านการผูกขาดของคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปแถลงข่าวว่า แอปเปิ้ลเข้ามามีบทบาทเป็น “ผู้ควบคุมประตู” ในการกระจายของเนื้อหาสื่อไปยังผู้ใช้งานไอโฟนและไอแพด “เราจำเป็นต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่ากฎของแอปเปิ้ลไม่บิดเบือนการแข่งขันทางการค้า ในตลาดที่แอปเปิ้ลเป็นผู้แข่งขันกับผู้พัฒนาแอปพลิเคชั่นรายอื่นอย่าง แอปเปิ้ลมิวสิคและแอปเปิ้ลบุ๊กส์”

ในเดือน มี.ค. 2019 สปอทิฟาย บริษัทผู้ให้บริการเพลงสตรีมมิ่งได้ยื่นเรื่องร้องเรียนว่า แอปเปิ้ลทำให้คู่แข่งเสียเปรียบโดยการกำหนดให้ผู้ให้บริการคอนเทนต์รายอื่นต้องเสียค่าคอมมิชชั่น 30% แต่แอปเปิ้ลมิวสิคไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมดังกล่าว ต่อมาในเดือน มี.ค. 2020 ที่ผ่านมา ราคูเท็นก็ได้ยื่นร้องเรียนในลักษณะเดียวกันว่า แอปเปิ้ลลดราคาอีบุ๊กส์และหนังสือเสียงที่ขายผ่านแอปสโตร์ลงถึง 30% เพื่อสร้างความได้เปรียบให้กับบริการด้านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ของตนเอง

ขณะเดียวกัน คณะกรรมาธิการยุโรปยังจะไต่สวนระบบแอปเปิ้ลเพย์ ถึงข้อกำหนดและเงื่อนไขที่อาจส่งผลต่อการบิดเบือนการแข่งขันทางการค้า รวมถึงลดทางเลือกของการซื้อสินค้าและนวัตกรรมในระบบการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ รวมถึงการจำกัดการเข้าถึงฟังก์ชั่น “tap and go” บนไอโฟน ซึ่งเป็นการปิดกั้นการเข้าถึงทางเลือกบริการชำระเงินของลูกค้าด้วย

อย่างไรก็ตาม โฆษกของแอปเปิ้ลระบุว่าการดำเนินดังกล่าวของสหภาพยุโรปเป็นเรื่องน่าผิดหวัง เนื่องจากการร้องเรียนเหล่านี้ไม่มีมูลความจริง “เป้าหมายของเราคือการทำให้ลูกค้าของเราสามารถเข้าถึงแอปพลิเคชั่นหรือบริการที่ดีที่สุดที่พวกเขาเลือก ภายใต้สถาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเชื่อถือได้ และเราพร้อมที่จะแสดงให้คณะกรรมาธิการยุโรปเห็นว่า สิ่งที่เราทำทั้งหมดนี้เพื่อทำให้เป้าหมายเหล่านี้เป็นจริง”

ทั้งนี้ แอปเปิ้ลกำลังเผชิญกับแรงกดดันของหน่วยงานกำกับดูแลการผูกขาดทั่วโลก โดยในเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่กำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าของฝรั่งเศสได้สั่งปรับแอปเปิ้ลถึง 1,100 ล้านยูโรจากพฤติกรรมปิดกั้นการแข่งขันทางการค้า เช่นเดียวกันกับทางการสหรัฐที่กำลังดำเนินการไต่สวนการผูกขาดของแอปเปิ้ล และบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่อีกหลายราย ไม่ว่าจะเป็นอะเมซอน เฟซบุ๊ก และกูเกิลด้วย