สงครามเทคโนโลยี จุดเปลี่ยนเกม ‘หยวน-ดอลลาร์’

เงินหยวน-ดอลลาร์สหรัฐ
(Photo by STR / AFP) / China OUT
ชีพจรเศษฐกิจโลก
นงนุช สิงหเดชะ

ภายหลังเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงมากจากพิษไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐติดลบอย่างหนัก ก็เริ่มมีการพูดกันว่า ดอลลาร์สหรัฐกำลังสูญเสียความเป็นเจ้าแห่งทุนสำรองระหว่างประเทศ ที่ธนาคารกลางประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกนิยมซื้อเข้าเก็บเป็นทุนสำรองต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์หลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ในเวลานี้ยังไม่มีเงินสกุลอื่นเป็นทางเลือกมาทดแทนดอลลาร์สหรัฐ” เพราะคู่แข่งขันที่ใกล้เคียงที่สุด ไม่ว่าจะเป็น “หยวน” ของจีน หรือ “ยูโร” ก็ยังห่างชั้นจากดอลลาร์สหรัฐมาก อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าเงินหยวนของจีนกำลังมีความสำคัญเพิ่มขึ้นทั้งในการค้าโลก และในทุนสำรองระหว่างประเทศ เพราะอิทธิพลเศรษฐกิจจีนกำลังเพิ่มขึ้นนั่นเอง

ธนาคารดีบีเอสของสิงคโปร์ระบุว่า ปัจจุบันเงินหยวนอยู่อันดับ 6 ในฐานะสกุลเงินที่ทั่วโลกนิยมใช้ชำระค่าสินค้าและบริการระหว่างประเทศ ขณะที่จีนใช้เงินหยวนชำระประมาณ 20% ของการค้าทั้งหมดของจีน ทั้งนี้ กลุ่มประเทศอาเซียน 10 ประเทศ ก็เป็นคู่ค้าใหญ่ที่สุดของจีน ดังนั้นจึงเป็นโอกาสให้จีนเพิ่มการใช้เงินหยวนข้ามแดน

“ความตึงเครียดระหว่างจีนกับสหรัฐที่ลามไปถึงภาคเทคโนโลยีและการเงิน จุดประกายรอบใหม่ให้จีนผลักดันเงินหยวนให้เป็นสกุลเงินสากล” ดีบีเอสระบุ

ตามข้อมูลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) “เงินหยวน” มีส่วนแบ่งในทุนสำรองระหว่างประเทศของธนาคารกลางทั่วโลกเพิ่มขึ้นจาก 1% ในปี ค.ศ. 2016 เป็น 2% ในปัจจุบัน ขณะเดียวกัน เงินหยวนก็แข็งค่าอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เช่น วันอังคารที่ 1 กันยายน เงินหยวนออนชอร์แข็งค่ามากสุดในรอบเกือบ 16 เดือน ไปอยู่ที่ 6.8239 หยวนต่อดอลลาร์ และออฟชอร์อยู่ที่ 6.8236 ต่อดอลลาร์ แข็งค่าที่สุดนับจากเดือนกรกฎาคม 2019

“สเวน ชูเบิร์ต” นักกลยุทธ์ลงทุนอาวุโสของ Vontobel Asset Management สวิตเซอร์แลนด์ ระบุว่า อิทธิพลของจีนที่เริ่มเติบโตมากขึ้นจากโครงการยักษ์ระดับโลก “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” เป็นหนึ่งในปัจจัยที่อาจทำให้การใช้เงินหยวนทำธุรกรรมกลายเป็นสิ่งปกติธรรมดามากขึ้น

“โครงการที่มีเป้าหมายสร้างโครงข่ายเชื่อมโยงหลากหลายทั้งทางบกและทางน้ำ จากจีนไปยังเอเชียกลาง แอฟริกา และยุโรป เพื่อขยายการค้านี้ ทำให้จีนมีอิทธิพลในยูเรเชียและแอฟริกามากขึ้น จึงเป็นการปูทางให้มีการใช้เงินหยวนเพิ่มขึ้นในการค้าระดับโลก”

นอกจากนั้น “จีนและรัสเซีย” ยังจับมือกันลดการพึ่งพาดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจากข้อมูลล่าสุดของธนาคารกลางรัสเซีย ได้เพิ่มเงินหยวนเข้าเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ จากประมาณ 2% ในปี 2018 เป็นมากกว่า 14% ในปี 2019 พร้อมกันนั้นลดดอลลาร์สหรัฐจากประมาณ 30% เหลือ 9.7% ในช่วงเดียวกัน

ผลจากการจับมือระหว่างจีนกับรัสเซีย ทำให้ทั้ง 2 ประเทศใช้เงินดอลลาร์สหรัฐในการทำธุรกรรมระหว่างกันลดลงต่ำกว่า 50% เป็นครั้งแรกในไตรมาสแรกปีนี้ รวมแล้วในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา สัดส่วนการชำระด้วยดอลลาร์สหรัฐของทั้ง 2 ประเทศลดจาก 90% ไปอยู่ที่ 46%

ทั้งนี้ หากวัดจากความสำคัญทางเศรษฐกิจของจีนแล้วถือว่า เงินหยวนถูกนำมาใช้ในธุรกรรมระหว่างประเทศน้อยเกินไป ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเปลี่ยนไปในอนาคต เพื่อให้สอดคล้องกับระดับความสำคัญทางเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการค้าระหว่างประเทศก็ยังมีการใช้ดอลลาร์สหรัฐมากที่สุด คือ 50% ของการค้าโลก แม้ว่าการค้าของสหรัฐจะมีสัดส่วนเพียง 12% ของการค้าโลกก็ตาม

“เอสวาร์ พราซาด” อาจารย์มหาวิทยาลัยคอร์เนลเห็นว่า ความพยายามของจีนในการเปิดภาคการเงิน ตลอดจนการที่ดัชนีตลาดหุ้นแผ่นดินใหญ่ถูกรวมเข้าไปอยู่ในดัชนีระดับโลก จะทำให้เงินหยวนค่อย ๆ มีความสำคัญมากขึ้น โดยปัจจุบันหุ้น A-shares ของจีน หรือหุ้นที่ซื้อขายในดัชนีของตลาดหุ้นแผ่นดินใหญ่ ถูกรวมเข้าไปอยู่ในดัชนีระดับโลกของ MSCI และภูมิภาค อีกทั้งตลาดพันธบัตรก็ถูกรวมเข้าไปในดัชนีบลูมเบิร์ก บาร์เคลย์ ซึ่งล้วนแต่เทรดด้วยเงินหยวน

“ในเมื่อสินทรัพย์ของจีนมีการเทรดในตลาดระดับโลก ต่างชาติก็จำเป็นต้องเทรดด้วยเงินหยวนมากขึ้น นั่นก็จะเป็นสิ่งผลักดันให้เงินหยวนเป็นสากล”

พราซาดยังระบุด้วยว่า การที่จีนผลักดันเงินดิจิทัลยิ่งจะเพิ่มบทบาทเงินหยวนให้เป็นสกุลเงินที่ใช้ชำระบริการและสินค้าระหว่างประเทศ และท่ามกลางความตึงเครียดกับสหรัฐเช่นนี้ การส่งเสริมให้ใช้เงินหยวนในการค้าโลก จะทำให้จีนสามารถแยกตัวออกจากสหรัฐได้ อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า เงินหยวนไม่ใช่คู่แข่งที่น่ากลัวของดอลลาร์ในตลาดเงินระดับโลก

ถึงกระนั้น สงครามเทคโนโลยีระหว่างจีนกับสหรัฐ อาจทำให้ “เกมเปลี่ยน” เพราะขณะที่สหรัฐถอนตัวออกจากองค์กรใหญ่ระดับโลกอย่างองค์การอนามัยโลก หรือข้อตกลงปารีส ว่าด้วยการลดปัญหาโลกร้อน ทำให้เกิดความกังวลว่าจะทำให้เกิดสุญญากาศทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่จีนแสนจะเต็มใจที่จะเข้าไปเติมเต็ม แต่นั่นก็ไม่ใช่ภัยคุกคามต่อความเป็นใหญ่ของดอลลาร์สหรัฐ หากแต่ปัจจัยสำคัญก็คือ “สงครามเทคโนโลยี” ที่จะทำให้อินเทอร์เน็ตโลกแยกเป็น 2 สาย คือ สายที่อเมริกาเป็นศูนย์กลาง และสายที่มีจีนเป็นศูนย์กลาง

ปัจจัยดังกล่าวมีศักยภาพที่จะเปลี่ยนเกมเรื่องบทบาทของค่าเงิน เพราะอินเทอร์เน็ตที่มีจีนเป็นศูนย์กลางจะเพิ่มอิทธิพลของจีนในเอเชีย เพราะโครงข่ายโทรคมนาคมจะต้องเชื่อมโยงใกล้ชิดกับเทคโนโลยีของจีน ทำให้จำเป็นต้องใช้เงินหยวนในภูมิภาค

อเมริการุกคืบเพื่อบดขยี้จีนอย่างหนักเพื่อสกัดการผงาดขึ้นด้านเทคโนโลยี ที่มีแนวโน้มว่าจะนำหน้าสหรัฐหลายด้าน นอกจากจะบีบ “หัวเว่ย” บริษัทยักษ์ใหญ่ของจีนทุกทางแล้ว ล่าสุดยังเล่นงาน TikTok แอปพลิเคชั่นแชร์วิดีโอที่กำลังเป็นที่นิยม ด้วยการบังคับให้ขายกิจการในสหรัฐอีกด้วย