คำเตือนของไอเอ็มเอฟ ว่าด้วยปัญหา “หนี้ครัวเรือน”

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) กำหนดจัดการประชุมใหญ่ประจำปี 2017 ระหว่างวันที่ 13-15 ตุลาคมที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา โดยมีผู้ว่าการธนาคารกลางหรือแบงก์ชาติของแต่ละชาติเดินทางไปร่วมสมทบในการประชุมด้วย

ในอดีตการประชุมของไอเอ็มเอฟและเวิลด์แบงก์ ถือเป็นเหตุการณ์ใหญ่ที่ทั่วโลกจับตามอง ทั้งภาครัฐและเอกชน เพราะแนวทางที่ไอเอ็มเอฟกำหนดออกมา ได้รับการรับฟังและนำไปปรับเพื่อประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ กลายเป็นการกำหนดทิศทางและแนวโน้มของเศรษฐกิจโลกไปโดยปริยาย

แต่ในระยะหลัง “ความขลัง” ดังกล่าวดูเหมือนจะลดน้อยถอยลงเรื่อย ๆ

ไม่เพียงเพราะ ไอเอ็มเอฟ จะถูกมองว่า ทำงานในลักษณะ “มัดมือชก” และ “กอดตำรา” โดยไม่คำนึงถึงสภาวะแวดล้อมจริงของแต่ละประเทศที่ร้องขอความช่วยเหลือเท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะสถานะของการเป็น “ที่พึ่งสุดท้าย” ที่สำคัญที่สุดของนานาประเทศหดหายไปมากในระยะหลัง เมื่อเกิดการรวมกลุ่มประเทศขึ้นตามสภาพทางภูมิศาสตร์ แล้วจัดตั้งกองทุนร่วมกันขึ้นเพื่อ “ช่วยเหลือกันเอง” โดยไม่จำเป็นต้องยึดติดกับเงื่อนไขสารพัดมากขึ้นเรื่อย ๆ

แม้ความสำคัญของไอเอ็มเอฟ ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละประเทศ คำเตือนหรือข้อเสนอแนะและรายงานต่าง ๆ ที่คณะทำงานของไอเอ็มเอฟนำเสนอออกมาในแต่ละปี ก็ยังมีนัยสำคัญไม่น้อย ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละประเทศจะ “ฟัง” แล้วเก็บไป “ไตร่ตรอง” และ “ปฏิบัติตาม” มากน้อยแค่ไหน

ตามข้อมูลที่มีผู้ซึ่งมีส่วนรู้เห็นกับการเตรียมการเพื่อการประชุมครั้งนี้นำออกมาเผยแพร่ก่อนหน้านั้น แนวทางที่ไอเอ็มเอฟ เตรียมไว้เพื่อเสนอแนะต่อประเทศอื่นจะมุ่งเน้นไปที่การเตือนให้ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากการขาดการศึกษา, ฝึกอบรม และการเสริมสร้างผลิตภาพของแต่ละประเทศ ในขณะที่มีผู้สันทัดกรณีจำนวนหนึ่งเชื่อว่า

“คริสตีน ลาการ์ด” กรรมการผู้จัดการไอเอ็มเอฟ จะเตือนให้ผู้ที่รับผิดชอบในการกำหนดนโยบาย ให้จับตาไปที่ระบบธนาคารเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดขึ้นในระบบเมื่อสถาบันการเงินจำนวนหนึ่ง “ออกนอกลู่นอกทาง” ที่ควรจะเป็นเหมือนในวิกฤตที่เกิดขึ้นเมื่อ 10 ปีก่อน

คล้ายคลึงกับที่ ลาการ์ด เคยแสดงทรรศนะไว้เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ระหว่างการเดินทางเยือนประเทศอังกฤษ นอกจากนั้นแล้ว ยังมีบางคนได้เห็นรายงานหลักว่าด้วยระบบการเงินโลกที่จัดเตรียมไว้เผยแพร่ระหว่างการประชุม ซึ่งน่าสนใจอย่างมาก รายงานชิ้นนี้จัดทำโดย นิโก วัลคซ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ประจำแผนกนโยบายการเงินการคลังของไอเอ็มเอฟ เนื้อหาหลักน่าสนใจมากเพราะพูดถึงปัญหาเรื่อง “หนี้สินครัวเรือน” เป็นสำคัญ

ระดับของหนี้ครัวเรือนนั้นสำคัญไม่น้อยต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศและโลก จำเป็นต้องควบคุมอยู่ในระดับที่เหมาะสม มากเกินไปก็จะกลายเป็นความเสี่ยงหนี้ครัวเรือน สำคัญเพราะเชื่อมโยงกับระดับการบริโภคภายในประเทศ ที่มีอิทธิพลสำคัญต่อการขยายตัวของ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของแต่ละประเทศ ระดับหนี้ครัวเรือนที่ต่ำมากเกินไป สะท้อนถึงความไม่เต็มใจที่จะจับจ่ายใช้สอย หรือลงทุนส่วนบุคคล ส่งผลกระทบต่อการผลิต ในที่สุดก็จะกระทบต่อค่าจ้างแรงงานและเศรษฐกิจโดยรวมให้ชะลอหรือหดตัวลง

รายงานของไอเอ็มเอฟล่าสุด เตือนรัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ว่าให้ระวัง อย่าพึ่งพาการบริโภคของประชาชนที่ถูกกระตุ้นหรือถูกสร้างขึ้นด้วย “หนี้ครัวเรือน” เพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัว เพราะการทำเช่นนั้นจะทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะ “ล่มสลายทางการเงินครั้งใหญ่” ตามมาในอีกไม่ช้า

ตามรายงานไอเอ็มเอฟระบุไว้ว่า เพียงแค่รัฐบาลใช้การบริโภคด้วยหนี้สินครัวเรือนเป็นหลักในการทำให้เศรษฐกิจขยายตัวชั่วระยะเวลาเพียง 2-3 ปี ก็สามารถเกิดวิกฤตการณ์การเงินได้แล้ว

“หนี้สินหล่อลื่นวงล้อเศรษฐกิจ เปิดโอกาสให้ปัจเจกบุคคลสามารถลงทุนใหญ่ ๆ ได้ในเวลานี้ อย่างเช่นการลงทุนซื้อบ้าน หรือลงทุนเพื่อการศึกษา โดยหยิบยืมมาจากรายได้ที่คาดหวังไว้ในอนาคต ในทางทฤษฎีดูดีทีเดียว แต่วิกฤตการณ์ทางการเงินของโลกที่ผ่านมาแสดงไว้เป็นอุทธาหรณ์ว่า เมื่อใดที่หนี้สินครัวเรือนขยายตัวเร็วเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนี้เพื่อที่อยู่อาศัย อันตรายจะเกิดขึ้นได้ทันทีเช่นกัน” นิโก วัลคซ์ ระบุไว้ในรายงาน

นักเศรษฐศาสตร์ของไอเอ็มเอฟระบุว่า การขยับขึ้นของสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนทุก ๆ 1% ก็จะเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตขึ้นในระบบธนาคารได้ 1% เช่นเดียวกัน “ซึ่งเป็นสัดส่วนการเพิ่มขึ้นที่สูงไม่น้อย หากคำนึงถึงว่า แม้จะอยู่เฉย ๆ โดยที่ไม่มีระดับหนี้เพิ่มขึ้นเลย ความเป็นไปได้ที่จะเกิดวิกฤตขึ้นก็อยู่ที่ 3.5% อยู่แล้ว”

รายงานของไอเอ็มเอฟชี้ว่า ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากหนี้ครัวเรือนนั้นเกิดขึ้นกับ “เงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัย” สูงสุด เพราะมูลหนี้รวมดังกล่าวสูงกว่าหนี้ครัวเรือนอื่น ๆ โดยในประเทศสหรัฐอเมริกา หรืออังกฤษ ความต่างนี้สูงมากถึง 10 เท่าเลยทีเดียว

แน่นอนทางแก้ไขย่อมหนีไม่พ้นการจำกัดการกู้ยืมหรือออกมาตรการควบคุมการปล่อยกู้ อาทิ เพิ่มสัดส่วนของเงินดาวน์ หรือเพิ่มสัดส่วนของรายได้ที่จะต้องใช้เพื่อการผ่อนชำระ เป็นต้น

ทั้งหมดขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการด้านเศรษฐกิจและการเงินที่เหมาะสมและสมดุลของรัฐบาลตามสภาพการณ์ในแต่ละประเทศ เพราะแน่นอนการทำเช่นนั้นย่อมกระทบต่อภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่างช่วยไม่ได้