ตำรวจเมียนมาฉีดน้ำใส่ผู้ประท้วง ชุมนุมต้านรัฐประหารวันที่ 3

ตำรวจเมียนมาฉีดน้ำใส่ผู้ประท้วง
REUTERS/Stringer NO RESALES. NO ARCHIVES.

ตำรวจเมียนมาใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันสูง ฉีดน้ำใส่ผู้ประท้วงต่อต้านรัฐประหารในกรุงเนปิดอว์ ระหว่างที่การชุมนุมล่วงเข้าสู่วันที่ 3

วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564 เดอะสเตรตส์ไทมส์ รายงานว่า ตำรวจใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันสูงฉีดน้ำใส่ผู้ประท้วงต่อต้านรัฐประหารในกรุงเนปิดอว์ของเมียนมา เมื่อวันจันทร์ตามเวลาท้องถิ่น โดยช่างภาพของเอพี ซึ่งอยู่ในที่เกิดเหตุ เผยว่า การประท้วงที่ดำเนินติดต่อกันเป็นวันที่ 3 มีเป้าหมายเพื่อต่อต้านการปลดและควบคุมตัวนางอองซาน ซูจี ผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ช่างภาพรายนี้เห็นผู้บาดเจ็บ 2 ราย ขณะที่โซเชียลมีเดียเผยแพร่ภาพชายสองคนล้มลง หลังถูกฉีดด้วยน้ำ ที่สงสัยว่ามีสารเคมีเจือปน

ตำรวจดูเหมือนจะหยุดฉีดน้ำ หลังจากผู้ประท้วงขอร้องพวกเขา อย่างไรก็ตาม การประท้วงยังคงดำเนินต่อไป

พยานเล่าว่า ผู้ประท้วงต่อต้านรัฐประหารหลายพันคนเดินขบวนตามเมืองต่าง ๆ ทั่วเมียนมา เมื่อวันจันทร์

การเรียกร้องให้ประชาชนเข้าร่วมการประท้วงและสนับสนุนการอารยะขัดขืนเริ่มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ หลังเกิดรัฐประหารเมื่อวันจันทร์ที่แล้ว ซึ่งเรียกเสียงประณามจากทั่วโลก

ในนครย่างกุ้ง ซึ่งเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุด พระสงฆ์กลุ่มหนึ่งได้เดินขบวนเป็นทัพหน้า นำผู้ประท้วงที่เป็นแรงงานและนักศึกษา ขณะที่ประชาชนมากกว่า 1,000 คน มารวมตัวกันที่สวนสาธารณะแห่งหนึ่งในช่วงกลางวัน

ผู้เห็นเหตุการณ์เล่าว่า พวกเขาโบกธงและถือป้ายสีแดง ซึ่งเป็นสีของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ของนางซูจี

“ปล่อยผู้นำของเรา เคารพเสียงลงคะแนนของเรา ปฏิเสธการรัฐประหาร” เป็นข้อความที่อยู่บนป้ายแผ่นหนึ่ง ส่วนอีกแผ่นเขียนว่า กอบกู้ประชาธิปไตย” และ “ปฏิเสธเผด็จการ” ขณะที่ผู้ประท้วงหลายคนพากันสวมชุดดำ

“พวกเรา ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเป็นผู้นำการประท้วงนี้ เพื่อเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐบาลทุกคนเข้าร่วมขบวนการอารยะขัดขืน” อาย มิซาน นางพยาบาลในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งของรัฐกล่าวในการประท้วงที่นครย่างกุ้ง

“ข้อความของเราที่ส่งต่อสาธารณะคือ สิ่งที่เรามุ่งหวังคือการล้มล้างระบอบทหารนี้ และเราต้องการต่อสู้เพื่อโชคชะตาของเรา”

“นี่เป็นวันทำงาน แต่เราจะไม่ทำงาน แม้ว่าเงินเดือนของเราจะถูกตัด” ผู้ประท้วงชื่อ “ฮนิน ทาซิน” ซึ่งเป็นคนงานโรงงานตัดเย็นอายุ 28 ปี ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพี

ในเมืองที่ใหญ่อันดับสองของประเทศอย่างมัณฑะเลย์ มีชาวเมียนมามากกว่าหนึ่งพันคนมารวมตัวกันในช่วงเช้า

ส่วนอีกหลายร้อยออกมาชุมนุมในกรุงเนปิดอว์ ด้วยการขี่รถจักรยานยนต์ไปรอบ ๆ พร้อมกับบีบแตร นอกจากนี้ยังมีรายงานการชุมนุมครั้งใหญ่ ๆ ตามเมืองอื่น ๆ

ผู้ประท้วงที่ออกมาชุมนุมเมื่อวันอาทิตย์ ถือเป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่การประท้วงรัฐบาล “Saffron Revolution” ที่นำโดยพระสงฆ์ เมื่อปี 2550 ซึ่งกระตุ้นให้เกิดการปฏิรูปประชาธิปไตย ซึ่งต่อมาถูกรัฐประหาร เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์

“ผู้เดินขบวนจากทั่วทุกมุมในย่างกุ้ง โปรดออกมาอย่างสงบและเข้าร่วมการชุมนุม” อีทินซาร์หม่อง นักเคลื่อนไหว โพสต์เรียกร้องให้ผู้ติตตามบนเฟซบุ๊กออกมาเคลื่อนไหว โดยใช้เครือข่ายวีพีเอ็น แม้ว่ารัฐบาลทหารจะพยายามแบนเครือข่ายโซเชียลมีเดียก็ตาม

ประชาชนหลายพันคนเดินขบวนในเมืองชายฝั่งอย่างทวาย ทางตะวันออกเฉียงใต้ และในเมืองหลวงของรัฐคะฉิ่น ทางเหนือสุด ซึ่งพวกเขาสวมชุดสีดำตั้งแต่หัวจรดเท้า

จนถึงขณะนี้การชุมนุมเป็นไปอย่างสงบ ต่างจากการปราบปรามนองเลือดระหว่างการประท้วง เมื่อปี 2531 และปี 2550 อย่างไรก็ตาม มีผู้พบเห็นขบวนรถบรรทุกทหารแล่นเข้าสู่ย่างกุ้งในช่วงกลางดึกวันอาทิตย์ ซึ่งสร้างความกังวลในหมู่ประชาชน

รอยเตอร์ไม่สามารถติดต่อคณะรัฐประหารเพื่อขอความเห็นเกี่ยวกับการประท้วง ขณะที่สื่อทางการก็ไม่ได้กล่าวถึงพวกเขาแต่อย่างใด

เรียกร้องให้หยุดงานประท้วง

รัฐบาลยุติการแบนอินเทอร์เน็ตในช่วงสุดสัปดาห์ ซึ่งได้กระตุ้นให้เกิดความโกรธแค้นในประเทศ ซึ่งเต็มไปด้วยความกังวลว่าประเทศจะกลับไปสู่ความสันโดษหรือแม้แต่ยากจนมากยิ่งกว่าช่วงก่อนเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยเมื่อปี 2554

นักเคลื่อนไหวอย่าง มวง ซวง ขา และ เตต ซเว วิน โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า ตำรวจได้ค้นหาตัวพวกเขาที่บ้าน แต่พวกเขาไม่ได้อยู่ที่นั่นและยังคงเป็นอิสระ นอกเหนือจากการประท้วงบนถนน การรณรงค์อารยะขัดขืนได้เริ่มต้นขึ้น โดยเริ่มจากแพทย์ ตามด้วยครู และเจ้าหน้าที่ของรัฐ

“เราขอให้เจ้าหน้าที่รัฐบาลจากทุกหน่วยงาน ไม่ไปทำงานตั้งแต่วันจันทร์เป็นต้นไป” มิน โค นาย ผู้ที่เคยเข้าร่วมการชุมนุมเมื่อปี 2531 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ทำให้นางซูจีโดดเด่นขึ้นมา

นางซูจีได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เมื่อปี 2534 จากการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย และเธอได้ใช้เวลาเกือบ 15 ปี อยู่แต่ในบ้าน ในช่วงทศวรรษแห่งการต่อสู้เพื่อยุติการปกครองเกือบครึ่งศตวรรษของกองทัพ

นางซูจี อายุ 75 ปี ถูกควบคุมตัวโดยไม่ให้ติดต่อสื่อสารกับใคร ตั้งแต่พลเอกมิน อ่อง ลาย เข้ายึดอำนาจ เมื่อช่วงเช้ามืดวันที่ 1 กุมภาพันธ์ เธอถูกกล่าวหาว่านำเข้าอุปกรณ์สื่อสารผิดกฎหมาย และถูกตำรวจคุมขังเพื่อสอบสวนจนถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ โดยทนายของเธอกล่าวว่า เขาไม่ได้รับอนุญาตให้พบเธอ

คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเรียกร้องให้ปล่อยตัวนางซูจีและผู้ถูกคุมตัวคนอื่น ๆ ตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่สหรัฐฯ กำลังพิจารณาใช้มาตรการคว่ำบาตร

“ผู้ประท้วงในเมียนมายังคงสร้างแรงบันดาลใจให้กับโลก เนื่องการกระทำที่แพร่หลายไปทั่วประเทส” โทมัส แอนดรูส์ ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติประจำเมียนมา ทวีตข้อความในทวิตเตอร์และว่า

“เมียนมากำลังลุกฮือ เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัว และปฏิเสธเผด็จการทหารครั้งแล้วครั้งเล่า พวกเราอยู่กับคุณ”