ชาติเอเชียฝ่าโควิด-19 อินเดียหุ้นพุ่ง-เกาหลีส่งออกลิ่ว

หุ้นอินเดีย-เกาหลีพุ่ง
ชีพจรเศรษฐกิจโลก
นงนุช สิงหเดชะ

แม้ในเดือน พ.ค. อินเดียกลายเป็นประเทศที่ดึงความสนใจของโลกกลับมายังเอเชียอีกครั้ง หลังจากทำสถิติมีผู้ติดเชื้อรายวันสูงสุด 4 แสนคน และเสียชีวิตวันละประมาณ 4,000 คน ทำให้ ณ สิ้นเดือน พ.ค.มีผู้ติดเชื้อสะสม 28 ล้านคน หรืออันดับ 2 ของโลกรองจากอเมริกา อย่างไรก็ตาม กลับปรากฏว่าเดือน พ.ค. ตลาดหุ้นอินเดียทำผลงานได้ในระดับท็อปของเอเชีย-แปซิฟิก โดยดัชนี Nifty 50 ซึ่งเฉลี่ยน้ำหนักจาก 50 บริษัทใหญ่สุดของอินเดีย เพิ่มขึ้น 6.5% และดัชนี BSE Sensex ปรับขึ้น 6.47%

“ตวน หวิน” หัวหน้าเจ้าหน้าที่ลงทุนยุโรปและเอเชีย-แปซิฟิก ดอยช์แบงก์ อินเตอร์เนชั่นแนล ไพรเวต แบงก์ กล่าวว่า กรณีของอินเดียค่อนข้างน่าประหลาดใจ ดูเหมือนตลาดจะแยกแยะระหว่างเศรษฐกิจกับรายได้บริษัท และจำนวนการติดเชื้อโควิด-19 ดูเหมือนวลีเก่าแก่ของการลงทุนที่ว่า “พฤษภาคมเทขายหุ้นแล้วหนีไป” ไม่เป็นความจริง อย่างน้อยก็สำหรับเดือนนี้

ขณะที่ “ทิโมธี โม” หัวหน้านักกลยุทธ์หุ้นโกลด์แมนแซกส์ ให้น้ำหนักการลงทุนหุ้นอินเดีย “มากกว่าตลาด” เพราะคาดว่าจะทำผลงานโดดเด่น “ตลาดหุ้นอินเดียดูเหมือนจะใช้ชีวิตอยู่ในอนาคต ไม่ใช่ปัจจุบัน” แม้จะมีความกังวลอย่างยิ่งในแง่วิกฤตมนุษยธรรมจากการที่มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตมาก แต่โดยพื้นฐานแล้วตลาดมองผ่านจุดนี้ไป และคาดหวังว่าอัตราการติดเชื้อจะลดลง ซึ่งขณะนี้ก็กำลังลดลงจริง ๆ

ส่วนประเทศที่ทำผลงานดีสุดของเอเชีย-แปซิฟิก ก็คือเวียดนาม โดยดัชนี VN เดือน พ.ค.พุ่งขึ้น 7.15% ทั้งที่สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 จะย่ำแย่ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยล่าสุดมีผู้ติดเชื้อสะสม 7,300 กว่าราย จากเดิมที่มีผู้ติดเชื้อค่อนข้างต่ำ ส่วนไต้หวัน ซึ่งเคยได้รับการยกย่องว่าคุมการระบาดได้ดีสุด 5 อันดับแรกของโลกเมื่อปีที่แล้ว กลับปรากฏว่าตลาดหุ้นทำผลงานได้แย่สุดในเอเชีย-แปซิฟิก โดยดัชนี Taiex เดือน พ.ค. ปรับลง 2.84% ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 8,500 รายเป็นอย่างน้อย จากการระบาดรอบใหม่ กระทั่งต้องร้องขอความช่วยเหลือวัคซีนจากสหรัฐ

ด้านเกาหลีใต้ ซึ่งเคยประสบปัญหาการติดเชื้อพุ่งขึ้นอย่างน่าตกใจในช่วงแรกของการระบาดเมื่อต้นปีที่แล้ว มาบัดนี้ดูเหมือนจะสามารถเดินหน้าเศรษฐกิจได้ต่อเนื่อง ทำให้การส่งออกเดือน พ.ค.ขยายตัวกระฉูด 45.6% สูงสุดในรอบ 32 ปี นับเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 สินค้าที่เติบโตสูงสุดคือชิปและรถยนต์ โดยได้รับอานิสงส์จากการที่หลายประเทศโดยเฉพาะอเมริกาเริ่มเปิดเศรษฐกิจหลังจากสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น

การส่งออกที่เติบโตมาก ส่งผลให้ท่าเรือใหญ่สุดของเกาหลีใต้คือท่าเรือปูซาน เกิดการติดขัดมากจนกระทั่งผู้บริหารท่าเรือออกกฎว่าจะรับตู้สินค้าต่อเมื่อมีกำหนดจะส่งออกภายใน 5 วัน สั้นกว่าเดิมที่เคยกำหนดไว้ 7 วัน ทั้งนี้นักเศรษฐศาสตร์หลายคนประเมินว่าการส่งออกจะยังแข็งแกร่งไปถึงเดือน มิ.ย. ก่อนจะลดลงในไตรมาส 3 และทำให้การส่งออกทั้งปีขยายตัวในระดับสองหลัก

“พัก ซุง-วู” นักเศรษฐศาสตร์ดีบี ไฟแนนเชียล อินเวสต์เมนต์ ระบุว่า การใช้จ่ายอย่างคึกคักของผู้บริโภคชาวอเมริกัน ทำให้ความต้องการสินค้าจากเกาหลีใต้ยังคงแข็งแกร่ง และเป็นสิ่งบ่งชี้ว่าตัวเลขการค้าของจีนและญี่ปุ่นจะแข็งแกร่งเช่นกัน

ในส่วนของประเทศจีน ซึ่งเป็นต้นตอของไวรัสแต่เศรษฐกิจสามารถพลิกฟื้นได้เป็นชาติแรกของโลก จนถึงขณะนี้ยังสามารถรักษาความต่อเนื่องด้านการเติบโตเอาไว้ได้ โดยเดือน พ.ค. ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 52 สูงสุดนับจากเดือน ธ.ค.ปีที่แล้ว เนื่องจากความต้องการภายในประเทศและการส่งออกสูงขึ้น แต่ขณะเดียวกันราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เริ่มจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเนื่องจากผู้ประกอบการบางรายเริ่มกักตุนสินค้า บางรายก็ประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ ถือว่าห่วงโซ่อุปทานได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ