“สหรัฐ-อียู” จับมือผ่าทางตัน ยุติขัดแย้ง 17 ปี “โบอิ้ง-แอร์บัส”

ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป (อียู) กรณีการให้การสนับสนุนบริษัทผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่อย่าง “โบอิ้ง” และ “แอร์บัส” ซึ่งยืดเยื้อมานานกว่า 17 ปี กำลังเดินหน้าสู่จุดสิ้นสุด หลังจากที่ทั้งสองฝ่ายสามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันได้และสามารถฟื้นฟูความร่วมมือกันได้อีกครั้ง

ท่ามกลางอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องบินพาณิชย์ของทั้งสหรัฐและอียูที่กำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่จากจีน

ไฟแนนเชียลไทมส์รายงานว่าประธานาธิบดี “โจ ไบเดน” แห่งสหรัฐได้บรรลุข้อตกลงยุติข้อพิพาทกับผู้นำอียู เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา หลังการประชุมร่วมกันเป็นเวลา 2 วัน ที่กรุงบรัสเซลส์ ของเบลเยียม โดยทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันร่างข้อตกลงเกี่ยวกับวิธีการจัดการเงินทุนสนับสนุนต่อโบอิ้งและแอร์บัส ซึ่งจะมีการตั้งคณะทำงานระดับรัฐมนตรีขึ้นมาร่วมหารือกันในประเด็นต่าง ๆ ให้เป็นที่ยอมรับจากทั้งสองฝ่าย

นอกจากนี้ สหรัฐและอียูยังบรรลุข้อตกลงระงับมาตรการภาษีศุลกากรที่ทั้งสองฝ่ายใช้ตอบโต้กันก่อนหน้านี้โดยข้อตกลงดังกล่าวจะระงับการจัดเก็บภาษีสินค้านำเข้าหลายชนิด เช่น ไวน์ ชีส กากน้ำตาล และรถจักรยานยนต์ มูลค่ารวม 11,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งในเบื้องต้นจะระงับการจัดเก็บภาษีเป็นเวลา 5 ปี

“วัลดิส โดมโบรฟสกิส” กรรมาธิการการค้าของอียู ระบุว่า “ข้อตกลงนี้จะทำให้เราสามารถยุติข้อพิพาทแอร์บัส-โบอิ้งได้สำเร็จ และมีระยะเวลาที่จะสามารถแสวงหาทางออกที่ยั่งยืนได้ ขณะเดียวกันก็สามารถรักษาเงินหลายพันล้านที่ผู้นำเข้าสินค้าจากทั้งสองฟากมหาสมุทรแอตแลนติกไม่ต้องจ่ายภาษี”

เป้าหมายหลักคือการควบคุมการให้เงินสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา (อาร์แอนด์ดี) ของสหรัฐและอียูต่อบริษัทผู้ผลิตเครื่องบินให้เปิดกว้างและโปร่งใส โดยไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

ทั้งนี้ ความขัดแย้งสองฝ่ายทวีความตึงเครียดอย่างมาก ในยุคประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” ของสหรัฐ ที่มีการใช้มาตรการทางภาษีต่ออียูอย่างหนัก โดยในปี 2019 หลังจากที่องค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ตัดสินว่า อียูให้การสนับสนุนต่อแอร์บัสอย่างไม่เป็นธรรม ทำให้สหรัฐใช้มาตรการภาษีต่อสินค้านำเข้าจากอียู มูลค่าถึง 7,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เช่นเดียวกับอียูที่เก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐ มูลค่า 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2020

รายงานข่าวระบุว่า ความพยายามยุติความขัดแย้งครั้งนี้ถือเป็นความพยายามฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการค้าของ “สหรัฐและอียู” ขึ้นอีกครั้ง เพื่อสร้างความร่วมมือในการรักษาความแข็งแกร่งในอุตสาหกรรมของทั้งสองฝ่าย และตอบโต้กับความท้าทายจากภายนอก โดยเฉพาะ “จีน” ที่กำลังก้าวเข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมผลิตเครื่องบินพาณิชย์อย่างต่อเนื่อง

“ธีโอ เลกเกตต์” นักวิเคราะห์ของบีบีซีระบุว่า จีนได้พยายามผลักดันอุตสาหกรรมดังกล่าวมาอย่างยาวนาน ผ่านการให้เงินอุดหนุนจำนวนมากแก่บริษัทผู้ผลิตเครื่องบินพาณิชย์ของรัฐอย่าง “โคแมก” (Comac) โดยได้พัฒนาเครื่องบินพาณิชย์รุ่น “ซี 919” (C919) ที่มีเป้าหมายในการแข่งขันกับเครื่องแอร์บัส “เอ 320 นีโอ” (A320 neo) และเครื่องโบอิ้ง “737 แม็กซ์” (737 MAX) โดยตรง

ขณะที่ “กีโยม ฟอรี” ซีอีโอแอร์บัส เคยระบุ จีนอาจก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในผู้ผลิตเครื่องบินพาณิชย์ชั้นนำของโลกภายในปี 2030 เลกเกตต์จึงมองว่าการฟื้นฟูความเป็นพันธมิตรระหว่างสหรัฐและอียูครั้งนี้ จึงเป็นการเตรียมรับมือกับความท้าทายจากจีนที่กำลังคุกคามอุตสาหกรรมการบินของทั้งสองฝ่าย