สนามรบใหม่ “B3W-BRI” สหรัฐเดินเกมคานอำนาจจีน

ชีพจรเศรษฐกิจโลก
นงนุช สิงหเดชะ

หลังจากชาติร่ำรวย 7 ประเทศหรือจี 7 เปิดตัวความริเริ่ม (initiative) โครงสร้างพื้นฐานระดับโลก ที่เรียกว่า Build Back Better World (B3W) หรือสร้างโลกที่ดีกว่าเดิมขึ้นมาใหม่ เพื่อคานอำนาจโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) ของจีน เมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ก็ปรากฏว่ามีความคืบหน้าในเรื่องนี้โดยเฉพาะ “สหรัฐอเมริกา” ที่ถือว่าเป็นโต้โผในการชนกับจีน หลังจากปล่อยให้จีนนำหน้าไปถึง 8 ปี

ข่าววงในล่าสุดจากเจ้าหน้าที่ในรัฐบาลสหรัฐ แย้มออกมาว่า สหรัฐวางแผนจะเปิดตัวโครงการขนาดใหญ่ภายใต้ B3W ประมาณ 5-10 โครงการทั่วโลกในเดือนมกราคมปีหน้า หลังจากตัวแทนของสหรัฐนำโดย “ดาลีป ซิงห์” รองที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของประธานาธิบดี “โจ ไบเดน” เดินสายไปรับฟังความเห็นและความต้องการของประเทศในแถบละตินอเมริกาและแอฟริกา ในต้นเดือนตุลาคม และต้นเดือนพฤศจิกายนตามลำดับ ขณะที่มีแผนจะเดินทางทัวร์เอเชียก่อนสิ้นปีนี้

B3W มีเป้าหมายช่วยเหลือสนับสนุนการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางทั่วโลก โดยชูจุดเด่นที่แตกต่างจากโครงการ BRI ของจีน นั่นคือเป็นโครงการที่มีมาตรฐานสูง โปร่งใสและขับเคลื่อนด้วยคุณค่าของโครงการเป็นที่ตั้ง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และช่วยให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศที่เข้าร่วมโครงการ สร้างพันธมิตรที่แท้จริง โดยจะมีการปรึกษาหารือร่วมกับชุมชนและประเมินความต้องการของท้องถิ่นก่อนสร้างโครงการใด ๆ ก็ตาม และแน่นอนประเทศที่เข้าร่วมโครงการนี้ต้องเห็นคุณค่าประชาธิปไตย

ที่ผ่านมาประเทศตะวันตกนำโดยสหรัฐ มักจะกล่าวหาและประณามโครงการ BRI ของจีนว่า “ขาดความจริงใจ” จงใจทำให้ประเทศที่เข้าร่วมโครงการตกอยู่ในกับดักหนี้ เพื่อบีบให้เป็นเบี้ยล่าง ทำให้จีนได้ประโยชน์ทั้งในแง่การเป็นเจ้าหนี้และสร้างอิทธิพลการเมืองระหว่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม ไม่มีความชัดเจนว่าการเกิดขึ้นของ B3W เพื่อเป็นทางเลือกนอกเหนือจาก BRI ของจีนจะอยู่รอดหรือไม่ เพราะขณะนี้ยังไม่มีใครรู้ว่าสหรัฐจะลงทุนในโครงการนี้เท่าไหร่ และประเทศอื่น ๆ จะให้ความร่วมมือแค่ไหน อีกทั้งยังไม่มีรายละเอียดไทม์ไลน์

“ลูคัส ไมเยอร์” ผู้ประสานงานโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งวิลสัน เซ็นเตอร์ ให้สัมภาษณ์วอยซ์ออฟอเมริกา (วีโอเอ) ว่า โครงการ BRI ดึงดูดความสนใจของประเทศที่มีปัญหาสิทธิมนุษยชน คอร์รัปชั่นสูง เพราะเงื่อนไขของ BRI ยืดหยุ่นมากกว่า มีความเข้มงวดเรื่องกฎเกณฑ์น้อยกว่า ดังนั้นความท้าทายสำหรับสหรัฐก็คือ ต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง โดยในขณะที่กำหนดเงื่อนไขเข้มงวดเรื่องการใช้จ่ายเงิน เรื่องสิทธิมนุษยชนและมาตรฐานสิ่งแวดล้อม สหรัฐต้องรับประกันว่ามีความยืดหยุ่นมากพอและมีประสิทธิภาพในด้านต้นทุน

“โจนาธาน อี. ฮิลล์แมน” นักวิชาการอาวุโสศูนย์กลยุทธ์และการศึกษาเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ชี้ว่า B3W อาจมีขนาดเทียบเท่าหรือใหญ่กว่า BRI หากรัฐบาลสหรัฐและจี 7 สามารถระดมทุนจากภาคเอกชนเข้าร่วมด้วย ถ้าโครงการประสบความสำเร็จก็จะดึงดูดประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมมากขึ้นเรื่อย ๆ และจะประสบความสำเร็จมากขึ้น หากสหรัฐร่วมมือกับโครงการพัฒนาที่มีแนวคิดและอุดมการณ์เดียวกัน

ประเด็นนี้ไมเยอร์แนะว่า สหรัฐควรใช้ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของญี่ปุ่นซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกจี 7 สร้างความสำเร็จให้กับ B3W เพราะญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ (เอฟดีไอ) รายใหญ่สุดในภูมิภาค และมีเครือข่ายกว้างขวางทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

กลุ่มจี 7 มีกำหนดจะสรุป B3W ขั้นสุดท้ายในการประชุมเดือนธันวาคมนี้ โดยในส่วนของสหรัฐจะเสนอความช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาชนิดครบเครื่อง ทั้งเครื่องมือทางการเงิน การมอบหุ้น การค้ำประกันเงินกู้ การรับประกันทางการเมือง ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิค

ด้านสื่อกระบอกเสียงของจีนอย่าง “โกลบอลไทมส์” ตอบโต้โดยอ้างคำให้สัมภาษณ์ของหวัง อี้เหว่ย ผู้อำนวยการสถาบันกิจการระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยเหรินหมินของจีนว่า การที่สหรัฐและประเทศตะวันตกย้ำเรื่องมาตรฐานและคุณภาพสูงใน B3W นั้น ความจริงเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ BRI ยืนกรานมาตลอดอยู่แล้ว แต่ประเด็นคือคำว่ามาตรฐานสูงจำเป็นต้องเข้ากันได้กับความเป็นจริงและเงื่อนไขของประเทศกำลังพัฒนา นี่คือข้อได้เปรียบของจีน

หวังชี้ว่า ความสำเร็จของ BRI อยู่ที่การผสมผสานระหว่างมาตรฐานสูงของตะวันตก และเงื่อนไขระดับชาติของจีนในฐานะประเทศกำลังพัฒนาเข้าด้วยกันอย่างสมบูรณ์แบบ ดังนั้นหากปราศจากความร่วมมือจากจีน แผนของสหรัฐก็ไม่น่าจะประสบความสำเร็จ