เศรษฐกิจดิจิทัล “อาเซียน” บูม “ยูนิคอร์น” ใหม่แจ้งเกิด 11 ราย

การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นปัจจัยที่ผลักดันให้ผู้คนหันมาใช้บริการออนไลน์มากขึ้น และกลายเป็นโอกาสทองของบริษัทเทคโนโลยีที่สามารถเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะเศรษฐกิจดิจิทัลของ “อาเซียน” ที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วและมีแนวโน้มที่สดใสจับตานักลงทุนทั่วโลกในเวลานี้

นิกเคอิ เอเชีย รายงานว่า เศรษฐกิจดิจิทัลของกลุ่มประเทศ “อาเซียน” ได้รับปัจจัยบวกจากจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงสถานการณ์โรคระบาดรุนแรง รวมถึงบริษัทสตาร์ตอัพเทคโนโลยีที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคนี้คาดว่าจะมีมูลค่าถึง 3.63 แสนล้านดอลลาร์ภายในปี 2025 และมีโอกาสแตะระดับ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2030

การคาดการณ์ดังกล่าวมาจากรายงานประจำปี e-Conomy SEA Report 2021 ซึ่งเปิดเผยเมื่อวันที่ 10 พ.ย.ที่ผ่านมา จัดทำโดยบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่าง “กูเกิล” ร่วมกับกองทุน “เทมาเส็ก” ของสิงคโปร์ และบริษัทที่ปรึกษาธุรกิจ “เบนแอนด์โค” โดยทำการสำรวจวิเคราะห์ครอบคลุมประเทศเศรษฐกิจในอาเซียน 6 ประเทศ ได้แก่ เวียดนาม ไทย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย

ผลสำรวจพบว่า อาเซียนมีจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตรายใหม่เพิ่มขึ้นถึง 40 ล้านคนในปีนี้ ส่งผลให้ยอดรวมของผู้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตในอาเซียนอยู่ที่ราว 350 ล้านคนในปัจจุบัน คิดเป็น 75% ของประชากรทั้งภูมิภาค และในจำนวนดังกล่าวราว 8 ใน 10 รายเคยสั่งซื้อของออนไลน์อย่างน้อย 1 ครั้ง

“สเตฟานี เดวิส” รองประธานกูเกิลประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระบุว่า ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมืองใหญ่ในภูมิภาคเป็นพื้นที่ที่มีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและการบริโภคออนไลน์สูงที่สุด แต่เห็นสัญญาณความเปลี่ยนแปลงที่อย่างชัดเจนในเวลานี้

Advertisment

“จำนวนผู้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตในพื้นที่นอกเมืองมีมากขึ้นเรื่อย ๆ และกลายมาเป็นผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ในปี 2020 และขยายตัวมากขึ้นในปีนี้ โดยเราจะเริ่มมองไม่เห็นความแตกต่างระหว่างผู้บริโภคในเมืองและในชนบท” เดวิสกล่าว
สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้มูลค่าของเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียนในปีนี้อยู่ที่ 1.74 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 49% จาก 1.17 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2020

ไม่เพียงจำนวนผู้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่ขยายตัวเท่านั้น แต่สตาร์ตอัพด้านเทคโนโลยีที่เพิ่มมากขึ้นในภูมิภาคก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้มูลค่าของเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียนเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะสตาร์ตอัพที่กลายเป็น “ยูนิคอร์น” ด้วยมูลค่าบริษัทสูงกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่ปีนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 11 ราย ส่งผลให้ปัจจุบันอาเซียนมียูนิคอร์นรวมเป็น 23 ราย

ยูนิคอร์นหน้าใหม่ที่เกิดขึ้น อาทิ คาร์โร (Carro) แพลตฟอร์มขายรถมือสอง, นินจา แวน (Ninja Van) ผู้ให้บริการขนส่งพัสดุ ซึ่งทั้งสองรายเป็นสตาร์ตอัพของสิงคโปร์

ขณะที่บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่าง “แกร็บ” (Grab) และ “โกทู” (GoTo) ยังคงเป็นที่จับตาของนักลงทุนทั่วโลก รวมถึง “ซีกรุ๊ป” (Sea Group) ยักษ์เทคโนโลยีของสิงคโปร์ที่กลายเป็นบริษัทมาแรง ด้วยมูลค่าตลาด (market cap) ถึง 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการเป็นเจ้าของแพลตฟอร์มยอดนิยม ไม่ว่าจะเป็นเกมออนไลน์อย่าง “การีน่า” (Garena) และช็อปปิ้งออนไลน์อย่าง “ช้อปปี้” (Shopee)

Advertisment

รายงานยังชี้ให้เห็นว่า กระแสเงินทุนของนักลงทุนทั่วโลกในสตาร์ตอัพเทคโนโลยีของอาเซียนพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ โดยมูลค่าข้อตกลงทางธุรกิจในบริษัทเทคโนโลยีอาเซียนช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ อยู่ที่ 11,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นราว 65% จากช่วงเดียวกันของปี 2020 และเกือบเท่ากับมูลค่ารวมของข้อตกลงตลอดทั้งปี 2020 ที่ 11,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งหมดนี้ นับเป็นสัญญาณการขยายตัวอย่างก้าวกระโดดของมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลในอาเซียนในทศวรรษต่อไป