“2018” ปีทองแห่งการลงทุน “โรดริโก ดูเตอร์เต” แห่งฟิลิปปินส์ ผ่อนคลายกฎดึง FDI

นโยบายกวาดล้างผู้มีอิทธิพลและยาเสพติดแบบตาต่อตาฟันต่อฟันของประธานาธิบดี “โรดริโก ดูเตอร์เต” แห่งฟิลิปปินส์ สร้างความกังวลใจต่อนักลงทุนไม่น้อย ล่าสุด นักวิเคราะห์ย้ำว่า ปี 2017-2018 เศรษฐกิจฟิลิปปินส์ยังอยู่ในจุดสปอตไลต์ ต่อเนื่องจากปีก่อนที่การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของฟิลิปปินส์สูงที่สุด เมื่อเทียบกับสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ

ไฟแนนเชียล ไทมส์ รายงานว่า จากที่ดูเตอร์เตเข้ารับตำแหน่งประธานานาธิบดีคนที่ 16 เมื่อ มิ.ย.
ปีที่แล้ว และการที่ “ฟิลิปปินส์” เป็นเจ้าภาพการประชุมอาเซียนซัมมิต ที่เพิ่งผ่านมา ทำให้นักลงทุนคาดหมายจะเห็นการเปลี่ยนแปลงของฟิลิปปินส์ในเชิงรุกมากขึ้น

นอกจากนี้ยังมีนโยบายเด่นสุดจากประธานาธิบดีดูเตอร์เต ที่เรียกว่า “ดูเตอร์เตโนมิกส์” ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่ตั้งเป้าจะเปลี่ยนฟิลิปปินส์ใน 10 ประการ ภายใต้การบริหารประเทศตลอด 6 ปี หนึ่งในนั้นคือ การลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ด้านโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐบาลเคาะงบประมาณอยู่ที่ 180,000 ล้านดอลลาร์ ภายใต้ชื่อโครงการ “Build Build Build”

ปัจจุบันรัฐบาลอนุมัติแผนการก่อสร้างแล้วทั้งหมด 35 โครงการ รวมตั้งแต่ยกเครื่องระบบราง ปฏิรูปสนามบินและเพิ่มการก่อสร้างใหม่เพื่อดึงดูดการท่องเที่ยว ปรับปรุงถนนหลายสายทั่วประเทศ โดยล่าสุดเพิ่งประกาศแผนก่อสร้าง 5 ปี ในระบบขนส่งทางรางระยะทาง 600 กิโลเมตร จากย่านทูทูบันในใจกลางกรุงมะนิลา ไปยังจังหวัดซอร์โซกอนในเขตไบคอล ทางตะวันออกของประเทศ คาดว่าจะใช้เงินลงทุน 250-300 ล้านดอลลาร์

ขณะที่ล่าสุดประธานาธิบดีมีคำสั่งให้สำนักงานเศรษฐกิจและการพัฒนาแห่งชาติฟิลิปปินส์ (NEDA) ผ่อนคลายข้อบังคับ หรือยกเลิกกฎระเบียบในบางข้อที่เกี่ยวกับการลงทุนจากต่างชาติ หลัก ๆ 8 เรื่อง เช่น ยกเลิกข้อห้ามลงทุนใน “ธุรกิจค้าปลีก” ซึ่งเป็นหนึ่งใน 11 อุตสาหกรรมต้องห้ามของฟิลิปปินส์, ผ่อนคลายกฎการจ้างงานของบริษัทต่างประเทศให้มีสัดส่วนสูงขึ้น, เพิ่มแนวปฏิบัติที่ชัดเจนสำหรับการลงทุนจากต่างชาติที่อาจส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของประเทศ, ผ่อนคลายสัญญาการก่อสร้างโครงการของภาครัฐ รวมถึงพิจารณาเพิ่มสัดส่วนถือหุ้นในบางอุตสาหกรรมจาก 49% เป็น 60%

นักวิเคราะห์กล่าวว่า “ผลพวงจากแผนพัฒนาที่เป็นรูปธรรมจากรัฐบาลทำให้บรรดานักลงทุนเชื่อมั่น บวกกับการเป็นเจ้าภาพในเวทีอาเซียนซัมมิต เป็นการการันตีว่าฟิลิปปินส์จะเป็นหัวหอกในการเพิ่มการค้าการลงทุนในอาเซียนมากขึ้น”

เว็บไซต์ ออกซ์ฟอร์ด บิสซิเนส กรุ๊ป กล่าวถึงรายงาน “ASEAN Investment Report” ฉบับล่าสุดของหอการค้าอเมริกัน (AmCham Philippines) ในฟิลิปปินส์ระบุว่า ปีที่ผ่านมาฟิลิปปินส์เป็นดาวเด่นในการดึงดูดเอฟดีไอ ที่มีอัตราขยายตัวสูงที่สุดในอาเซียน และคาดว่าปี 2017 และ 2018 จะยังเป็นดาวเด่นเช่นเคย ขณะเดียวกันการกวาดล้างและปราบปรามยาเสพติดก็ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงเบอร์ต้น ๆ ที่บ่อนทำลายความเชื่อมั่นของนักธุรกิจอเมริกัน

ในระหว่างปี 2015-2016 เอฟดีไอของฟิลิปปินส์เพิ่มขึ้นถึง 40% เป็น 7.9 พันล้านดอลลาร์ ถือว่าเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งใหญ่ที่สุด อีกทั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี ตั้งแต่ปี 2015-2016 เป็นอัตราเติบโตเฉลี่ยที่น่าสนใจราว 6.5% และคาดว่าปีนี้ จีดีพีจะโตที่ 6.9-7%

นอกจากนี้ ฟิลิปปินส์ยังกลายเป็นเป้าหมายในการลงทุนอันดับ 4 ในอาเซียนของปี 2016 ปรับขึ้นจากอันดับที่ 6 ขณะที่ชาติที่เคยโดดเด่นอย่าง เวียดนาม อินโดนีเซีย ไทย และสิงคโปร์ ปีที่ผ่านมายังมีการเข้ามาลงทุนของบริษัทข้ามชาติต่อเนื่อง เพียงแต่การเติบโตไม่ได้ก้าวกระโดดเหมือนฟิลิปปินส์ ที่เพิ่มขึ้นสูงถึง 40% ขณะที่ประเทศอื่นเฉลี่ยเพิ่มขึ้นราว ๆ 20%

นักวิเคราะห์จาก AmCham ระบุว่า กฎระเบียบด้านการลงทุนที่เปลี่ยนแปลงจะเป็นปัจจัยผลักให้เกิดการลงทุนจากต่างชาติมากขึ้น โดยเฉพาะ “ค้าปลีก” ที่นักลงทุนจำนวนมากให้ความสนใจมานาน ทั้งจากจีนและเกาหลีใต้ ขณะที่นักลงทุนจากสหรัฐก็สนใจมาลงทุนในหลายอุตสาหกรรม

แม้ว่าจะยกให้ฟิลิปปินส์เป็นจุดหมายการลงทุนที่น่าสนใจ อย่างไรก็ตาม รายงานของหอการค้าอเมริกันฟิลิปปินส์ ยังคงแสดงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ความรุนแรงในกระบวนการปราบปรามยาเสพติด รวมถึงสงครามในเกาะมินดาเนา ที่พร้อมปะทุทุกเมื่อ

โดยจากการสำรวจนักลงทุนอเมริกันที่สนใจเข้ามาลงทุนในฟิลิปปินส์พบว่า 70% ของผู้ตอบแบบสอบถาม
กำลังวางแผนขยายธุรกิจในปี 2018 แต่ลดลงเล็กน้อยจาก 74% ของปีก่อนหน้า โดยเหตุผลหลักคือไม่มั่นใจในสถานการณ์ที่ยังไม่แน่นอน แต่สัดส่วนที่สนใจมาลงทุนถือว่าอยู่ในระดับสูง พอ ๆ กับเวียดนาม และสิงคโปร์

ทั้งนี้ “เอ็บบ์ ฮินช์ลิฟฟ์” กรรมการบริหารของหอการค้าอเมริกันฟิลิปปินส์ แนะนำว่า “หากนักลงทุนอเมริกันจะชะลอการลงทุนในฟิลิปปินส์ เพียงเพราะสถานการณ์ไม่แน่นอน ถือเป็นเรื่องที่ผิดพลาดมาก ผมเชื่อว่า
ในทุกประเทศตลาดเกิดใหม่ต่างมีปัญหาและอยู่ในขั้นตอนการปฏิรูปประเทศเพื่อก้าวสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ดังนั้นเราควรโฟกัสที่สิ่งที่ดึงดูดการลงทุน ทั้งนโยบายที่เอื้อการลงทุนจากรัฐบาลใหม่ รวมถึงอัตราการเติบโตของชนชั้นกลางที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ และที่สำคัญ ต้องศึกษาปัญหาและฉลาดในการลงทุน”