สหรัฐห้ามพลเมืองเข้า”เยรูซาเลม-เวสต์แบงก์”หวั่นประท้วงรุนเเรง จับตา”ทรัมป์”เเถลงครั้งสำคัญ

AFP PHOTO / Musa AL SHAER

ทางการสหรัฐ ประกาศเตือนพลเมืองห้ามเข้าสู่เขตเมืองเก่าของเยรูซาเลมและเขตเวสต์แบงก์ ก่อนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เตรียมเเถลงครั้งสำคัญต่อกรณีรับรองสถานะของ “เยรูซาเลม” เเละการย้ายเอกอัครราชทูตของสหรัฐ

เอเอฟพี รายงานว่า กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ออกแถลงการณ์ ห้ามเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลและสมาชิกในครอบครัว ตลอดจนนักท่องเที่ยวชาวอเมริกันเดินทางเข้าสู่พื้นที่เขตเมืองเก่าทางตะวันอออกของเยรูซาเลม และพื้นที่ทั้งหมดของเขตเวสต์แบงก์ ยกเว้นในกรณีจำเป็น ที่จะมีการเพิ่มมาตรการคุ้มกันและรักษาความปลอดภัยให้เป็นกรณีพิเศษ

ด้านผู้นำสหรัฐมีกำหนดแถลงครั้งสำคัญ เกี่ยวกับเกี่ยวกับ “สถานะ” ของเมืองซึ่งเป็นพื้นที่พิพาทระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ จากทำเนียบขาวในวันนี้ เวลา 13.00 น. (1.00 น. ของวันพฤหัสบดีที่ 7 ธ.ค. ตามเวลาในไทย)

ความเคลื่อนไหวดังกล่าว ก่อให้เกิดกระแสคัดค้านจากฝั่งปาเลสไตน์ และชาติมุสลิม รวมถึงเจ้าหน้าที่ต่างประเทศของสหรัฐเองที่กังวลว่าจะยิ่งทำให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้น

โดยรัฐบาลอิสราเอล สงวนท่าทีต่อสถานการณ์นี้ ขณะที่ประธานาธิบดีมาห์มูด อับบาส ผู้นำปาเลสไตน์ ประกาศว่าการเจรจาสันติภาพกับอิสราเอลจะต้อง “ยุติ” หากมีการย้ายสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐจากกรุงเทลอาวีฟไปยังกรุงเยรูซาเลม

ทั้งนี้ สถานะของ “เยรูซาเลม” อันเป็นที่ตั้งศาสนสถานศักดิ์สิทธิ์ของ 3 ศาสนาแห่งนี้ถือเป็นประเด็นใหญ่ในความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์มานานหลายทศวรรษ ซึ่งต่างต้องการได้นครแห่งนี้เป็นเมืองหลวงของชนชาติตน

ก่อนหน้านี้ ผู้นำหลายประเทศ อย่างซาอุดีอาระเบีย อียิปต์ จอร์แดน สหภาพยุโรป ฝรั่งเศส เยอรมนี และตุรกี เเสดงความกังวลต่อการตัดสินใจของโดนัลด์ ทรัมป์ เเละหวั่นว่าจะกระทบต่อสันติภาพเเละความมั่นคงของภูมิภาคตะวันออกกลาง

ขณะที่รัฐบาลสหรัฐฯ ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่อเมริกันเเละพลเมือง หลีกเลี่ยงเขตเมืองเก่าเยรูซาเลมและเวสต์แบงก์ ด้วยคาดว่าจะเกิดการประท้วงต่อต้านอย่างรุนแรง

สำหรับกระเเสการย้ายสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐ จากกรุงเทลอาวีฟไปประจำที่กรุงเยรูซาเลมแทน เท่ากับว่าสหรัฐจะเป็นประเทศแรกในโลกที่ยอมรับกรุงเยรูซาเลม ในฐานะ “เมืองหลวงอย่างเป็นทางการ” ของอิสราเอล นับตั้งแต่การสถาปนารัฐอิสราเอล เมื่อปี 2491

ก่อนหน้านี้ ในสมัยของอดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน , อดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช และอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา ต่างใช้สิทธิ์ลงนามชะลอการบังคับใช้กฎหมายนี้มาตลอด เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบกับการเจรจาสันติภาพอันเปราะบางระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์

อย่างไรก็ตาม บางส่วนเชื่อว่า ทรัมป์จะยังคงลงนามชะลอการบังคับใช้กฎหมายฉบับปี 2535 ว่าด้วยการยอมรับสถานะของกรุงเยรูซาเลมและการย้ายสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐออกไปอีกอย่างน้อย 6 เดือน ซึ่งต้องรอฟังการเเถลงครั้งสำคัญของผู้นำสหรัฐในครั้งนี้