บิ๊กเทคเปิดประตู “เมตาเวิร์ส” ทุ่มงบฯยึดธุรกิจในโลกเสมือน

รูปล้อมกรอบ

ย้อนไปเมื่อปี 2009 มีภาพยนตร์ดังที่สร้างกระแสไปทั่วโลกอย่าง Avatar เรี่องราวของทหารที่เป็นอัมพาต รับภารกิจพิเศษใช้เทคโนโลยีพันธุกรรมกลายร่างเป็นอวตาร แฝงตัวสอดแนมชนเผ่าต่างดาว และปีเดียวกันมีหนังอีกเรื่องชื่อ Surrogates นำแสดงโดย บรูซ วิลลิส ซึ่งพูดถึงชีวิตในโลกอนาคตที่ผู้คน อยู่ในแคปซูลที่สั่งการผ่านโลกเสมือนจริงให้หุ่นยนต์ออกไปใช้ชีวิตแทน

ปี 2018 กับเรื่อง Ready Player One ที่บอกเล่าเรื่องราวของผู้คนในอนาคตที่หันไปหาโลกเสมือนจริง ผ่านแว่นตา VR/AR ที่ช่วยให้หนีความจริง สามารถทำทุกอย่างที่ปรารถนาบนโลกเสมือนจริง เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนแนวคิด “เมตาเวิร์ส” หรือ “จักรวาลนฤมิต” ที่บรรดานักวิเคราะห์มองว่าปี 2022 จะเป็นก้าวสำคัญที่เปิดประตูสู่เมตาเวิร์ส จากการที่บรรดาบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ เปิดตัวแผนพัฒนาหรือผลิตภัณฑ์ทั้งซอฟต์แวร์ และฮาร์ดแวร์ที่เกี่ยวข้องกับเมตาเวิร์ส ผ่านการใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า VR และ AR

AR (augmented reality) คือ การนำเทคโนโลยีมาผสานระหว่างโลกแห่งความเป็นจริง ผ่านการใช้ซอฟต์แวร์ และอุปกรณ์เชื่อมต่อต่าง ๆ เข้าด้วยกัน โดยวัตถุเสมือนที่ว่านั้น อาจจะเป็นภาพ, วิดีโอ, เสียง, ที่แสดงผลผ่านหน้าจออุปกรณ์ ทำให้เราสามารถตอบสนองกับสิ่งที่จำลองนั้นได้

ส่วน VR (virtual reality) คือ การจำลองภาพเสมือนจริง แบบ 360 องศา ซึ่งเทคโนโลยีนี้จะต้องใช้งานควบคู่กับอุปกรณ์สำคัญ คือ แว่นตา VR ผ่านการรับรู้ประสาทสัมผัสของมนุษย์ทั้งการมองเห็น สัมผัส หรือแม้กระทั่งกลิ่น ทำให้เราสามารถตอบสนองกับสิ่งที่จำลองนั้นได้

ข้อมูลจาก Crunchbase ระบุว่า ช่วงปี 2021 มีการลงทุนในสตาร์ตอัพเกี่ยวกับเมตาเวิร์สสูงกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ ตัวเลขนี้ยังไม่นับรวมเม็ดเงินลงทุนจากบิ๊กเทคอย่าง “เฟซบุ๊ก” หรือที่เพิ่งเปลี่ยนชื่อเป็นเมตา (Meta) ซึ่งลงทุนในเทคโนโลยี VR/AR ด้วยเม็ดเงินมหาศาล โดยรายงานของบริษัทระบุว่า การลงทุนใน Facebook Reality Labs กระทบกำไรของบริษัทเกือบ 1 หมื่นล้านดอลลาร์ แค่ทุนวิจัยของเมตาเพียงบริษัทเดียว เกือบเท่ากับมูลค่าการลงทุนในสตาร์ตอัพเมตาเวิร์สของทั้งตลาด

อีกสิ่งที่แสดงถึงความร้อนแรงของเมตาเวิร์สบนแพลตฟอร์มเฟซบุ๊ก คือ ยอดดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น Oculus Virtual Reality บนแอปสโตร์ ซึ่งเป็นแอปที่ใช้งานคู่กับ Oculus Quest 2 แว่นวีอาร์ของเฟซบุ๊กสำหรับใช้งานท่องโลกเสมือนจริง แม้เฟซบุ๊กไม่ได้เปิดเผยตัวเลขยอดขายแว่นวีอาร์รุ่นดังกล่าว แต่ข้อมูลจาก Qualcomm ผู้ผลิตชิปสำคัญของ Quest ระบุว่า พฤศจิกายน 2021 เพียงเดือนเดียวควอลคอมม์จัดส่งชิปให้มากพอที่ผลิตแว่นวีอาร์ Quest ได้ราว 10 ล้านเครื่อง

สำหรับ “แอปเปิล” แม้มีกระแสข่าวมาตลอดว่าเตรียมเปิดตัวฮาร์ดแวร์ที่รองรับ AR/VR แต่บริษัทก็ยังไม่ได้มีการพูดถึงอย่างเป็นทางการ มีเพียงการเปิดเผยแผนพัฒนาชุดเครื่องมือที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี AR อย่าง “ARkit” ซึ่งเป็นชุดเครื่องมือสำหรับสร้างแพลตฟอร์ม “ความเป็นจริงแต่งเติม” ซึ่งจะออกมาเพื่อรองรับกับสินค้ารุ่นใหม่ของแอปเปิลในอนาคต

หากสังเกตจากคำกล่าวของ “ทิม คุก” ซีอีโอแอปเปิล ระบุว่า แผนรุกเมตาเวิร์สของแอปเปิลอาจมาในรูปแบบซอฟต์แวร์ที่สนับสนุนการทำงานของไอโฟน หรือไอแพด ตลอดจนการเปิดตัวบริการรูปแบบต่าง ๆ บนโลกเสมือนจริงเมตาเวิร์ส

ขณะที่ “กูเกิล” ผู้บุกเบิกเทคโนโลยีแว่น AR จากการเปิดตัว Google Glass เมื่อปี 2013 แม้ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก แต่กูเกิลก็มีแผนรุกอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ที่เกี่ยวข้องกับ AR เนื่องจากกูเกิลในฐานะเจ้าของของระบบปฏิบัติการ Android ซอฟต์แวร์สมาร์ทโฟนที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก

มีแนวโน้มสูงที่ชุดหูฟังและอุปกรณ์โลกเมตาเวิร์ส จะเข้ามาแทนที่สมาร์ทโฟนด้วยระบบปฏิบัติการแบบใหม่ โดยในปี 2020 กูเกิลได้เข้าซื้อ North บริษัทสตาร์ตอัพ
ที่วิจัยและพัฒนาแว่น AR รวมทั้งทีมพัฒนาของกูเกิลที่กำลังมุ่งไปที่ระบบปฏิบัติการสำหรับโลกเสมือน

“ซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์” ยักษ์เทคของเกาหลีใต้ เป็นอีกค่ายที่รุกธุรกิจเมตาเวิร์ส ด้วยการเข้าลงทุนใน “Ready Player Me” แพลตฟอร์มที่ใช้สร้างตัวละครอวตาร 3 มิติในโลกเสมือนจริง หรือตัวละครที่ผู้ใช้งานจะสามารถนำมาใช้เป็นตัวแทนในการไปท่องเที่ยวในโลกเมตาเวิร์สได้

ขณะที่ “ไป่ตู้” (Beidu) เสิร์ชเอนจิ้นยักษ์ใหญ่ของจีน เปิดตัวแพลตฟอร์มเมตาเวิร์ส XiRang เป็นครั้งแรกในงานสัมมนาที่เซี่ยงไฮ้ แม้จะอยู่ในระหว่างการพัฒนาซึ่งคาดว่าจะพร้อมใช้งานเต็มรูปแบบในอีก 6 ปี แต่ XiRang ถือเป็นโลกเมตาเวิร์สฝั่งจีนที่น่าจับตาและส่อเค้ามาแรงไม่แพ้เมตาเวิร์สของ “เฟซบุ๊ก” หรือ “กูเกิล”