หวั่น! ประเทศร่ำรวยดูดพยาบาลจากประเทศยากจน ช่วงโอมิครอนระบาด

หวั่นประเทศร่ำรวยดูดพยาบาลจากประเทศยากจน
REUTERS/Carlos Osori

สภาพยาบาลระหว่างประเทศเผย ประเทศร่ำรวยจ้างพยาบาลจากต่างประเทศมากขึ้นช่วงโอมิครอนระบาด หวั่นประเทศยากจนขาดแคลนบุคลากร

วันที่ 24 มกราคม 2565 รอยเตอร์สรายงานว่า สภาพยาบาลระหว่างประเทศ (ICN) เผยว่า การระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งทำให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ประเทศร่ำรวยหลายประเทศเปิดรับสมัครพยาบาลจากประเทศยากจนมากขึ้น ทำให้ประเทศยากจนประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากร

“โฮเวิร์ด แคตตัน” ซีอีโอ ICN ซึ่งเป็นตัวแทนของพยาบาล 27 ล้านคน และหน่วยงานระดับชาติ 130 แห่งกล่าวว่า ความเจ็บป่วย ความเหนื่อยหน่าย และการลาออกของบุคลากร ท่ามกลางจำนวนผู้ติดเชื้อโอมิครอนที่เพิ่มขึ้น ทำให้อัตราการหยุดงานสูงขึ้นในระดับที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในช่วงการระบาดใหญ่ 2 ปีมานี้

เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ ชาติตะวันตกหลายประเทศแก้ปัญหาด้วยการจ้างบุคลากรจากกองทัพ ตลอดจนอาสาสมัคร และผู้เกษียณอายุ นอกจากนี้ยังมีหลายประเทศที่เพิ่มการรับสมัครพยาบาลจากต่างประเทศ ซึ่งอาจทำให้สถานการณ์ความไม่เสมอภาคด้านสุขภาพ ย่ำแย่ลง

“เราได้เห็นการรับสมัครงานจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นทั้งในอังกฤษ เยอรมนี แคนาดา และสหรัฐอเมริกา” แคตตันให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ส

“ผมกลัวจริง ๆ ว่าวิธีแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วนนี้ จะซ้ำรอยกับตอนชุดอุปกรณ์ป้องกันพีพีอี (PPE) และวัคซีน ซึ่งประเทศร่ำรวยต่างใช้ความได้เปรียบทางเศรษฐกิจในการซื้อและกักตุน หากประเทศร่ำรวยทำอย่างนั้นอีกกับกรณีของพยาบาล จะทำให้สถานการณ์ความไม่เสมอภาคด้านสุขภาพย่ำแย่ลงไปอีก”

ข้อมูลจาก ICN ระบุว่า ในช่วงก่อนเกิดการระบาดใหญ่ ทั่วโลกประสบปัญหาขาดแคลนพยาบาลอยู่แล้ว 6 ล้านคน โดยเกือบ 90% เป็นปัญหาในประเทศที่มีรายได้ต่ำ รวมถึงประเทศรายได้ปานกลางค่อนไปทางต่ำ

แคตตันกล่าวว่า ประเทศร่ำรวยบางประเทศเปิดรับสมัครพยาบาลจากแอฟริกาทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาร่า เช่น ไนจีเรีย และบางส่วนของแคริบเบียน โพยาบาลเหล่านี้มักได้รับแรงจูงใจจากเงินเดือนและเงื่อนไขที่ดีกว่าในประเทศของตัวเอง

รายงานของ ICN ระบุด้วยว่า กระบวนการรับสมัครพยาบาลจากต่างประเทศได้รับการอำนวยความสะดวกด้วยการให้สถานะการย้ายถิ่นฐานกับพยาบาล

“สิ่งสำคัญที่สุดคือบางคนมองว่า ประเทศร่ำรวยเหล่านี้กำลังลดค่าใช้จ่ายในด้านการให้การศึกษาแก่พยาบาลและบุคลากรสาธารณสุขใหม่” เขากล่าว

แคตตัน กล่าวว่า แม้แต่ประเทศที่ร่ำรวยเองยังต้องต่อสู้เพื่อรับมือกับปัญหา ที่จะเกิดขึ้นเมื่อการระบาดใหญ่สิ้นสุดลง เขาเตือนโดยเรียกร้องให้เพิ่มการลงทุนในแผน 10 ปี เพื่อผลิตแรงงาน

“เราต้องการความร่วมมือระดับโลก ที่มีการประสานงาน ร่วมมือกัน โดยได้รับการสนับสนุนด้านทุนอย่างจริงจัง ไม่ใช่เพียงคำพูดเพื่อสร้างความสบายใจ หรือการพูดซ้ำซาก และการพูดเพื่อเรียกเสียงปรบมือ” เขากล่าว