ส่องแผน ‘แซงก์ชั่น’ รัสเซีย สหรัฐ-พันธมิตรมีอะไรในกระเป๋า

คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ

ประธานาธิบดี “โจ ไบเดน” ของสหรัฐ ประกาศแซงก์ชั่นรัสเซียแล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากรัสเซียให้การรับรองเอกราชของ 2 แคว้นในยูเครนที่ฝักใฝ่รัสเซีย พร้อมกับส่งทหารเข้าไปประจำการใน 2 แคว้นดังกล่าว

รวมทั้งรัฐสภารัสเซียได้อนุมัติให้อำนาจประธานาธิบดี “วลาดิเมียร์ ปูติน” สั่งใช้กำลังทหารปฏิบัติการนอกประเทศได้ ซึ่งผู้นำสหรัฐตีความว่า นั่นคือการเริ่มต้นรุกรานยูเครน

มาตรการแซงก์ชั่นที่ประกาศออกมา ประกอบด้วยการแบนธนาคารทหารของรัสเซีย 2 แห่ง คือ VEB และ PSB โดยสั่งห้ามสถาบันการเงินอเมริกันทำธุรกรรมกับธนาคารดังกล่าว

ซึ่งจะมีผลให้ธนาคาร 2 แห่งไม่สามารถทำธุรกรรมที่เกี่ยวกับเงินดอลลาร์สหรัฐได้ นอกจากนี้ก็จะแซงก์ชั่นตราสารหนี้หรือพันธบัตรที่ออกโดยรัฐบาลรัสเซียด้วย ซึ่งหมายถึงการตัดมือตัดเท้ารัสเซีย ไม่ให้กู้ยืมเงินหรือระดมเงินจากตลาดสหรัฐและยุโรปได้

พร้อมกันนี้ยังแบล็กลิสต์บุคคลบางกลุ่มด้วย โดยระลอกแรกนี้มี 3 คน ซึ่ง 2 ใน 3 เป็นลูกชายของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลรัสเซียและเป็นคนใกล้ชิดปูติน

รายงานของบีบีซีก่อนหน้านี้ได้รวบรวมมาตรการแซงก์ชั่นที่ฝ่ายสหรัฐและยุโรปอาจนำมาใช้ รวมทั้งผลกระทบของมัน ซึ่งประกอบด้วย

การจำกัดทางการเงิน

หนึ่งในมาตรการที่ถูกนำมาพิจารณาก็คือ เตะรัสเซียออกจากระบบชำระเงินที่เรียกว่า Swift ซึ่งเป็นมาตรฐานขององค์การระหว่างประเทศเกี่ยวกับรหัสที่ใช้สำหรับระบุธนาคาร และสาขาของธนาคารทั่วโลก

เพื่อใช้โอนเงินระหว่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันมี 200 กว่าประเทศและดินแดนใช้ระบบนี้อยู่ หากถูกแบนก็หมายถึงว่าบรรดาธนาคารรัสเซียจะไม่สามารถทำธุรกิจต่างประเทศได้เลย

แต่มาตรการนี้ก็อาจสร้างต้นทุนทางเศรษฐกิจให้กับสหรัฐและเยอรมนีที่มีธนาคารติดต่อใกล้ชิดกับสถาบันการเงินรัสเซีย ซึ่งคนในทำเนียบขาวระบุว่า ไม่น่าจะมีการใช้ Swift เล่นงานรัสเซียในการแซงก์ชั่นรอบแรก

ดอลลาร์เคลียริ่ง

เป็นการแบนไม่ให้รัสเซียทำธุรกรรมเงินดอลลาร์สหรัฐ วิธีนี้จะทำให้รัสเซียถูกจำกัดการซื้อและขายสินค้าทั่วโลกมากขึ้นไปอีก อันจะส่งผลกระทบใหญ่ต่อเศรษฐกิจรัสเซีย เนื่องจากสินค้าสำคัญของรัสเซียคือก๊าซและน้ำมันถูกกำหนดราคาเป็นดอลลาร์สหรัฐ

การเล่นงานพันธบัตรรัฐบาล

ที่ผ่านมาบริษัทและธนาคารตะวันตกถูกจำกัดการซื้อพันธบัตรรัฐบาลรัสเซียอยู่แล้ว หากเพิ่มการแซงก์ชั่นเข้าไปอีกก็จะหนักสำหรับรัสเซีย เพราะหมายถึงไม่สามารถเข้าถึงตลาดหนี้ระหว่างประเทศได้ ทำให้รัสเซียขาดแคลนเงินที่จะไปสนับสนุนเศรษฐกิจ ต้นทุนการกู้ยืมเงินจะสูงขึ้น และค่าเงินรูเบิลอาจร่วงลง

การบล็อกธนาคาร

อเมริกาอาจแบล็กลิสต์ธนาคารบางแห่งของรัสเซีย อันจะทำให้โลกภายนอกแทบจะไม่สามารถทำธุรกรรมกับรัสเซียได้ ซึ่งจะทำให้รัฐบาลรัสเซียต้องออกมาอุ้มบรรดาธนาคารและทำทุกอย่างเพื่อป้องกันเงินเฟ้อพุ่งสูงและรายได้ต่ำลง ซึ่งวิธีนี้จะมีผลกระทบใหญ่ต่อนักลงทุนตะวันตกที่ฝากเงินในธนาคารรัสเซีย

คุมการส่งออกไปรัสเซีย

ฝ่ายตะวันตกอาจควบคุมการส่งออกสินค้าสำคัญไปยังรัสเซีย อย่างเช่น อาจห้ามบริษัทต่าง ๆ หยุดส่งออกสินค้าทุกอย่างที่ใช้เทคโนโลยีอเมริกัน เช่น เซมิคอนดักเตอร์ ไมโครชิป ที่ใช้สำหรับผลิตรถยนต์ไปจนถึงสมาร์ทโฟน เครื่องจักรและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภค

จำกัดการขายพลังงาน

รายได้จากการขายก๊าซและน้ำมันเป็นเส้นเลือดใหญ่ของเศรษฐกิจรัสเซีย ฝ่ายตะวันตกอาจกำหนดให้เป็นเรื่องผิดกฎหมายสำหรับประเทศหรือบริษัทต่าง ๆ ที่ซื้อพลังงานจากรัสเซีย แต่วิธีนี้ก็จะทำให้ราคาก๊าซในยุโรปสูงขึ้น เพราะส่วนใหญ่แล้ว ยุโรปพึ่งพาก๊าซจากรัสเซีย

มาตรการแซงก์ชั่นที่สหรัฐประกาศออกมายังไม่ใช่ระดับเข้มข้นสุด แต่จะเพิ่มความเข้มข้นขึ้นตามพฤติกรรมของรัสเซียที่มีต่อยูเครน

บรรดานักการทูตสหรัฐและยุโรประบุว่า ซีกตะวันตกเองก็ใช่ว่าจะมีเอกภาพที่จะร่วมมือแซงก์ชั่นรัสเซีย โดยเฉพาะประเทศที่มีสัมพันธ์ใกล้ชิดรัสเซีย อย่างเช่น ฮังการี อิตาลี ออสเตรีย อาจไม่เต็มใจจะลงมือแซงก์ชั่น ยกเว้นรัสเซียจะบุกยูเครนเต็มรูปแบบ ขณะเดียวกัน รัสเซียอาจบรรเทาผลกระทบด้วยการหันไปหาจีน และพันธมิตรอื่น ๆ ให้ช่วยเหลือ

ประเด็นสำคัญที่สุดของการแซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจที่ต้องระลึกเสมอก็คือ มันจะทำให้ฝ่ายแซงก์ชั่นมีราคาที่ต้องจ่ายสูงเช่นกัน มันเป็นเรื่องที่ต้องแลกสิ่งหนึ่งกับอีกสิ่งหนึ่ง