กางปฏิทินเลือกตั้ง 5 ประเทศ จับตาสะเทือนตลาดการเมืองเอเชีย

Photo by Jung Yeon-je / AFP

จับตาเลือกตั้งทั่วไปของรัฐบาลชาติเอเชียแปซิฟิก อีกปัจจัยกระทบตลาดนอกเหนือจากวิกฤตโควิดและวิกฤตยูเครน

วันที่ 8 มีนาคม 2565 บลูมเบิร์กรายงานว่า ท่ามกลางสถานการณ์สงครามรัสเซียยูเครนที่นานาชาติลงโทษคว่ำบาตรรัสเซีย รวมถึงผลกระทบจากโควิด-19 ที่ยังคงมีอยู่ รวมถึงปัญหาเงินเฟ้อในสหรัฐที่ส่อเค้ากระทบตลาดทั่วโลกรวมถึงภูมิภาคเอเชีย ปัจจัยการด้านการเมืองก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่อาจมีผลกระทบต่อตลาดการเงินและเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียเช่นกัน จากการที่ใน 2565 นี้ จะมีหลายประเทศที่ในภูมิภาคเอเชียกำลังจะมีเลือกตั้งทั่วไป เปลี่ยนรัฐบาล เปลี่ยนผู้นำประเทศคนใหม่

ซึ่งจะนำไปสู่นโยบายทางเศรษฐกิจของแต่ละชาติที่พยายามดิ้นรนฟื้นเศรษฐกิจ ภายใต้แรงกดดันที่ได้รับจากภาวะเงินเฟ้อ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ สถานการณ์สงคราม และภาวะการระบาดที่ยังคงไม่สิ้นสุดลงง่าย ๆ

บลูมเบิร์กรวบรวมปฏิทินเลือกตั้งรวมถึงแนวโน้มในแต่ละประเทศที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกไว้ดังนี้

Photo by HEO RAN / POOL / AFP

9 มีนาคม : เกาหลีใต้

ชาวเกาหลีใต้มีกำหนดลงคะแนนเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ครั้งแรกในรอบ 5 ปี เพื่อเลือกผู้ที่จะมีดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศคนใหม่ต่อจากประธานาธิบดีมุน แจอิน ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้นำเกาหลีใต้มาตั้งแต่พฤษภาคม 2560

นักลงทุนกำลังต่างจับตามอง 2 ตัวเก็งในศึกการเลือกตั้งครั้งนี้ ระหว่างนาย อี แจมยอง (Lee Jae-myung) จากพรรค Democratic Party of Korea ผู้ซึ่งเป็นทายาททางการเมืองของประธานาธิบดีมุน แจอิน กับคู่แข่งจากพรรคฝ่ายค้าน People Power Party นายยุน ซุกยอล (Yoon Suk-yeol) อดีตอัยการสูงสุดของเกาหลีใต้

Photo by Jung Yeon-je / AFP

ในแง่นโยบายเศรษฐกิจ สำหรับ อี แจมยอง ให้คำมั่นในการหาเสียงว่าจะยุติการเก็บภาษีธุรกรรมหลักทรัพย์ ทั้งมีแผนเพิ่มมูลค่ากองทุนบำเหน็จบำนาญของประเทศ ผ่านการเพิ่มเม็ดเงินลงทุน หากนายอี ชนะการเลือกตั้งอาจช่วยเพิ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนของเกาหลีใต้ และหุ้นที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีอวกาศ ส่วนนโยบายของนาย ยุน ซุกยอล ชูนโนบายปรับปรุงระบบการเก็บภาษีกำไรจากการลงทุน

รวมถึงให้คำมั่นในการสร้างสวัสดิการอพาร์ตเมนต์สำหรับผู้มีรายได้น้อย หากอดีตอัยการผู้นี้ชนะเลือกตั้ง อาจเป็นประโยชน์สำหรับหุ้นที่เกี่ยวข้องกับพลังงานนิวเคลียร์ เนื่องจากต้องการปฏิรูปการใช้พลังงานของประเทศ รวมถึงมีแนวโน้มที่เกาหลีใต้จะหันไปใกล้ชิดสหรัฐอเมริกามากขึ้น ซึ่งอาจรวมถึงการขยายระบบป้องกันขีปนาวุธ Thaad ซึ่งนั่นจะส่งผลต่อความสัมพันธ์อันอ่อนไหวของชาติเพื่อนบ้านอย่าง เกาหลีเหนือ และจีน

ฮ่องกง : 8 พฤษภาคม

ฮ่องกงกำลังเผชิญสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่อย่างรุนแรง กำหนดการเลือกตั้งคณะผู้บริหารฮ่องกงที่ถูกเลื่อนมาเป็นวันที่ 8 พฤษภาคมนั้น ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะเป็นไปตามกำหนดการหรือไม่ โดยขณะนี้ยังไม่รายชื่อบุคคลใดที่ประกาศลงชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ เกาะฮ่องกง ประกอบกับอิทธิพลของรัฐบาลจีนปักกิ่งที่แผ่ขยายมายังเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งนี้

นั่นยิ่งทำให้อนาคตของคณะบริหารชุดใหม่ภายใต้ “หนึ่งประเทศ สองระบบ” แบบฮ่องกง ยังคงคลุมเครือ ด้วยนโยบาย Covid Zero และปัญหาเงินเฟ้อจากเศรษฐกิจโลก ไม่เพียงแค่สั่นคลอนต่อระบบการเมืองในฮ่องกงเท่านั้น แต่ยังสั่นคลอนต่อสถานะ “ไฟแนนเชียลฮับ” ของฮ่องกงเช่นกัน

ฟิลิปปินส์ : 9 พฤษภาคม

ฟิลิปปินส์ซึ่งกำลังจะมีการเลือกตั้งผู้นำประเทศต่อจากนายโรดริโก้ ดูเตอร์เต ในบรรดารายชื่อผู้ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี หนึ่งในนั้นมีชื่อของนายเฟอร์ดินาน มาร์กอง จูเนียร์ บุตรชายของอดีตผู้นำเผด็จการเฟอร์ดินาน มาร์กอส ซึ่งถูกโค้นอำนาจเมื่อปี 2529 นอกจากนี้ยังมีอดีตนักชกชื่อก้องโลกอย่าง แมนนี่ ปาเกียว รวมถึงนางเลนี โรเบรโด นักเศรษฐศาสตร์และรองประธานาธิบดีคนปัจจุบัน

นักเคราะห์ตลาดมองว่า ไม่ว่าใครจะขึ้นมาเป็นผู้นำฟิลิปปินส์คนใหม่ ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ยังคงมีแนวโน้มเติบโตอย่างดี ทั้งยังคงเปิดกว้างรับการลงทุนจากต่างชาติ โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน

ออสเตรเลีย : 21 พฤษภาคม

ออสเตรเลียเพิ่งผ่อนคลายนโยบายคุมเข้มโควิด เปิดรับการเดินทางข้ามแดนภายใต้เงื่อนไขวัคซีนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นับเป็นเพียงไม่กี่ชาติในแถบเอเชียแปซิฟิก ที่มีปิดประเทศคุมเข้มโควิดเป็นเวลากว่า 2 ปี นับตั้งแต่พบการระบาด นายกรัฐมนตรีสกอตต์ มอร์ริสัน จากพรรคเสรีนิยม ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกฯ มาตั้งแต่ปี 2561 จะเผชิญหน้าจากผู้ลงสมัครพรรคแรงงาน คือนาย แอนโธนี อัลบานีส

ที่ผ่านมาคะแนนนิยมของนายกมอร์ริสัน ถือว่าทำผลงานได้ไม่ค่อยดีนัก แม้ในการเลือกตั้งคราวนี้จะชูแผนการฟื้นเศรษฐกิจอย่างเข็มแข็งหลังการระบาด รวมถึงแผนปฏิรูปภาษีในอนาคต แต่ก็ไม่อาจจะดึงคะแนนนิยมกลับมาได้ ท่ามกลางความไม่พอใจในการจัดการโรคระบาดของรัฐบาล ขณะที่ผู้ท้าชิงจากพรรคฝ่ายค้านขณะนี้ยังไม่เปิดนโยบายฟื้นเศรษฐกิจอย่างชัดเจน มีเพียงโจมตีต่อความล้มเหลวในแง่ต่าง ๆ ของรัฐบาลมากกว่า

ญี่ปุ่น : มิถุนายน/กรกฎาคม

ญี่ปุ่นซึ่งเพิ่งได้รัฐบาลชุดใหม่ภายใต้นายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ หลังจากที่นายกรัฐมนตรีโยชิฮิเดะ ซูกะ ประกาศลาออก ทำให้รัฐบาลชุดใหม่ต้องเข้ามารับหน้าที่วาระการดำรงตำแหน่งที่เหลือต่อไป ขณะนี้รัฐบาลของคิชิดะกำลังเผชิญการเลือกตั้งในสภาสูง ซึ่งก็ยังไม่ชัดเจนว่าพรรคแอลดีพีของคิชิดะจะสามารถรั้งตำแหน่งเสียงข้างมากในสภาสูงได้หรือไม่

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้คะแนนนิยมของพรรคแอลดีพียังคงอยู่เหนือพรรคคู่แข่งอย่างพรรคเสรีประชาธิปไตย จากการที่นายกคิชิดะ เริ่มดำเนินการปรับนโยบายทางเศรษฐกิจตามวิสัยทัศน์ “ทุนนิยมใหม่” ซึ่งนั่นทำให้บรรดานักลงทุนบางส่วนกังวลถึงผลที่อาจตามมาเช่น การปรับมาตรการเก็บภาษีกำไรจากการลงทุน รวมถึงปรับลดการใช้จ่ายในหน่วยงานภาครัฐบาลส่วน

คิชิดะพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการใช้งบประมาณพิเศษ ที่ได้รับอนุมัติแล้ว 36 ล้านล้านเยน หรือราว 312 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงก่อนการเลือกตั้ง เพื่อหวังชิงคะแนนเสียงจากพรรคคู่แข่ง ขณะที่นักวิเคราะห์ด้านเศรษฐศาสตร์การเงินคาดว่า เศรษฐกิจของญี่ปุ่นยังมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งแบบค่อยเป็นค่อยไป จากการยกเลิกข้อจำกัดด้านไวรัส รวมถึงยังมีปัจจัยเสริมจากการที่รัฐบาลมีแนวโน้มผ่อนคลายมาตรการข้ามแดนในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้